เบื้องหลังการทำแผนที่เมืองไทย “ฉบับแรก” ในสมัยรัชกาลที่ 5

แผนที่เมืองไทย จัดทำโดย นายเจมส์ แม็คคาร์ธี
แผนที่เมืองไทยฉบับแรกของนายแม็คคาร์ธี ค.ศ. 1888 พิมพ์ประกอบรายงานการสำรวจของเขาภายใต้การว่าจ้างของรัฐบาลสยาม ใช้เวลาจัดทำนานถึง 6 ปี (ภาพจากไกรฤกษ์ นานา)

เปิดเบื้องหลังการทำ “แผนที่เมืองไทย” ฉบับแรก สมัย “รัชกาลที่ 5” มี นายเจมส์ แม็คคาร์ธี เป็นเรี่ยวแรงสำคัญในการจัดทำ และเป็นผู้ให้กำเนิด กรมแผนที่ ของสยาม 

สมัยรัชกาลที่ 4 อังกฤษจำเป็นต้องพึ่งพาวัตถุดิบจากเอเชียซึ่งเป็นแหล่งทรัพยากรขนาดใหญ่ เพื่ออุดหนุนและเกื้อกูลการปฏิวัติอุตสาหกรรม อังกฤษจึงเริ่มครอบครองอาณานิคมในเอเชีย โดยเริ่มจากอินเดีย ซีลอน (ศรีลังกา) ฯลฯ แต่ก็ไม่สามารถปกครองประเทศใหญ่ๆ ของเอเชีย มีอาทิ จีน สยาม และญี่ปุ่น จึงหันมาเกลี้ยกล่อมและผลักดันให้เปิดเสรีการค้า เพื่อเปิดตลาดค้าขายอย่างจริงจังกับตนแทน นั่นทำให้อังกฤษเกิดแนวคิดที่จะทำ “แผนที่” ในภูมิภาคนี้ขึ้น อันมีผลให้ แผนที่เมืองไทย ฉบับแรกเกิดขึ้นด้วย

ส่วนเบื้องหน้าเบื้องหลังการทำแผนที่เมืองไทย “ฉบับแรก” ในครั้งนั้น ไกรฤกษ์ นานา อธิบายไว้ใน “ไขปริศนาประเด็นอำพราง ในประวัติศาสตร์ไทย” (สนพ.มติชน, 2558) ว่า [จัดย่อหน้าใหม่ และสั่งเน้นคำเพิ่มโดยผู้เขียน]


 

ในการนี้อังกฤษจำเป็นต้องสำรวจพื้นที่ในภูมิภาคต่างๆ ของอนุทวีปอินเดีย เพื่อสำรวจร่องน้ำในการเดินเรือสินค้า การรังวัดที่ดินสำหรับการวางเส้นทางรถไฟ เพื่อจะได้มาซึ่งแผนที่ทางเศรษฐกิจฉบับมาตรฐานตะวันตก ซึ่งประชาคมเอเชียไม่เคยเห็นความสำคัญหรือความจำเป็นต้องมี ก่อนหน้าการเข้ามาของคนอังกฤษ

เหตุการณ์สำคัญครั้งแรกที่อังกฤษต้องการสำรวจพื้นที่ทางบกเชื่อมต่อกับทางทะเล เพื่อทำแผนที่ขยายจากอินเดียและพม่า ซึ่งอังกฤษเพิ่งได้ครอบครองมาใหม่ใน พ.ศ. 2423 (ค.ศ. 1880) นั้น จำเป็นต้องพาดผ่านเข้ามาในเขตแดนทางด่านพระเจดีย์สามองค์ หรือทางภาคตะวันตกของไทย ไปบรรจบกับทางทะเลในอ่าวสยาม จึงได้ทำเรื่องขออนุญาตรัฐบาลไทยในการทำแผนที่ฉบับนี้อย่างเป็นทางการ

