เปิดหลักฐานไทย-พม่า สงครามอยุธยาปะทะหงสาวดี ก่อนถึงเสียกรุงฯ

แผนที่สยาม ตีพิมพ์เมื่อ ค.ศ. 1764 (Author: Bellin, Jacques Nicolas, 1703-1772)

สงครามเมืองเชียงกราน พ.ศ. 2081 ไม่ได้เป็นสงครามครั้งแรกระหว่างอยุธยากับพม่า (ราชวงศ์ตองอู) ดังที่เคยเข้าใจกันมา ดังที่ ศาสตราจารย์ ดร. สุเนตร ชุตินธรานนท์ ยืนยัน โดยอธิบายไว้ว่า กว่าที่พระเจ้าตะเบงชะเวตี้จะยึดเมืองหงสาวดี ก็ล่วง พ.ศ. 2082 กว่าที่จะยึดเมืองเมาะตะมะ ก็ล่วง พ.ศ. 2084 จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะยึดเมืองเชียงกรานก่อนยึดครองเมืองหงสาวดีและเมืองเมาะตะมะ

กรณีเมืองทวาย

การปะทะกันระหว่างสองอาณาจักรน่าจะเกิดขึ้นที่เมืองทวาย เมืองนี้อยู่ถัดลงมาจากเมือเมาะตะมะ พงศาวดารไทยไม่ได้ระบุถึงเหตุการณ์การเผชิญหน้าระหว่างฝ่ายหงสาวดีกับฝ่ายอยุธยาในดินแดนชายฝั่งอ่าวเมาะตะมะเลย ในขณะที่พงศาวดารพม่าแทบทุกฉบับกล่าวถึงเหตุการณ์ครั้งนั้นไว้อย่างชัดเจน

“พงศาวดารฉบับอูกาลา” และ “มหาราชวงษ์พงษาวดารพม่า” (นายต่อ แปล) อธิบายเหตุการณ์ดังกล่าวสอดคล้องกันว่า เมื่อพระเจ้าตะเบงชเวตี้กำลังทำสงครามกับอาณาจักรยะไข่ เมื่อ พ.ศ. 2089-2090 พระมหาจักรพรรดิมีพระบัญชาให้เจ้าเมืองกาญจนบุรีและเจ้าเมืองตะดอกะยกกองทัพโจมตีเมืองทวาย จนถูกตีแตก เมื่อความทราบถึงพระเจ้าตะเบงชเวตี้ พระองค์จึงโปรดให้แต่งกองทัพไปชิงเมืองคืน ฝ่ายอยุธยาเห็นไพร่พลของพระเจ้าตะเบงชเวตี้ยกมามหาศาลจึงถอยทัพ ฝ่ายหงสาวดีจึงยึดเมืองทวายคืนได้สำเร็จ จากนั้นฝ่ายหงสาวดีรุกไล่โจมตีไปถึงเมืองทองผาภูมิ ตีกองทัพฝ่ายอยุธยาแตกพ่ายกลับไปหมด ได้ทรัพย์สินไพร่พลจำนวนมาก กระทั่ง พ.ศ. 2091 พระเจ้าตะเบงชเวตี้จึงโปรดให้ยกทัพโจมตีกรุงศรีอยุธยา

ขณะที่ “ประวัติศาสตร์พม่า” (หม่องทินอ่อง) ระบุว่า พระมหาจักรพรรดิ กษัตริย์พระองค์ใหม่แห่งกรุงศรีอยุธยา โจมตี “ชายแดนพม่า” เป็นการทำสงครามเพื่อเพิ่มพูนพระบารมี ทว่า พระเจ้าตะเบงชเวตี้ทรงเริ่มเบื่อหน่ายการสงครามแล้ว จึงทรงมีพระราชประสงค์เจรจาอย่างสันติกับกรุงศรีอยุธยา ทูลขอให้พระมหาจักรพรรดิส่งช้างเผือกมาถวายเป็นบรรณาการ ตามวิธีการทูตแบบยื่นคำขาดของพม่า แต่ฝ่ายอยุธยาปฏิเสธจึงนำมาสู่สงคราม ใน พ.ศ. 2091

ขณะที่หลักฐานฝ่ายไทย ไม่ได้ระบุถึงการยกกองทัพไปโจมตีดินแดนพม่า ที่แปลกกว่านั้นคือ “พงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม)” กล่าวถึงการยกกองทัพมาโจมตีกรุงศรีอยุธยาของพระเจ้าตะเบงชเวตี้ถึง 2 ครั้ง ขณะที่หลักฐานไทยกล่าวไว้เพียงครั้งเดียว

“พงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม)” ระบุว่า แผ่นดินอยุธยาปรากฏเป็นทุรยุคจลาจลนับแต่พระไชยราชาธิราชสวรรคต ความทราบถึงพระเจ้าตะเบงชเวตี้ จึงทรงมีพระราชดำริว่า “ถ้าพระนครศรีอยุธยาเป็นดังนี้จริง เห็นว่าหัวเมืองขอบขัณฑสีมาและเสนาพฤฒามาตย์ทั้งปวง จะกระด้างกระเดื่องมิปกติ ถ้ายกกองทัพรุดไปโจมตีเอา เห็นจะได้พระนครศรีอยุธยาโดยง่าย”

พงศาวดารระบุต่อไปว่า เมื่อยึดเมืองกาญจนบุรีได้แล้วทราบข่าวว่า เหตุการณ์ในกรุงศรีอยุธยากลับเป็นปกติแล้ว พระมหาจักรพรรดิครองราชสมบัติกรุงศรีอยุธยาสืบต่อ พระเจ้าตะเบงชเวตี้จึงตรัสว่า “ได้ล่วงเกินมาถึงนี่แล้ว จะกลับเสียนั้นไม่มีเกียรติยศเลย จะเข้าไปเหยียบให้ถึงชานเมืองพอเห็นพระนครแล้วจะกลับ ประการหนึ่งจะได้ดูมือทหารกรุงศรีอยุธยา ผู้ใดจะออกรับทัพเราบ้าง” ตรัสแล้วก็ยกกองทัพโจมตีเมืองสุพรรณบุรี

พระมหาจักรพรรดิตกพระทัย ตรัสเร่งให้ไพร่พลเข้าป้องกันรักษาพระนครเป็นโกลาหล พระเจ้าตะเบงชเวตี้ตั้งกองทัพอยู่ที่ลุมพลี 3 วัน ทอดพระเนตรกำแพงเมืองกรุงศรีอยุธยา รวมทั้งปราสาทราชมณเฑียรแล้ว ก็เลิกทัพกลับกรุงหงสาวดี

สมัยพระเจ้าตะเบงชเวตี้

สงครามที่ฝ่ายหงสาวดียกเข้ามาประชิดพระนครกรุงศรีอยุธยาครั้งแรกคือ สงครามพระเจ้าตะเบงชะเวตี้ เมื่อ พ.ศ. 2091

“มหาราชวงษ์พงษาวดารพม่า” (นายต่อ แปล) อธิบายว่า ใน พ.ศ. 2091 พระเจ้ามางตราตะบิงสอยตี หรือพระเจ้าตะเบงชเวตี้ โจมตีกรุงศรีอยุธยาโดยเดินทัพผ่านเมืองกาญจนบุรีและเมืองราชบุรี ทำการรบพุ่งกับฝ่ายอยุธยาที่ออกมารับศึกนอกพระนคร แต่สองฝ่ายต่างก็เสียไพร่พลไปมาก กองทัพของพระเจ้าตะเบงชเวตี้มิอาจตีหักเอาเมืองมาได้ เนื่องจากฝ่ายอยุธยาป้องกันเมืองสุดความสามารถ ทหารฝ่ายหงสาวดีปีนกำแพงเมืองไม่ได้ คูเมืองลึก กว้าง มีคูน้ำล้อมรอบ และกำแพงเมืองก็สูง จึงได้แต่ล้อมกรุงศรีอยุธยาไว้ราวเดือนหนึ่ง พระเจ้าตะเบงชเวตี้จึงตัดสินพระทัยว่า หากล้อมเมืองอยู่อย่างนี้จะเสียเวลาเปล่า จึงถอยทัพไปตีหัวเมืองเหนือ เช่น กำแพงเพชร สุโขทัย พิษณุโลก ให้ได้เสียก่อน “เมื่อได้หัวเมืองเหล่านี้แล้วกรุงศรีอยุทธยาก็จะไม่พ้นเงื้อมมือเราเปนแน่”

