ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
15 สิงหาคม 1947 อินเดียได้รับอิสรภาพจากอังกฤษ
อังกฤษ เข้าไปมีอิทธิพลใน อินเดีย ผ่านบริษัทอินเดียตะวันออก (East India Company) บริษัทการค้าที่เบื้องต้นเดินทางมายังอินเดียเพื่อหาเครื่องเทศเมื่อราวศตวรรษที่ 17 ก่อนค่อยๆ ขยายอิทธิพลทางการทหารและการปกครอง ต่อมาเมื่อเกิดเหตุจลาจลครั้งใหญ่ในปี 1857 กองทัพอังกฤษได้ใช้กำลังปราบปรามก่อนประกาศใช้กฎหมายก่อตั้งรัฐบาลอินเดีย (Government of India Act) ซึ่งเป็นการถ่ายโอนอำนาจการปกครองอินเดียจากบริษัทอินเดียตะวันออกมาที่ราชอาณาจักรในเดือนสิงหาคม 1858
แต่การปกครองอย่างกดขี่ชาวพื้นเมืองของอังกฤษก็ทำให้เกิดการต่อต้านอย่างต่อเนื่องเช่นในปี 1919 หลังเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 1 ที่ทหารอินเดียนับล้านเข้าร่วมสงครามในกองทัพจักรวรรดิอังกฤษ ด้วยหวังว่า พวกเขาจะได้รับการปฏิบัติที่ดีขึ้นหลังสงคราม
อย่างไรก็ดี เหตุการณ์หลังสงครามมิได้เป็นไปดั่งที่ชนพื้นเมืองคาดหวัง อังกฤษยังไม่ยอมให้ชนพื้นเมืองมีบทบาทในการกำหนดชะตากรรมของตนเอง จึงทำให้เกิดการประท้วงขึ้นหลายครั้งหลายคราว
เหตุการณ์ที่ จัลเลียนวาลาบังห์ (Jallianwala Bagh) ลานสาธารณะของเมืองอัมริทสาร์ คือเหตุการณ์ที่เกิดความสูญเสียมากที่สุด เมื่อทหารรัฐบาลบริติชราชกราดยิงใส่ฝูงชนเพื่อสลายการชุมนุมจนทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 400 ราย (บางสถิติอ้างว่ามีผู้เสียชีวิตเกินหนึ่งพันราย)
แม้จะถูกปราบปรามอย่างรุนแรง ผู้นำหลายคนของอินเดียยังพยายามเรียกร้องสิทธิในการกำหนดชะตากรรมของตนเองจากอังกฤษต่างกรรมต่างวาระกันเป็นเวลาต่อเนื่องหลายทศวรรษ จนกระทั่งเข้าสู่จุดสูงสุดในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ในเดือนสิงหาคม 1942 เมื่อมหาตมะ คานธี ออกมาเรียกร้องให้อังกฤษ “ไปให้พ้นจากอินเดีย” เพื่อให้ชาวอินเดียต่อกรกับกองทัพญี่ปุ่นด้วยสันติวิธี แต่บริติชราชตอบโต้ด้วยการจับกุมคานธี และผู้นำรายอื่นๆ ไปขังคุก ก่อนที่ชาวอินเดียกว่า 60,000 คน จะถูกอัดแน่นในคุกของจักรวรรดิอังกฤษในเวลาหลังจากนั้นเพียงไม่กี่เดือน
หลังสงครามโลกจบลง ขบวนการชาตินิยมของอินเดียยิ่งดำเนินกิจกรรมอย่างเข้มข้นยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันก็เกิดความรุนแรงระหว่างชาวฮินดูและมุสลิม ทำให้มีการเรียกร้องให้แบ่งแยกดินแดนของชาวฮินดูและชาวมุสลิมออกจากกัน
ในเดือนมีนาคม 1947 (พ.ศ. 2490) ลอร์ดเมาท์แบตเทน (Lord Mountbatten) เข้ามาดำรงตำแหน่งอุปราช (Viceroy) ของอินเดีย เพื่อเตรียมการถ่ายโอนอำนาจให้กับผู้นำท้องถิ่น จากนั้นในเดือนมิถุนายน รัฐสภาอังกฤษผ่านกฎหมายว่าด้วยอิสรภาพของอินเดีย โดยให้ปากีสถานมีอิสรภาพในวันที่ 14 สิงหาคม ส่วนอินเดียให้มีอิสรภาพในวันที่ 15 สิงหาคม ปีเดียวกัน
อ่านเพิ่มเติม :
- “แบ่งแยกแล้วปกครอง” นโยบาย “เขมือบ” อินเดียของจักรวรรดิอังกฤษ
- ฉายา “เพชรประดับยอดมงกุฎกษัตริย์อังกฤษ” น้อยไปไหมสำหรับอินเดีย
- ส่องสภาผู้แทนฯ อินเดีย ประเทศประชาธิปไตยที่ใหญ่ที่สุดในโลก
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
“India”. Encyclopædia Britannica. Encyclopædia Britannica Online.
Encyclopædia Britannica Inc., 2016. Web. 14 Aug. 2016
<https://global.britannica.com/place/India/The-transfer-of-power-and-the-birth-of-two-countries>.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 15 สิงหาคม 2559