เมื่อรัชกาลที่ 5 ทรงทราบเรื่องก็ทรงพระวิตกเป็นอย่างยิ่ง เพราะไม่ทราบเป้าหมายที่แท้จริงของรัฐบาลอังกฤษ โครงการสำรวจพื้นที่ของต่างชาติคราวนั้น ครอบคลุมไม่เพียงแนวชายแดนที่สยามหวงแหนเท่านั้น แต่ยังจะก้าวล่วงเข้ามาถึงพื้นที่ชั้นในของกรุงเทพฯ และเขตพระราชฐาน ซึ่งเป็นเขตหวงห้าม ย่อมกระทบต่อความรู้สึกของชาวราชสำนัก และเป็นการละลาบละล้วงเข้าไปถึงที่พักอาศัยของเจ้านายและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ อันเป็นสิ่งที่มิควรกระทำ แต่ถ้าขัดขวางห้ามปรามไว้ก็อาจกระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ซึ่งสยามมีต่อชาวอังกฤษมากกว่าชาวยุโรปชาติใดในรัชกาลที่ 5

คนอังกฤษที่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงไว้วางพระราชหฤทัยมากที่สุดตั้งแต่เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติในสมัยนั้นก็คือ นายอาละบาสเตอร์ (Henry Alabaster) (อดีตรองกงสุลอังกฤษ ผู้ลาออกแล้วสมัครเข้ารับราชการกับทางราชสำนักไทย) และเป็นที่ปรึกษาราชการแผ่นดินผู้เชี่ยวชาญด้านการทำแผนที่ และวิศวกรรมโยธามาก่อน ถูกเรียกตัวเข้ามาถวายคำแนะนำว่า ไทยควรจะให้อนุญาตอังกฤษในการสำรวจหรือไม่

สุดท้ายนายอาละบาสเตอร์ก็ได้ทูลแนะนำว่า ควรจะอนุญาต ด้วยเหตุผลที่ไทยจะได้ประโยชน์ในการสำรวจไม่น้อยไปกว่าอังกฤษ และในอนาคตอันใกล้ไทยก็จำเป็นจะต้องทำแผนที่เขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลทำนองเดียวกันอยู่ดีไม่ช้าก็เร็ว

นายอาละบาสเตอร์ยังทูลเสนอแนะต่อไปอีกว่า ไหนๆ รัฐบาลไทยก็จะได้ประสานงานด้านการสำรวจและทำแผนที่กับผู้เชี่ยวชาญของรัฐบาลอังกฤษแล้ว เขาในฐานะลูกจ้างเก่าของรัฐบาลอังกฤษใคร่จะแนะนำ (Recommend) ให้พระองค์ทำแผนที่เมืองไทยให้กว้างขวางขึ้นไปอีกในโอกาสต่อไป ก็ควรจะพิจารณาถึงตัวคนอังกฤษที่ขออนุญาตคราวนี้เข้ารับราชการเป็นลูกจ้างรัฐบาลไทยเสียเลยทีเดียว ซึ่งรัชกาลที่ 5 ก็ทรงเห็นด้วยกับนายอาละบาสเตอร์

ช่องทางที่ไทยจะดึงผู้เชี่ยวชาญการสำรวจและทำแผนที่ฉบับรวมทุกภูมิภาค จึงมาจากเหตุการณ์คราวทำแผนที่สามเหลี่ยมของอินเดียผ่านกรุงเทพฯ ใน พ.ศ. 2423 นั่นเอง คนอังกฤษจึงเข้ามารับราชการในภารกิจพิเศษกับกิจการแผนที่ในสยามแบบตกกระไดพลอยโจนจริงๆ นับแต่นั้นเป็นต้นมา

และด้วยในเวลานั้นกองทำแผนที่ของอังกฤษจากอินเดียมี กัปตัน เอช. ฮิลล์ (Captain H. Hill) เป็นหัวหน้าและผู้บังคับบัญชา นายอาละบาสเตอร์ตระหนักว่า ถึงจะชวนนายฮิลล์เข้ามารับราชการกับสยามเขาคงไม่สมัครเพราะเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่อยู่แล้ว

นายเจมส์ แม็คคาร์ธี (พระวิภาคภูวดล) ผู้ทำแผนที่เมืองไทยฉบับแรก

จึงตกลงทาบทามผู้ช่วยของกัปตันฮิลล์ ชื่อ นายเจมส์ แม็คคาร์ธี (James McCarthy) โดยให้เงินเดือนสูงเพื่อดึงดูดใจ และมีสัญญากับแม็คคาร์ธีว่าถ้ารับราชการดี ถึงเวลาออกจากราชการก็จะให้เงินบำนาญเท่าเงินเดือนที่รับเวลาจะออกมาจากราชการแล้ว

