8 พฤษภาคม 1945 “วันแห่งชัยชนะในยุโรป” นาซีเยอรมันประกาศยอมแพ้

วันแห่งชัยชนะในยุโรป Victory in Europe Day V-E Day สงครามโลกครั้งที่ 2
วิลเฮล์ม เคเทล ลงนามในคำประกาศยอมจำนน และ ผู้คนเฉลิมฉลองวัน V-E Day ณ กรุงลอนดอน (ภาพจาก Imperial War Museums) - มีการตกแต่งกราฟิกเพิ่มโดย กอง บก.ศิลปวัฒนธรรม

8 พฤษภาคม 1945 (พ.ศ. 2488) ถือเป็น “วันแห่งชัยชนะในยุโรป” (Victory in Europe Day) หรือ “V-E Day” เมื่อ สงครามโลกครั้งที่ 2 ในภาคพื้นทวีปยุโรปจบลงอย่างเป็นทางการ หลังการประกาศยอมจำนนของ เยอรมนี

สงครามโลกครั้งที่ 2 ในทวีปยุโรป ดำเนินอยู่เป็นเวลากว่า 5 ปี ภายหลังกองทัพสหรัฐฯ และพันธมิตรยกพลขึ้นบกที่ชายหาดนอร์มังดี ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน ค.ศ. 1944 (Normandy landings or D-Day) การรุกคืบครั้งนั้นเป็นสัญญาณเริ่มต้นการล่มสลายของ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ และนาซีเยอรมัน

ในะยะเวลาไม่ถึงปี ท้ายที่สุด เยอรมนี เลือกประกาศยอมจำนนอย่างไม่มีเงื่อนไขในวันที่ 8 พฤษภาคม 1945 ส่วน อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ กระทำอัตวินิบาตกรรม เลือกจบชีวิตตนเองตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน

อันที่จริง นาซีเยอรมันมีการลงนามยอมแพ้ถึง 2 ครั้ง ครั้งแรกเกิดขึ้นในวันที่ 7 พฤษภาคม โดยการลงนามของพลเอกอาวุโสเยอรมัน อัลเฟรด โจดล์ (Alfred Jodl) ว่าด้วยการยอมจำนนและยุติปฏิบัติการทางทหารทั้งหมดของกองทัพเยอรมันในเมืองแร็งส์ ประเทศฝรั่งเศส ส่วนครั้งที่สองเป็นเจตนารมณ์ของโจเซฟ สตาลิน ผู้นำโซเวียต ที่ต้องการให้จอมพลวิลเฮล์ม เคเทล (Wilhelm Keitel) ผู้นำกองบัญชาการสูงสุดกองทัพนาซี ประกาศยอมแพ้อย่างเป็นทางการอีกครั้ง การลงนามเกิดขึ้นในวันต่อมา คือย่ำรุ่งของวันที่ 8 พฤษภาคม 1945 และมีผลทันที

V-E Day จึงเป็นจุดสิ้นสุดของการสู้รบในภาคพื้นทวีปยุโรปอย่างสมบูรณ์ ณ แผ่นดินที่เป็นสมรภูมิของทหารและสุสานของพลเรือนหลายสิบล้านคน ผู้สังเวยชีวิตให้กับมหาสงครามมาตั้งแต่เริ่มการสู้รบ

ก่อนหน้านั้น ความขัดแย้งในทวีปยุโรปไปสู่จุดเดือดภายในปี 1939 เมื่อเยอรมนีรุกรานโปแลนด์ และเปิดฉากสงครามกับสหภาพโซเวียต

ในบรรดาผู้เสียชีวิตจากสงคราม มีชาวยิวประมาณ 6 ล้านคนที่ถูกสังหารโดยพวกนาซี ทหารอเมริกันราว 250,000 นายเสียชีวิตบนผืนแผ่นดินยุโรป ความสูญเสียที่เป็นชีวิตผู้คนจำนวนมหาศาลไปกับสงครามในทวีปยุโรปทำให้ “V-E Day” คือวันอันรุ่งโรจน์ของชาติตะวันตกในการเฉลิมฉลองห้วงเวลาที่พวกเขาสามารถผ่านพ้นฝันร้ายที่ดำเนินมาหลายปีได้สำเร็จ

