ตามรอย “รถราง” ระบบขนส่งมวลชนแรกสุดในกรุงเทพฯ

รถรางในสมัยรัชกาลที่ 5 (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับธันวาคม 2541)

เมื่อร้อยกว่าปีก่อน สมัยรัชกาลที่ 5 สยามเคยมี “รถราง” ใช้เป็นชาติแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยรถรางถือว่าเป็นระบบขนส่งมวลชนแรกสุดที่นำมาใช้ในบางกอก (กรุงเทพฯ)

โดยรถรางสายแรกในสยามใช้ม้าลาก ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็นรถรางที่ใช้พลังงานไฟฟ้าในภายหลัง ซึ่งมาพร้อมกับการใช้ไฟฟ้าในยุคแรกของสยาม (ในพระบรมมหาราชวัง อาคารราชการ ถนนสาธารณะในบางพื้นที่)

รถรางถือเป็นระบบขนส่งมวลชนสาธารณะชนิดแรกของสยาม ก่อนระบบขนส่งมวลชนประเภทอื่น ๆ อย่าง รถไฟ รถเมล์

งานพิธีเปิดรถรางไฟฟ้าในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ภาพจากหนังสือ “พระมหากษัตริย์ในพระบรมราชจักรีวงศ์กับประชาชน”)

ในหนังสือ The Modern Tramway เล่มที่ 18 ฉบับที่ 212 เดือนสิงหาคม ค.ศ. 1955 บอกเล่าประวัติศาสตร์ของรถรางในสยามเอาไว้ดังนี้

“…บางกอกเมืองหลวงของสยาม มีระบบรถรางซึ่งได้เปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 21 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1893 ซึ่งถือว่าเป็นรถรางไฟฟ้าแห่งแรกในเอเชีย จากดั้งเดิมที่เคยใช้ม้าและลาลากรถ ก็ถูกแทนที่โดยรถตู้ทำด้วยไม้ระบบพลังงานไฟฟ้าขนาดกำลังยี่สิบแรงม้า ระบบไฟฟ้าที่ใช้สำหรับรถรางนี้เป็นระบบที่ดำเนินการโดยบริษัท Short Electric Railway Company เมือง Cleveland ประเทศสหรัฐอเมริกา

บางกอกซึ่งในขณะนั้นมีพลเมืองประมาณเก้าแสนคน มีรถรางถึง 7 สาย ด้วยกัน โดยวิ่งไปยังจุดต่าง ๆ ดังนี้ 1. บางคอแหลม 2. สามเสน 3. ดุสิต 4. บางซื่อ 5. หัวลําโพง 6. สีลม 7. ปทุมวัน

รถรางทุกสายเป็นแบบรางเดี่ยว โดยมีทางหลีกในระยะช่วง 1/4 ไมล์ รางมีขนาดกว้าง 1 เมตร และรางรถส่วนมากยังอยู่ในพื้นถนนลาดยาง มีบางช่วงเท่านั้นที่ฝังอยู่บนถนนคอนกรีต และได้มีการให้สิทธิให้รถรางที่วิ่งทางขวาไปก่อน ในขณะนั้นมีตู้รถรางทั้งหมดรวม 54 โบกี้ รถตู้ที่เป็นมอเตอร์แบบคู่มี 28 ตู้ และรถหัวขบวนซึ่งเป็นตัวลาก 62 คัน แต่ละคันมี 40 แรงม้า สามารถจุคนได้ 60 คน โดยแบ่งเป็นที่นั่ง 36 คน ที่ยืน 24 คน

นอกจากนั้นยังมีตัวถังโบกี้รถรางที่มีที่นั่งโดยสาร 2 แบบคือ แบบเปิดโล่ง และแบบที่มีกระจกปิด ทุกโบกี้จะมีทางขึ้น 2 ทาง ตัวถังรถรางส่วนมากผลิตในไทย จะมีก็เพียง 5 โบกี้ที่ส่งมาจากอังกฤษ สีของรถรางส่วนใหญ่มี 4 แบบซึ่งประกอบด้วย 2 สีคู่กันคือ เหลืองกับน้ำตาล เหลืองกับเขียว เหลืองกับแดง และดำกับเขียวอ่อน