นายเจมส์ แม็คคาร์ธี ตกปากรับคำที่จะเข้ามารับราชการในฐานะลูกจ้างรัฐบาลสยามอย่างเต็มใจ เขาคือผู้วางรากฐานวิชาการทำแผนที่ให้กับคนไทยในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นผู้ให้กำเนิด กรมแผนที่ ของสยาม และผู้จัดทำแผนที่สยามฉบับแรกที่สมบูรณ์ที่สุด ต่อมาก็ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นขุนนางมีราชทินนามว่า “พระวิภาคภูวดล”

ใน พ.ศ. 2425 (ค.ศ. 1882) รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งกรมแผนที่ขึ้นเพื่อฝึกหัดคนไทยให้รู้ประโยชน์ของแผนที่ โดยให้นายแม็คคาร์ธีเป็นผู้รับผิดชอบ และสร้างโรงเรียนแผนที่ขึ้นที่ตึกแถว 2 ชั้นที่หน้าประตูพิมานไชยศรีติดกับพระบรมมหาราชวัง

เมื่อแรกตั้งกรมแผนที่นั้น คนกรุงเทพฯ ไม่ชอบเลย เนื่องด้วยเหตุผลหลายประการ เช่น เกรงว่ารัฐบาลจะต้องการที่ดินเอกชนเพื่อก่อสร้างหน่วยงานราชการบ้าง เพื่อเอาที่ตัดถนนบ้าง และทั้งรังเกียจที่จะให้ไปรังวัดที่ดินในบ้านเรือน

ในสมัยมีการทำแผนที่ใหม่ๆ นั้น วังเจ้านายและข้าราชการผู้ใหญ่มีผู้หญิงเป็นนางละครหลายแห่ง ดังเช่นบ้านเจ้าพระยามหินทรศักดิธำรง และบ้านเจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ ที่เป็นคณะละครมีชื่อเสียงเลื่องลือในสมัยนั้น จำเป็นต้องหวงแหนไม่อยากให้พนักงานแผนที่เข้าไปในบ้านที่มีรั้วรอบขอบชิด เพราะมีผู้หญิงสาวอยู่รวมกันมาก เมื่อพนักงานเข้าไปทำแผนที่ในบ้านดังกล่าว ต้องจัดให้มีคนคุมประจำตัวเจ้าหน้าที่ทุกคนจนเสร็จ

ในระยะเริ่มต้นนายแม็คคาร์ธีจึงออกนอกพื้นที่ไปรังวัดที่ดิน และสำรวจพื้นที่ต่างจังหวัดที่อยู่นอกกรุงเทพฯ เป็นส่วนใหญ่เพื่อสร้างผลงาน และค่อยๆ ทำให้ชาวสยามเห็นว่า แผนที่เป็นสิ่งจำเป็นของการมีรัฐชาติที่มีอิสระ และจะมีบทบาทอย่างยิ่งในการปรับปรุงกรุงเทพฯ และท้องถิ่นสยามให้ทันสมัย การเติบโตของตัวเมือง และนโยบายปฏิรูปต่างๆ ในรัชกาลที่ 5 โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำถนน ทางรถไฟ รถราง วางเสาโทรเลข และก่อสร้างตึกรามบ้านเรือน จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีแบบตะวันตก และคนไทยก็จะคุ้นกันไปเอง…

…ปัญหาจากศึกฮ่อก็คือ เวลาไทยรบพวกฮ่อ ฮ่อสู้ไม่ได้ก็หนีเข้าไปหลบในแดนญวน (ตั่งเกี๋ย) ญวนก็หันมาปราบฮ่อ ด้านญวนพอฮ่อสู้ไม่ได้ก็หลบกลับเข้ามาในแดนไทย เป็นเช่นนี้มากกว่า 10 ปี ฝรั่งเศสจึงเสนอตัวที่จะเข้ามาในแคว้นสิบสองจุไทเพื่อช่วยไทยปราบฮ่อ ปัญหาต่อมาคือสิบสองจุไทมีชายแดนติดกับตังเกี๋ยของญวนซึ่งฝรั่งเศสเพิ่งจะยึดมาได้จากจีน ทว่า พรมแดนดังกล่าวไม่มีหลักหมุดเขตแดนเลย ไทยจึงเร่งให้นายแม็คคาร์ธีขึ้นไปทำแผนที่ขึ้นเพื่อ “ตัดไม้ข่มนาม”