วันนั้นเอง ผู้คนเรือนหมื่นออกมาแสดงความปิติยินดีกันเต็มท้องถนนในมหานครนิวยอร์ก นิวออร์ลีนส์ กรุงลอนดอน และเมืองต่าง ๆ ในแคนาดา ออสเตรเลีย รวมถึงประเทศพันธมิตรอื่น ๆ โดยเฉพาะการเฉลิมฉลองครั้งใหญ่ ณ กรุงปารีส ประเทศที่ต้องเผชิญความบอบช้ำจากความรุนแรงและการประหัตประหารในฐานะสมรภูมิหลักของแนวรบตะวันตก สหภาพโซเวียตเองก็ฉลอง “Victory Day” ของตนเองในวันเดียวกันนี้

ประธานาธิบดีแฮร์รี เอส. ทรูแมน ประกาศวันแห่งชัยชนะสำหรับอเมริกันชน โดยกล่าวคำสุนทรพจน์ทางวิทยุว่า…

“Our rejoicing is sobered and subdued by a supreme consciousness of the terrible price we have paid to rid the world of Hitler and his evil band. Let us not forget, my fellow Americans, the sorrow and the heartache, which today abide in the homes of so many of our neighbors – neighbors whose most priceless possession has been rendered as a sacrifice to redeem our liberty.”

“ความปิติยินดีของเราถูกเรียกสติและถูกทำให้สงบลงด้วยความตระหนักรู้จากก้นบึ้งหัวใจให้ระลึกถึงราคาอันแสนเลวร้ายที่เราต้องจ่ายไปเพื่อกำจัดโลกของฮิตเลอร์และพลพรรคปีศาจของเขา ผองเพื่อนชาวอเมริกันทั้งหลายของผม โปรดอย่าลืมความเศร้าโศกและความเจ็บปวดรวดร้าวที่เกาะกุมหัวใจ ที่ทุกวันนี้ยังไม่จางหายไปจากครอบครัวจำนวนมากที่เป็นเพื่อนบ้านของเรา เพื่อนบ้านผู้มีคุณูปการอันมิอาจประเมินค่า เมื่อได้อุทิศตนเป็นเครื่องสังเวยเพื่อแลกอิสรภาพมาสู่ผองเรา”

แม้การสู้รบในยุโรปจะยุติลง แต่สงครามในมหาสมุทรแปซิฟิกยังคงดำเนินต่อไป กองทัพสหรัฐฯ และสัมพันธมิตรยังคงรบกับจักรวรรดิญี่ปุ่นในโอกินาวา ฟิลิปปินส์ และพื้นที่อื่น ๆ

ขณะที่ยุโรปตะวันตกได้รับการปลดปล่อยโดยกองกำลังสัมพันธมิตร รับการฟื้นฟูให้กลายเป็นรัฐประชาธิปไตยที่เติบโตและยืนหยัดได้ด้วยตนเอง ส่วนยุโรปตะวันออกซึ่งมีกองทัพแดงของสหภาพโซเวียตเป็นตัวตั้งตัวตีในการปลดปล่อยจากนาซีเยอรมัน ได้ถูกครอบงำด้วยลัทธิคอมมิวนิสต์อยู่เป็นเวลาหลายทศวรรษ

อนุสรณ์สถานสงครามโลกครั้งที่ 2 ทั่วโลก ต่างเอ่ยถึง “วันแห่งชัยชนะในยุโรป” รวมถึงมีการจัดงานรำลึกถึงวีรบุรุษสงครามในวันดังกล่าวด้วย

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

U.S. Department of Defense. VICTORY IN EUROPE DAY: TIME OF CELEBRATION, REFLECTION. Retrieved May 8, 2023. From https://www.defense.gov/Multimedia/Experience/VE-Day/#timeline


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 8 พฤษภาคม 2566