ไทย-พม่า กับความสัมพันธ์ด้าน “นาฏกรรม” ที่หยิบยืมกันไปมา

ภาพวาดชาวมหรสพโยธยาในขบวนเสด็จมีปี่พาทย์แบบโยธยา รำควาย และโตปัญจรูป ด้านล่างซ้ายเขียนกำกับด้วยอักษรพม่าว่า โยดะยาอะตี (บรรเลงโยธยา) ส่วนอักษรทางขวาเขียนว่า โยดะยาอะก่ะ (รำโยธยา) (ภาพจาก http://www.odl.ox.ac.uk)

ประเทศไทยกับประเทศพม่า หรือเมียนมาในปัจจุบัน เป็นเพื่อนบ้านกันมาช้านาน ความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศที่เราส่วนใหญ่รับรู้กันมักเป็นเรื่องของ “การศึกสงคราม” แต่ในส่วนน้อยที่ไม่ค่อยมีผู้กล่าวถึงนัก ทั้งสองประเทศมีความสัมพันธ์ด้านวัฒนธรรมด้วย ยิ่งจำแนกลึกลงไปในส่วนของ “นาฏกรรม” ก็จะพบว่ามีส่วนคล้ายกันเลยทีเดียว

สิทธิพร เนตรนิยม นักปฏิบัติการวิจัย สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเซีย มหาวิทยาลัยมหิดล ค้นคว้าเอกสารไทยและพม่าเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว แล้วเรียบเรียงเป็น บทความ “ความสัมพันธ์ทางนาฏกรรมไทย-พม่า ระหว่างช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 24 ถึงกลางพุทธศตวรรษที่ 25” (ศิลปวัฒนธรรม, มกราคม 2561) ซึ่งขอเก็บความบางส่วนมานำเสนอ

ในพระนิพนธ์เรื่องเที่ยวเมืองพม่าของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงวินิจฉัยว่าประวัติศาสตร์การสงครามเป็นเหตุนำมาซึ่งความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรม ความว่า

“…ยิ่งพิจารณาก็ยิ่งพิศวง ด้วยธรรมเนียมในราชสำนักพม่า ดูคล้ายกันกับขนบธรรมเนียมไทยแต่โบราณมาก พม่ากับไทยได้แบบวัฒนธรรมมาจากอินเดียด้วยกันแต่ดึกดำบรรพ์ก็จริง แต่ข้อนี้จะทำให้เหมือนกันได้เพียงโครงการ ส่วนรายการที่มาเพิ่มขึ้นหรือมาแก้ไขในเมืองไทยกับเมืองพม่าจะเผอิญเหมือนกันด้วยต่างคิดไปโดนกันเข้า ยากที่จะเป็นได้ มิใครก็ใครคงเอาอย่างกันจึงจะเหมือนกัน…

เมื่อพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองตีได้กรุงศรีอยุธยาปรากฏว่าข้าราชการไทยไปเมือง หงสาวดีด้วยมาก และต่อมาเมื่อถึงครั้งพระเจ้ามังระครองกรุงอังวะ พม่าได้ตีพระนครศรีอยุธยาก็กวาดต้อนเอาไทยทุกชั้นบรรดาศักดิ์ไปเป็นอันมากอีกครั้งหนึ่ง น่าจะได้ขนบธรรมเนียมไทยไปใน 2 ยุคนี้ เลือกเอาไปเพิ่มใช้เป็นธรรมเนียมพม่า จึงละม้ายคล้ายคลึงกันนักแม้จนทุกวันนี้พม่าก็ยังนับถือแบบอย่างต่างๆ  ของไทยอยู่แพร่หลาย เรียกกันว่า ‘แบบโยเดีย’…”