ขณะที่ “ประวัติศาสตร์พม่า” (หม่องทินอ่อง) ได้ให้รายละเอียดว่า พระเจ้าตะเบงชเวตี้ยกกองทัพโจมตีกรุงศรีอยุธยาผ่านด่านพระเจดีย์สามองค์ ระหว่างทางถูกโจมตีทำให้เสียเวลาไปมาก ทำให้ฝ่ายอยุธยามีเวลาจัดเตรียมกำลังตั้งรับป้องกันเมือง กองทัพของพระเจ้าตะเบงชเวตี้มิอาจตีหักเอาเมืองมาได้ จึงล้อมอยุธยาไว้ แต่กองทัพของพระองค์มีจำนวนไม่มากพอที่จะล้อมให้ได้ผล จึงตัดสินพระทัยถอยทัพเพื่อมิให้เสียหายไปมากกว่านั้น

ฝ่ายอยุธยาได้ส่งกองทัพติดตาม แต่เสียทีแก่ฝ่ายหงสาวดี ซึ่งจับได้ตัว “พระอนุชาและพระราชบุตรเขยของกษัตริย์” ฝ่ายอยุธยาจึงเจรจายอมสงบศึก ฝ่ายหงสาวดีขอให้ส่งช้างเผือก 2 ช้าง และของมีค่าอื่น ๆ กับให้ส่งช้างให้อีกปีละ 30 ช้าง เงินและภาษีอีกจำนวนหนึ่ง หม่องทินอ่อง ระบุว่า นี่เป็น “ชัยชนะทางเทคนิค” ของพระเจ้าตะเบงชเวตี้

“มหาราชวงษ์พงษาวดารพม่า” (นายต่อ แปล) กล่าวถึงบุคคลที่ถูกฝ่ายหงสาวดีจับตัวไว้คือ “ออกยาลครอินท์” เป็นพระราชบุตรเขย “พระอนุชา” และ “พระราชบุตร” ของกษัตริย์อยุธยารวมอีก 2 พระองค์ ซึ่งฝ่ายอยุธยาได้รุกไล่ติดตามฝ่ายหงสาวดีมาถึงบริเวณเมืองกำแพงเพชร (ซึ่งกลายเป็นเมืองร้างไปแล้วเพราะชาวบ้านหนี้เข้าป่าไปหมด) ขณะที่ฝ่ายหงสาวดีกำลังจะเข้าตีหัวเมืองเหนืออื่น ๆ (แต่ภายหลังพระเจ้าตะเบงชเวตี้ปรึกษากับขุนนางแล้วเห็นควรให้ถอยทัพกลับ ให้ยกมาโจมตีครั้งหน้าด้วยยุทธวิธีที่พร้อมกว่านี้)

ฝ่ายอยุธยาจึงส่งขุนนางมาเจรจาและยอมสวามิภักดิ์ ถวายบรรณาการเป็นช้างต้น 2 ช้าง ช้างลักษณะงามอีก 2 ช้าง รวม 4 ช้าง พร้อมราชบรรณาการอื่น ๆ ทั้งนี้ ยังจะถวายบรรณาการทุก ๆ ปี เป็นช้างศึกปีละ 30 ช้าง เงิน 300 กับภาษีเก็บได้จากท่าเรือสำเภาเมืองตะนาวศรีทุกปี พระเจ้าตะเบงชเวตี้ก็รับพระราชไมตรี จากนั้นจึงเสด็จกลับกรุงหงสาวดี

“พงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม)” กล่าวถึงสงครามครานี้ว่าเริ่มขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2086 สืบเนื่องมาจากครั้งก่อนที่พระเจ้าตะเบงชเวตี้ยกกองทัพมาทอดพระเนตรกรุงศรีอยุธยา พระเจ้าตะเบงชเวตี้ทรงมีพระราชดำริว่า “ครั้งก่อนเรายกทัพรุดไปพระนครศรีอยุธยา พลแต่ 30,000 ล่วงเข้าตั้งถึงชานเมืองตำบลลุมพลี หามีผู้ใดปะทะมือไม่” ครั้งนี้พระองค์จึงรวบรวมไพร่พลให้มากกว่าครั้งก่อน 10 เท่า แล้วโจมตีกรุงศรีอยุธยา