รัชกาลที่ 5 มีพระราชดำรัสส่งท้ายถึงเหตุผลที่จะต้องมีการสำรวจเพื่อปักปันเขตแดนในช่วงเกิดศึกฮ่อ ซึ่งคาบเกี่ยวกับสงครามตังเกี๋ยว่า

“การที่จัดทัพครั้งนี้ เพราะทรงเห็นว่าฝรั่งเศสคิดส่งกำลังเข้ามาปราบฮ่อธงดำ กลัวจะหนีเตลิดเข้ามาในพระราชอาณาเขตต์และฝรั่งเศสเพิ่งได้เมืองญวนจะลุกลามเข้ามารุกรานเขตต์แดนซึ่งจะคิดเซอร์เว (สำรวจทำแผนที่) ไว้สำหรับโต้เถียง”

ดังนั้นใน พ.ศ. 2428 (ค.ศ. 1885) รัชกาลที่ 5 จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าหมื่นไวยวรนาถ (เจิม แสง-ชูโต) ยกทัพไปปราบโจรจีนฮ่อ และให้มีการทำแผนที่ร่วมไปกับกองทัพด้วย ซึ่งมีแม็คคาร์ธีเป็นหัวหน้า มีผู้ช่วยคือพระยามหาอำมาตยาธิบดี (เส็ง วิริยศิริ) เป็นต้น

กองทำแผนที่ไปแยกกับกองทัพที่เมืองน่าน เพราะกองแผนที่เดินทำแผนที่ขึ้นไปทางลำน้ำน่านจนสุดปลายน้ำข้ามสันปันน้ำไปถึงแม่น้ำโขงที่บ้านท่านุ่น แล้วลงเรือทำแผนที่แม่น้ำโขงไปนครหลวงพระบาง พักคอยจนเจ้าหมื่นไวยวรนาถยกทัพไปถึง เพื่อปรึกษาหารือการที่จะทำแผนที่ร่วมมือกับกองทัพต่อไปจนถึงหลวงพระบางและเมืองหัวพันทั้งห้าทั้งหก เสร็จแล้วนายแม็คคาร์ธีหรือพระวิภาคภูวดล ได้ยกกองทำแผนที่ลำน้ำโขงลงมาบ้านปากลาย เมืองอุตรดิตถ์ เมืองสุโขทัย เมืองพิชัย ล่องกลับกรุงเทพฯ เพื่อรวบรวมจัดการพิมพ์แผนที่เมืองไทยทั่วทั้งประเทศ ใช้เวลาจัดทำทั้งสิ้น 5 ปีเต็ม

เมื่อกลับมาถึงกรุงเทพฯ แล้ว พระวิภาคภูวดลได้ร่วมมือกับเจ้าหน้าที่กรมแผนที่รวบรวมแผนที่ที่กรมแผนที่ทำกับแผนที่ของอังกฤษและฝรั่งเศสที่มีอยู่แล้ว ขึ้นเป็น แผนที่ประเทศไทย และใน พ.ศ. 2430 พระวิภาคภูวดลก็ได้นำแผนที่ประเทศไทยที่รวบรวมได้นั้นเดินทางไปยังประเทศอังกฤษ เพื่อจัดการพิมพ์ต่อไป

เป็นอันว่า แผนที่เมืองไทย ได้ถูกตีพิมพ์ขึ้นเป็นฉบับแรก ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ใน พ.ศ. 2430 และได้ถูกส่งกลับเมืองไทยใน พ.ศ. 2431 ทางราชการได้ใช้สืบต่อมาจนบัดนี้ เรียกว่าแผนที่เมืองไทยฉบับแม็คคาร์ธี

รายงานการสำรวจและพิมพ์เขียวฉบับที่นายแม็คคาร์ธีจัดพิมพ์ขึ้นครั้งแรกก็คือฉบับที่เขานำไปแสดงปาฐกถาพิเศษ ณ ราชสมาคมภูมิศาสตร์ แห่งสหราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน ค.ศ. 1888 (พ.ศ. 2431) เป็นฉบับเดียวกันกับที่นำออกประมูลขายที่กรุงลอนดอนเมื่อต้นปี พ.ศ. 2557 นี้ บัดนี้เดินทางกลับมาถึงประเทศไทยต้นทางของแผนที่แล้ว

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 15 มีนาคม 2564