ขณะที่เอกสารฝ่ายพม่า ก็มีมุมมองในลักษณะเดียวกัน พงศาวดารฉบับหอแก้ว (หม่านนานยาซะวิน) เขียนขึ้นในช่วง พ.ศ. 2372 ได้กล่าวถึงการกวาดต้อนช่างฝีมือและศิลปินชาวอยุธยาไปยังพม่าในสมัยพระเจ้าบุเรงนองว่า “ในเมืองอยุธยามี…ช่างทองเหลือง ช่างเหล็ก ช่างทอง ช่างสลัก…นักดนตรี นักแสดง…ทรงเลือกเอาผู้ชำนาญงานพิเศษเหล่านั้น พร้อมทั้งครอบครัวส่งไปยังกรุงหงสาวดีพร้อมทั้งพระราชทานที่อยู่อาศัยอย่างเหมาะสมให้ในราชธานีของพระองค์”

พงศาวดารฉบับราชวงศ์คองบอง (กุนภองแซะก์มหายาซะวิน) เขียนขึ้นในช่วง พ.ศ. 2448 ก็ได้กล่าวถึงผลของสงครามในสมัยพระเจ้ามังระที่พม่าได้นำเข้ามาซึ่งศิลปินจากอยุธยา ความว่า “…พระมเหสี โอรส ธิดา พระราชวงศ์ เหล่าเสนาอำมาตย์ คหบดี ผู้ชำนาญการแสดง ฟ้อนรำบรรเลง สถาปนิก ช่างไม้ ช่างแกะ ช่างทอง…”

เอกสารพม่าทั้ง 2 ฉบับยังเป็นที่ยอมรับจากนักวิชาการพม่ารุ่นหลังๆ ที่ศึกษาความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมระหว่างไทยกับพม่าที่ตั้งอยู่บนปรากฏการณ์ของสงครามอยู่ตลอดมา และพอจะประมวลได้ว่า แนวคิดข้างต้นจากเอกสารไทย-พม่า เป็นมูลเหตุของความสัมพันธ์ทางด้านวัฒนธรรมระหว่างไทยและพม่าที่ปรากฏในงานนาฏกรรมของกันและกันอยู่ตลอดมา

ยุคแรกแห่งความสัมพันธ์ทางนาฏกรรมจากสงครามเสียกรุงฯ ครั้งสุดท้าย พ.ศ. 2310 ปรากฏหลักฐานในเอกสารพม่ากล่าวถึงเชลยสงคราม ได้แก่ พระราชวงศ์ ข้าราชการ และศิลปินสาขาต่างๆ ที่ถูกกวาดต้อนไปยังกรุงอังวะ และการแสดงมหรสพซึ่งนักแสดงจากอยุธยาก็ได้เข้าร่วมในการฉลองชัยชนะครั้งนี้ให้กับกองทัพพม่าด้วย ความว่า

“…เมื่อกษัตริย์กับทั้งข้าราชบริพารได้ชัยชนะต่อแผ่นดินโยธยาอันกว้างใหญ่อันเป็นรัฐโยนกะ อยุชจยะแล้ว กองทัพอันยกมาแต่ทวายรวมห้าสิบแปดทัพ กองทัพอันยกมาแต่เชียงใหม่รวมเจ็ดสิบเอ็ดทัพ รวมสองทัพได้หนึ่งร้อยยี่สิบเก้า ทั้งหมดล้วนอึงอลไปด้วยการร้องรำของพม่า การร้องรำของมอญ การร้องรำของทวาย การร้องรำของตะนาวศรี การร้องรำของไท”

วงดนตรีที่ใช้ประกอบการแสดงนาฏกรรมของชาวโยธยาที่พม่าเรียกว่า “โยดะยาซายง์”ได้ปรากฏหลักฐานภาพวาดอยู่ในสมุดข่อยสมัยราชวงศ์คองบองตอนปลาย ซึ่งให้ภาพที่สอดคล้องกับ “โลกมหรสพเมียนม่า” บันทึกของเจ้ากรมมหรสพอูนุกล่าวว่าประกอบด้วยเครื่องดนตรี 7 ชิ้น ได้แก่ “…ฆ้องวงวางราบ ลูกฆ้อง 12 ลูก กลองบงเด้าก์ ตะโพน กลองสี่ญ์โต่ ฉิ่ง ไม้ตะขาบ ปี่หกรูไม่มีลำโพงเลาปี่ป่องกลางดั่งกลองพราหมณ์…”