สงครามครั้งนี้ “พงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม)” ระบุว่าพระนาม “พระสุริโยทัย” คือผู้ที่กระทำยุทธหัตถีและสิ้นพระชนม์ในการครั้งนั้น พงศาวดารฉบับนี้อธิบายว่า การเลิกทัพของพระเจ้าตะเบงชเวตี้มีปัจจัย 2 ประการคือ เสบียงอาหารของกองทัพขาดแคลน และกองทัพหัวเมืองเหนือ ซึ่งมีสมเด็จพระมหาธรรมราชา พระราชบุตรเขยของพระมหาจักรพรรดิยกกองทัพมาช่วย ซึ่งอาจตีกระหนาบกองทัพของพระเจ้าตะเบงชเวตี้

พงศาวดารฉบับนี้ระบุต่อไปว่า พระราเมศวรกับพระมหินทราธิราชถูกฝ่ายหงสาวดีจับตัวไว้ ทำให้พระมหาจักรพรรดิทรงตกพระทัย แต่งพระราชสาส์นขอเจริญพระราชไมตรี ทรงขอให้ปล่อยพระราชโอรส และอย่าได้มีอาฆาตจองเวรอีกต่อไป พระเจ้าตะเบงชเวตี้จึงปล่อยตัวทั้งสองพระองค์ แลกกับช้างเผือก 2 ช้าง แต่เมื่อนำช้างมาถวาย ช้างตกใจไม่คุ้นเสียงควาญ พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้จึงรับสั่งให้ถวายช้างคืนกลับไป แล้วเสด็จกลับกรุงหงสาวดีผ่านด่านแม่ละเมา

“พงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐ” กล่าวถึงสงครามครานี้ว่า เริ่มขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2091 ระบุเพียงสั้น ๆ ว่า เมื่อพระมหาจักรรพรรดิครองราชย์ได้ 7 เดือน “พญาหงษาปังเสวกี” หรือพระเจ้าตะเบงชเวตี้ยกกองทัพโจมตีกรุงศรีอยุธยา ผู้ที่กระทำยุทธหัตถีจนสิ้นพระชนม์คือ “สมเด็จพระอัครมเหสี” และ “สมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระราชบุตรี” ต่อมา ฝ่ายหงสาวดีได้ตัวพระราเมศวรและพระมหาธรรมราชา ฝ่ายอยุธยาจึงเอาช้างต้นไปแลก นำไปถวายพระเจ้าตะเบงชเวตี้ที่เมืองกำแพงเพชร แล้วจึงได้ตัวทั้งสองพระองค์กลับคืน

“คำให้การชาวกรุงเก่า” กล่าวถึงมูลเหตุสงครามระหว่างพระเจ้าตะเบงชเวตี้กับพระมหาจักรรพรรดิว่า เนื่องมาจากพระมหาจักรรพรรดิได้ช้างเผือก 7 ช้าง จนกิตติศัพท์ลือเลื่องไปถึงกรุงหงสาวดี พระเจ้าตะเบงชเวตี้ส่งพระราชสาส์นขอช้างเผือก แต่พระมหาจักรรพรรดิส่งพระราชสาส์นตอบปฏิเสธ พระเจ้าตะเบงชเวตี้จึงจัดกองทัพไพร่พลโจมตีกรุงศรีอยุธยา แต่ทั้งสองฝ่ายสู้รบบาดเจ็บล้มตายเป็นอันมาก จึงเจรจาจะกระทำยุทธหัตถี แต่เมื่อถึงวันนัดหมาย พระมหาจักรรพรรดิทรงพระประชวร “พระบรมดิลก” พระราชธิดาวัย 16 พรรษา จึงกระทำยุทธหัตถีแทน จนเสียทีสิ้นพระชนม์ พระเจ้าตะเบงชเวตี้เห็นว่า ทรงชนช้างกับสตรีทำให้เสื่อมเสียเกียรติยศ จึงยกทัพกลับ

สมัยพระเจ้าบุเรงนอง

พระเจ้าตะเบงชเวตี้สวรรคตเมื่อ พ.ศ. 2093 พระเจ้าบุเรงนองครอบราชสมบัติกรุงหงสาวดีสืบต่อ จนเมื่อ พ.ศ. 2106 จึงยกกองทัพโจมตีกรุงศรีอยุธยา