วันที่ 30 กันยายน ปี ค.ศ. 1968 รถราง 2 สายสุดท้ายของบางกอกถูกยกเลิกไป และถูกแทนที่ด้วยรถเมล์…

(ซ้าย) รถรางที่ใช้ใน ค.ศ. 1888 (ขวา) รถรางที่ใช้ใน ค.ศ. 1914 (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับธันวาคม 2541)

กำเนิดของรถรางที่ใช้ม้าลากในสยาม ได้เริ่มเปิดดำเนินการเมื่อปี ค.ศ. 1889 และต่อมาได้พัฒนาไปสู่ระบบไฟฟ้า ซึ่งเริ่มเมื่อปี 1892 ซึ่งในประเด็นนี้ ข้อมูลบางแห่งได้บอกว่ารถรางไฟฟ้าสายแรกของบางกอกนั้น (บางคอแหลม) เริ่มเปิดดำเนินการเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 1893 ระยะทางของรถรางทั้งหมด 7 สาย มีความยาวทั้งสิ้น 48.7 กิโลเมตร คือ บางคอแหลม 9.2 ก.ม. สามเสน 11.3 ก.ม. ดุสิต 11.5 ก.ม. บางซื่อ 4 ก.ม. หัว ลำโพง 4.4 ก.ม. สีลม 4.5 ก.ม. และสุดท้าย ปทุมวัน 3.8 ก.ม. เนื่องจากระบบรถรางสมัยนั้นเป็นระบบรางเดียว ดังนั้นทุก ๆ 500 เมตร จึงต้องมีรางสับหลีก เพื่อให้รถรางวิ่งสวนมาหลบหลีกกันได้โดยสะดวก

ในบางกอกมีท่ารถรางอยู่ 4 แห่งคือ ที่สะพานดำ สะพานเหลือง บางกระบือ และบางคอแหลม ทั้งนี้โดยมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ถนนท่าช้าง

จำนวนตู้รถรางทั้งหมดในบางกอก ขณะนั้นไม่เป็นที่แน่ชัด เนื่องจากตัวเลขอย่างเป็นทางการของแต่ละหน่วยงานนั้นแตกต่างกันออกไป แต่จากข้อมูลเท่าที่สืบค้นได้ ประมาณว่ามีทั้งหมด 206 ตู้ ในจำนวนนี้แยกได้เป็นตู้รถรางขนาดสองเครื่องยนต์จำนวน 62 ตู้ พร้อมตู้ลากเข้าคู่กันอีก 62 ตู้ รถรางตู้เดี่ยวหนึ่งเครื่องยนต์จำนวน 54 ตู้ และรถตู้แฝดหนึ่งเครื่องยนต์ท้ายต่อกันจำนวน 28 ตู้

ในตู้รถรางทุกตู้จะมีอุปกรณ์ที่สำคัญคือ มอเตอร์ขนาด 40 แรงม้าหนึ่งตัว การที่สภาพพื้นที่เป็นที่ราบไม่มีความต่างระดับ ทำให้พลังงานในการขับเคลื่อนต่ำ จึงทำให้รถรางวิ่งช้ากว่าที่ควรจะเป็น

ได้มีการสร้างตัวรถมาตรฐานแบบห้าตอน (five-bay body) โดยต้รถรางจะมีหน้าต่างที่เปิดโล่งด้านข้าง และกั้นด้วยไม้เป็นซี่ตามยาว ตู้รถรางในบางกอกโดยทั่วไป มีที่นั่งขนานตามทางยาวกับตัวตู้สำหรับ 26 ที่นั่ง มีที่ว่างตรงกลางให้ผู้โดยสารยืนได้ 34 คน ช่วงสองตอนข้างหน้าจะกันไว้เป็นที่นั่งผู้โดยสารชั้นหนึ่ง

ปลายปี ค.ศ. 1950 รถตู้แบบเครื่องยนต์เดี่ยวได้รับการประกอบตัวถังใหม่ โดยชิ้นส่วนที่ใช้ประกอบถูกนำเข้ามาจากบริษัทโอลด์เบอรี่ เบอร์มิ่งแฮม ประเทศอังกฤษ รถตู้เหล่านี้ได้มีการติดหน้าต่างกระจกทั้งคัน ส่วนมากจะใช้ตู้โดยสารแบบบริลล์ 21 อี แต่ก็มีบางส่วนที่ใช้แบบ Peckham cantilever สำหรับสีของตัวถังรถรุ่นใหม่นี้โดยทั่วไปจะมีสีเหลือง-แดง และมีแถบคาดสีขาว