ข้อมูลข้างต้นแสดงถึงร่องรอยการผสมวงปี่พาทย์ตามแบบแผนอยุธยาตอนปลายได้ เช่น ลักษณะของฆ้องวงที่กำหนดจำนวนไว้ที่ 12 ลูก สอดคล้องกับภาพจำหลักบนฝาตู้พระธรรมสมัยอยุธยา ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร และภาพฆ้องวงที่ปรากฏอยู่ในบึนทึกของลาลูแบร์ บาทหลวงชาวฝรั่งเศสที่เดินทางเข้ามาในสมัยสมเด็จพระนารายณ์

นอกจากนี้ตะโพน ฉิ่ง และปี่หกรูตัวเลาป่องกลางซึ่งน่าจะได้แก่ปี่นอกหรือปี่ใน ทั้งหมดยังคงปรากฏอยู่ในวงปี่พาทย์ของไทยมาจนปัจจุบันนี้ ส่วนกลอง “สี่ญ์โต่” คือกลองสองหน้าที่มีรูปทรงอย่างกลองตะโพนของไทยกับกลอง “บงเด้าก์” มีหุ่นกลองทรงกระบอกสั้นๆ นั้นน่าจะเป็นร่องรอยของกลองทัดที่ใช้ในวงปี่พาทย์ของไทย

เมียนจี (2542) กล่าวว่าความต้องการของราชสำนักในเรื่องความหมายของการแสดงตามแบบโยธยาได้สำเร็จผลขึ้นในรัชกาลพระเจ้าปะดุงช่วง พ.ศ. 2332 นี้เอง ด้วยการแปลคำร้องเหล่านั้นออกเป็นภาษาพม่าโดยใช้ทำนองเพลงสำเนียงไทยที่พม่าเรียกว่า “เพลงโยธยา”

เพลงสำเนียงไทยที่เรียกว่า “เพลงโยธยา” ในวัฒนธรรมการดนตรีแบบประเพณีของพม่านั้นมีเพลงหลักจำนวน 8-12 เพลง ได้แก่ 1. พหยั่นติ่ง 2. ค่ะโหม่น 3. ค่ะเมง 4. ท่ะหน่าวก์ 5. พยิงชา 6. ท่ะโต้น 7. ชูด ชหยั่น 8. งุงิ๊ด 9. ฉู่ฉหย่า 10. ก่ะบี่ 11. อะเลเมะ 12. มโห่ตี  ซึ่งทั้งหมดพม่ากล่าวว่าเป็นภาษาไทย ชื่อทำนองเพลงเหล่านี้ได้ถูกกลบเกลื่อนโดยใช้ประโยคขึ้นต้นของบทประพันธ์ภาษาพม่าใส่แทน เช่น เพลงค่ะเมง ก็กลายเป็น ตอต่าวง์ซเวย์ ซึ่งแปลว่า หนทางข้างหน้าเป็นป่าเขา เป็นต้น

ช่วงเวลาแห่งความเจริญทางด้านการดนตรีและนาฏศิลป์ของราชสำนักพม่าที่กล่าวมาข้างต้นเป็นช่วงระยะเวลาที่ร่วมสมัยกับรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (พ.ศ. 2325-67) ต่อเนื่องไปถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. 2367-94) ซึ่งก็เป็นช่วงเวลาที่ศิลปะการดนตรีและการแสดงของไทยมีการปรับปรุงและพัฒนาเช่นเดียวกัน เช่น มีการประดิษฐ์กลองสองหน้าขึ้นเพื่อใช้กำกับจังหวะในวงดนตรีดังกล่าว ซึ่งเมื่อพิจารณาจากรูปลักษณ์และซุ่มเสียงของกลองสองหน้าแล้ว ก็ดูจะมีความคล้ายคลึงกับลักษณะของลูกเปิงที่นิยมใช้กัน ในวัฒนธรรมการดนตรีของมอญ-พม่าที่เรียกว่า “พอม” และ “โบง” อยู่มาก