“มหาราชวงษ์พงษาวดารพม่า” (นายต่อ แปล) เล่าว่า พ.ศ. 2106 พระเจ้าบุเรงนองทรงมีพระราชดำริว่า “เมื่อครั้งพระเจ้าตะบิงสอยตีซึ่งเปนพระอนุชาเสวยราชสมบัติกรุงหงษาวดีนั้น กรุงศรีอยุทธยามีเสวตร์กุญชรถึง 4 ช้าง ถ้าเราขอได้สักช้างหนึ่ง พระเจ้ากรุงศรีอยุทธยากับเราก็จะเปนไมตรี…ตราบเท่ากัลปาวะสาร” พระเจ้าบุเรงนองจึงส่งพระราชสาส์นไปขอช้างเผือกช้างหนึ่ง ฝ่ายอยุธยามีพระราชสาส์นตอบปฏิเสธ พระเจ้าบุเรงนองจึงยกกองทัพโจมตีกรุงศรีอยุธยา

“ประวัติศาสตร์พม่า” (หม่องทินอ่อง) อธิบายว่า เมื่อพระเจ้าเชษฐาธิราช กษัตริย์ล้านช้าง เป็นไมตรีกับกรุงศรีอยุธยา ซึ่งหมายต่อต้านพระราชอำนาจของพระเจ้าบุเรงนอง ดังนั้น จึงทรงเรียกร้องช้างเผือกเป็นบรรณาการ โดยอ้างจากการที่กรุงศรีอยุธยาเคยส่งบรรณาการให้พระเจ้าตะเบงชเวตี้มาก่อน แต่ฝ่ายอยุธยาปฏิเสธ ส่งสาส์นถึงพระเจ้าบุเรงนองว่า “ราชมิตร ช้างเผือกนั้นเกิดขึ้นแต่เฉพาะกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ ผู้ปกครองไพร่ฟ้าด้วยความยุติธรรม กษัตริย์พม่าเป็นกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่มีอำนาจและปกครองแผ่นดินด้วยความยุติธรรม ไม่มีข้อสงสัยเลยว่าพระองค์อาจจะเป็นเจ้าของช้างเผือกในเวลาอันสมควรได้” พระเจ้าบุเรงนองไม่พอพระทัยพระราชสาส์นนั้นจึงตระเตรียมกองทัพโจมตีกรุงศรีอยุธยา

แผนการครั้งนี้ “มหาราชวงษ์พงษาวดารพม่า” (นายต่อ แปล) ฉายให้เห็นว่า ฝ่ายหงสาวดีโจมตีหัวเมืองเหนือก่อน ผิดกับสงครามคราวก่อนที่มุ่งโจมตีกรุงศรีอยุธยาโดยตรง หลังจากยึดเมืองกำแพงเพชรได้แล้ว ขุนนางกราบทูลพระเจ้าบุเรงนองว่า “เวลานี้ขอพระองค์ทรงเสด็จยกไปตีเมืองศุโขทัย พิศณุโลกย์ สวรรคโลกย์ พิไชย เมืองตะนาวศรี เสียจึงจะควร ถ้าพระองค์ทรงเสด็จตีหัวเมืองเหล่านี้ได้แล้ว พระเจ้าอยุทธยาก็สิ้นกำลังดุจสกุณาปีกหลุดเปนแน่”

“มหาราชวงษ์พงษาวดารพม่า” (นายต่อ แปล) และ “ประวัติศาสตร์พม่า” (หม่องทินอ่อง) อธิบายในลักษณะเดียวกันว่า เมื่อพระเจ้าบุเรงนองยกกองทัพประชิดกรุงศรีอยุธยา ต่างฝ่ายต่างทำการรบพุ่งบาดเจ็บล้มตายไปมาก แลเห็นชาวบ้านสมณชีพราหมณ์เดือดร้อน จึงเจรจากับพระมหาจักรพรรดิเพื่อยุติสงครามและเจริญพระราชไมตรีสืบไปภายหน้า โดยฝ่ายอยุธยาต้องส่งบรรณาการรายปี ประกอบด้วยช้าง 30 ช้าง เงินและภาษีอีกจำนวนหนึ่ง (“มหาราชวงษ์พงษาวดารพม่า” (นายต่อ แปล) ระบุว่า ฝ่ายอยุธยาถวายช้างเผือก 4 ช้าง บรรณาการรายปี เป็นช้างศึกปีละ 30 ช้าง เงิน 300 กับภาษีเก็บได้จากท่าเรือสำเภาเมืองตะนาวศรีทุกปี)