วัดชนะสงคราม ภาพถ่ายสมัยรัชกาลที่ 5 บริเวณหน้าวัดมีรถรางไฟฟ้าวิ่งบนถนนจักรพงษ์

ช่วงกลางปี ค.ศ. 1950 นี้เอง ภายหลังจากที่กิจการรถรางถูกโอนจากการไฟฟ้าบางกอก (Bangkok Electric Works) ไปอยู่ในความดูแลของการไฟฟ้านครหลวง (The Metropolitan Electric Authority/ MEA) ผู้บริหารของการไฟฟ้านครหลวงได้แสดงความประสงค์ที่จะยกเลิกกิจการรถรางและให้มีรถเมล์วิ่งแทน อย่างไรก็ดี จนกระทั่งถึงช่วงปี ค.ศ. 1961-1962 รถรางทั้งหมดถูกแทนที่โดยบริษัทรถเมล์เอกชน จะเหลือก็เพียง 2 สายรอบกรุงเก่าเท่านั้น ซึ่งได้ดำเนินกิจการต่อมาจนถึงปี ค.ศ. 1968

หลังจากนั้นเหลือรถรางเฉพาะแบบตู้เดียวเพียง 16 ตู้ ปริมาณรถรางที่ให้บริการในจำนวนน้อยเช่นนี้ ประกอบกับความช้าของการขับเคลื่อนไม่ทันใจผู้ใช้บริการ เนื่องจากในสมัยนั้นเมืองไทยมีรถมอเตอร์ไซค์ใช้แล้ว เมื่อการจราจรหนาแน่นขึ้น และรถรางต้องวิ่งตัดผ่านถนนต่าง ๆ ทำให้ยิ่งเกิดความล่าช้า การตัดสินใจจะยกเลิกระบบรถรางจึงมีขึ้นเมื่อวันที่ 23 กันยายน 1968 โดยกระทรวงมหาดไทย ดำเนินการตามข้อเสนอของการไฟฟ้านครหลวง ที่ให้เหตุผลว่า รถรางทั้ง 2 สายที่เหลือนั้นประสบการขาดทุนโดยเฉลี่ยเดือนละ 7,000 บาท ทั้งที่มีความตั้งใจที่จะอนุรักษ์รถรางเอาไว้ 2 ตู้ แต่ก็ได้ขายรถทั้งหมดในราคาตู้ละ 8,000 บาท…”

นอกจากจะมีรถรางวิ่งในบางกอก (กรุงเทพฯ) แล้ว ยังมีรถรางวิ่งไปถึงปากน้ำ สมุทรปราการอีกด้วย แต่ก็ถูกยกเลิกไปเมื่อ ค.ศ. 1954 อย่างไรก็ตาม การไฟฟ้านครหลวงก็เคยเปิดบริการรถรางที่ลพบุรีด้วย เมื่อวันที่ 31 มกราคม ค.ศ. 1955 รวมระยะทาง 5.75 ก.ม. โดยใช้ตู้รถรางเก่าจากบางกอก โดยรถรางลพบุรีดำเนินกิจการอยู่เพียง 7 ปีก็ถูกยกเลิกเมื่อ ค.ศ. 1962

ทั้งนี้ มีความพยายามที่จะดำเนินกิจการรถรางไฟฟ้าในจังหวัดอื่นด้วย เช่น เชียงใหม่ โคราช และสงขลา แต่ก็ไม่ปรากฏผลสำเร็จ

จาก ค.ศ. 1968 เป็นต้นมา ก็ไม่ปรากฏรถรางไฟฟ้าวิ่งในเมืองไทยอีกต่อไป รวมเวลา 75 ปี เป็นอันจบบทบาทระบบขนส่งมวลชนแรกสุดของไทย

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ณพล. (ธันวาคม, 2541). รถรางไฟฟ้าบางกอก. ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 20 : ฉบับที่ 2.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 12 กันยายน 2565