กลองดังกล่าวอาจตามติดเข้ามากับกลุ่มชาวมอญที่อพยพหนีภัยสงครามเข้ามาในพระราชอาณาเขตอยู่เนืองๆ ติดต่อกันมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 2 ดังนั้น เครื่องดนตรีของกลุ่มชนในวัฒนธรรมมอญ-พม่าจึงได้เข้ามามีความสัมพันธ์อยู่ในวัฒนธรรมการดนตรีของไทยด้วย

ในสมัยรัชกาลที่ 3 มีการประดิษฐ์เครื่องดนตรีขึ้นมาใหม่ 2 ชนิด ได้แก่ ระนาดทุ้ม และฆ้องวงเล็ก (ธนิต อยู่โพธิ์ 2520 : 16, 26) การเกิดขึ้นของเครื่องดนตรีทั้งสองทำให้เกิดการประสมวงปี่พาทย์ในรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า “ปี่พาทย์เครื่องคู่” เกิดขึ้น ซึ่งไม่เคยมีมาก่อนในวัฒนธรรมการดนตรีของไทย

เครื่องดนตรีชนิดใหม่ที่เรียกว่า “ระนาดทุ้ม” นั้นบรรเลงด้วยการใช้มือที่โลดโผนเป็นพิเศษแตกต่างไปจากการบรรเลงฆ้องวง และระนาดเอกอย่างชัดเจน คล้ายคลึงกับวิธีการบรรเลงระนาดในวัฒนธรรมการดนตรีมอญ-พม่าที่เรียกว่า “ปัตตาหล่า” อย่างมากซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าวิธีการใช้มือของระนาดทุ้มในวัฒนธรรมการดนตรีของไทยอาจมีพัฒนาการมาจากวัฒนธรรมการดนตรีของมอญ-พม่าก็เป็นได้

มีหลักฐานมากมายในรัชกาลที่ 3 ว่าทรงนำเข้าไพร่ ทาสชาวมอญ-พม่าเข้ามาไว้ในกรุงเทพมหานครฯ เป็นจำนวนมาก จากการทำสงคราม การอพยพ และลักพาเข้ามาจากชายแดน นำมาสังกัดเป็นไพร่ และขายเป็นทาส ดังรายงานของชาวตะวันตกที่เข้ามาในสมัยรัชกาลที่ 3 ว่า “ชาวสยามมีนิสัยชอบลอบจับชาวพม่าไปเป็นทาส ถึงแม้ภายหลังอังกฤษจะเข้ามาแทรกแซงประเทศพม่าแล้วก็ตาม ชาวสยามก็ยังทำสิ่งชั่วร้ายนี้อยู่ ชาวพม่าหลายพันคนที่ยังมีชีวิตอยู่ก็ถูกจับมาเป็นทาสด้วยวิธีนี้…” (ออกัสตัส ฟรีดริค กุตสลาฟฟ์ 2539 : 78)

การเข้ามาของประชากรชาวพม่า-มอญได้นำเข้าวัฒนธรรมการดนตรีของตนเข้ามาผสมกับการดนตรีของไทยอยู่ด้วย 

นี่ก็แค่ตัวอย่างส่วนหนึ่งที่ทำให้เห็นได้ว่าไทยกับพม่าต่างมีความสัมพันธ์ร่วมกันในทางวัฒนธรรมที่งดงามกันมายาวนาน

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 16 เมษายน 2563