ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
22 กันยายน 2431 พิธีเปิดรถรางในสยาม
จากคำบอกเล่าของ เพิ่มศักดิ์ วรรลยางกูร ในหนังสือเมืองไทยในอดีต, จอห์น ลอฟตัส ชาวเดนมาร์ก ได้ขอสัมปทานจัดการ “รถราง” ขึ้นในสยาม เมื่อ พ.ศ. 2430 ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชานุญาตให้ลอฟตัสดำเนินงานได้
จอห์น ลอฟตัส ได้ทำพิธีเปิดเดินรถรางเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2431 โดยใช้ม้าลากไปตามราง จุดขายสำคัญของรถรางคือความสะดวกสบาย ไม่สะเทือนเหมือน “รถเจ๊ก” (คำที่ เพิ่มศักดิ์ ใช้เรียก “รถลาก”) แต่ก็มีปัญหาเรื่องการใช้งานม้าหนักจนหมดแรงหลายครั้ง
“แม้จะมีระยะสับเปลี่ยนม้าอย่างว่า แต่ม้าก็ทนไม่ไหว ถึงจะได้พักผ่อนบ้างแต่ก็น้อย เพราะประเดี๋ยวรถคันหลังก็ตามมาเปลี่ยนเสียอีก ม้าลากรถรางจึงผอมโซ เคยมีอันเป็นต้องล้มลงกลางทางเสมอ เพราะหมดแรงไปไม่ไหว” เพิ่มศักดิ์กล่าว
เพิ่มศักดิ์กล่าวว่า จอห์น ดำเนินกิจการได้ไม่นานก็โอนกิจการให้บริษัทบางกอก แทรมเวย์ คอมปะนี ลิมิเต็ด และในปี 2435 กิจการก็ถูกขายต่อให้กับบริษัทสัญชาติเดนมาร์ก (ไม่ทราบชื่อ) อีก โดยบริษัทหลังนี้ได้หยุดกิจการชั่วคราว เพื่อเปลี่ยนไปใช้ระบบขับเคลื่อนด้วยกระแสไฟฟ้าแทน
โดยตกลงเช่ากระแสไฟฟ้าจากบริษัท อีเลคทริค ซิตี้ คอมปะนี ลิมิเต็ด และเริ่มเดินรถรางไฟฟ้าเป็นครั้งแรก เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2437 ทำให้ไทยมีรถรางไฟฟ้าใช้ก่อนหน้าประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำหลายประเทศ
กิจการ รถราง เมื่อเริ่มใหม่ๆ ก็เป็นที่นิยมของประชาชนทั่วไป แต่ด้วยแรกทีเดียวกรุงเทพฯ ยังมีประชากรน้อย คนใช้ก็ไม่มาก กิจการจึงล้มลุกคลุกคลานเปลี่ยนมือหลายครั้ง ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 เล็กน้อยเมื่อมีผู้คนในพระนครมากขึ้นกิจการรถรางจึงกระเตื้องขึ้นมาก
แต่เมื่อพ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 ทางเลือกในการคมนาคมมากขึ้น รถรางก็เสื่อมความนิยม และยกเลิกไปในวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2511
อ่านเพิ่มเติม :
- ตามรอย “รถราง” ระบบขนส่งมวลชนแรกสุดในกรุงเทพฯ
- เบื้องหลังการทำแผนที่เมืองไทย “ฉบับแรก” ในสมัยรัชกาลที่ 5
- ย้อนตำนาน “เรือดำน้ำ” 4 ลำแรกของกองทัพเรือไทย
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 22 กันยายน 2561