ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว “อังกฤษ” รุกคืบเข้ามาในภูมิภาคนี้ แต่ “เสนาบดีสยาม” ไม่เชื่อว่า “อังกฤษ” จะมีแสนยานุภาพมากพอที่จะเอาชนะ “พม่า” ได้
“วันรุ่งขึ้นคือวันที่ 5 ธันวาคม ในเวลาบ่าย ข้าพเจ้าได้พบกับท่านพระคลัง และได้พูดจากันเป็นเวลานาน พระคลังได้ถามข้าพเจ้าเกี่ยวกับคำแปลภาษาสยามของจดหมายจากท่านผู้สำเร็จราชการ ซึ่งข้าพเจ้าได้มอบให้ไปถวายแล้วนั้น ท่านพระคลังได้ถามข้าพเจ้ามากมายและได้ให้จดคำตอบหลายข้อของข้าพเจ้าเป็นลายลักษณ์อักษร โดยเฉพาะในเรื่องเกี่ยวกับสถานการณ์และรายชื่อหัวเมืองพม่าที่กองทัพฝ่ายเรายึดครองได้ ซึ่งชื่อเหล่านี้ในภาษาสยามดูจะออกเสียงให้ถูกต้องชัดเจนไม่ได้
ท่านพระคลังดูเหมือนจะไม่เชื่อข่าวเกี่ยวกับชัยชนะของกองทัพอังกฤษ ซึ่งท่านคิดว่าคงเป็นชัยชนะชั่วคราว และท่านเห็นว่าการที่กองทัพเราหวังจะเข้ายึดครองอังวะ (Ava) หรือจะเอาชนะพวกพม่าให้ได้นั้นเป็นความคิดเพ้อฝันมากกว่า”
ทั้งหมดคือข้อความของ ร้อยเอก เฮนรี เบอร์นีย์ ทูตประจำราชสำนักพระเจ้ากรุงสยาม กล่าวในจดหมายรายงานถึง อาร์. ฟูลเลอร์ตัน เอสไควร์ ผู้ว่าราชการ ฯลฯ เกาะปรินซ์ ออฟ เวลส์ (เกาะปีนัง) ลงวันที่ 22 ธันวาคม 1825 (พ.ศ. 2368) เนื้อความว่า เสนาบดีสยามไม่เชื่อว่าอังกฤษจะเอาชนะพม่า
กองทัพอังกฤษโจมตีนครย่างกุ้งในปี 1824 (ภาพเขียนในสมัยศตวรรษที่ 19 โดย J. Moore [Public domain], via Wikimedia Commons)
สงครามระหว่างอังกฤษและพม่า ครั้งที่ 1 เกิดขึ้นระหว่างปี 1824-1826 (พ.ศ. 2367-2369) เริ่มต้นจากความขัดแย้งบริเวณชายแดนเขตยะไข่ทางตะวันตกของพม่า กับเขตจิตตะกองที่อยู่ในความยึดครองของอังกฤษ เนื่องจากชาวยะไข่บางส่วนที่ลี้ภัยไปอยู่ในพื้นที่ยึดครองของอังกฤษหลังพม่ายึดครองอาณาจักรของตนได้ในช่วงปลายศตวรรษที่ 18 พยายามโจมตีกองทัพพม่าเพื่อกอบกู้เมืองคืน ทำให้กองทัพพม่าตอบโต้โจมตีกลุ่มชาวยะไข่ลึกเข้าไปถึงเขตเบงกอลอยู่หลายครั้ง เป็นเหตุให้อังกฤษอ้างได้ว่าตนถูกรุกราน จึงใช้กำลังโต้กลับ และสามารถใช้กองเรือยึดย่างกุ้งได้โดยแทบไม่ต้องใช้กำลังทหารในปี 1824
แต่พม่าไม่ยอมแพ้ง่ายๆ ก่อนพม่าจะสูญเสียนายพลคนสำคัญ (บัณฑุละ, Bandula) ภายหลังจึงยอมทำสนธิสัญญาแห่งยันดาโบ (Treaty of Yandabo) ในเดือนกุมภาพันธ์ 1826 เพื่อยุติสงครามระหว่างอังกฤษกับพม่าในยกแรก
ต่อมาเกิดสงครามระหว่างอังกฤษและพม่าขึ้นอีก กระทั่งท้ายที่สุดพม่าก็ต้องสูญเสียเอกราชให้อังกฤษ
อ่านเพิ่มเติม :
- สิ้นชาติสูญเอกราช “พม่าเสียเมือง” เมื่อทูตพม่าปรับทุกข์กับทูตไทย ณ ปารีส
- ไทย-พม่า กับความสัมพันธ์ด้าน “นาฏกรรม” ที่หยิบยืมกันไปมา
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
สาวิตรี สุวรรณสถิตย์, ผู้แปล. เอกสารเฮนรี เบอร์นีย์ เล่ม 1. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2551
“Anglo-Burnese Wars.” Encyclopedia Britannica. Encyclopædia Britannica, inc. 16 Mar. 1999. Web. 19 Apr. 2017 https://global.britannica.com/topic/Anglo-Burmese-Wars
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 22 ธันวาคม 2561