พระเจ้าบุเรงนองทรงแต่งตั้งพระมหิทราธิราชปกครองกรุงศรีอยุธยา ส่วนพระมหาจักรพรรดิถูกนำตัวไปยังกรุงหงสาวดี ในฐานะ “เจ้านายเชลยศึก” และปรากฏในกาลต่อมาว่า พระมหาจักรพรรดิได้รับอนุญาตให้ทรงผนวชได้ และขออนุญาตกลับไปจำวัดที่กรุงศรีอยุธยาเป็นครั้งสุดท้าย ให้เหตุผลว่า เพราะทรงพระชราแล้ว หลังจากถวายคำสัตย์ปฏิญาณและสัญญาว่าจะกลับมายังกรุงศรีอยุธยา พระเจ้าบุเรงนองก็ทรงอนุญาต แต่กาลหาเป็นเช่นนั้นไม่ เมื่อพระมหาจักรพรรดิเสด็จกลับมาถึงกรุงศรีอยุธยาก็สึกลาผนวช และวางแผนกับพระราชโอรสจปลดแอกกรุงศรีอยุธยาจากกรุงหงสาวดี

“พงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐ” กล่าวว่า พ.ศ. 2106 “พระเจ้าหงษานีพัตร” หรือพระเจ้าบุเรงนอง ยกกองทัพโจมตีหัวเมืองเหนือทั้งปวง ก่อนจะยกพลลงมายังกรุงศรีอยุธยา แล้วระบุว่า “ครั้งนั้นฝ่ายกรุงพระมหานครศรีอยุธยาออกเปนพระราชไมตรี แลสมเด็จพระมหากษัตริย์เจ้าทั้งสองฝ่ายเสด็จมาทำสัตยาธิษฐานหลั่งน้ำทักษิโณทก… แล้วจึงพระเจ้าหงษาขอเอาสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระราเมศวรเจ้า แลช้างเผือก 4 ช้างไปเมืองหงษา”

“คำให้การชาวกรุงเก่า” ระบุว่า เมื่อถึง พ.ศ. 2104 พระเจ้าบุเรงนอง ยกกองทัพไพร่พลกว่า 900,000 คน โจมตีกรุงศรีอยุธยา กระทำการรบพุ่งกันดุเดือดแต่ไม่อาจหักเอาชัยชนะมาได้เด็ดขาด จึงตกลงเจรจาหย่าศึกและเจริญพระราชไมตรีต่อกัน พระมหาจักรพรรดิถวายช้างเผือกให้พระเจ้าบุเรงนองช้างหนึ่ง สงครามคราวนี้จึงเป็นอันยุติ

“พงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม)” ระบุว่า เมื่อพระมหาจักรพรรดิทรงได้ช้างเผือกสำคัญมาอีกหลายช้าง จนสมเด็จพระสังฆราชพระราชาคณะ เสนาอำมาตย์ ราชปุโรหิต ถวายพระนามให้พระมหาจักรพรรดิว่า “พระเจ้าช้างเผือก” จนกิตติศัพท์ลือเลื่องว่า อยุธยามีช้างเผือกถึง 7 ช้าง พระเจ้าตะเบงชเวตี้จึงทรงขอช้างเผือก 2 ช้าง แต่ฝ่ายอยุธยาปฏิเสธ จึงนำมาสู่สงคราม ถึงปลาย พ.ศ. 2091 พระเจ้าบุเรงนองรวมกองทัพจากเมืองขึ้นต่าง ๆ ได้กว่า 900,000 คน โจมตีกรุงศรีอยุธยา

พระเจ้าบุเรงนองยกกองทัพโจมตีเมืองพิษณุโลกกวาดต้อนเอาหัวเมืองเหนือทั้งปวงมาเป็นกำลังของฝ่ายหงสาวดีได้จำนวนมาก แล้วยกกองทัพประชิดกรุงศรีอยุธยาตั้งค่ายรายล้อมพระนคร พระมหาจักรพรรดิมีพระราชดำริว่า “ศึกครั้งนี้ใหญ่หลวงนัก เห็นเหลือมือกำลังทหารจะกู้พระนครไว้ได้ ถ้าเรามิออกไป สมณชีพราหมณ์ประชาราษฎรไพร่ฟ้าข้าทาสขอบขัณฑสีมา จะถึงแก่พินาศฉิบหายสิ้น…” จากนั้นจึงทำการเจรจาหย่าศึกระหว่างทั้งสองฝ่าย

พระเจ้าบุเรงนองทรงขอช้างเผือกเพิ่มอีก 2 ช้าง รวม 4 ช้าง และขอตัวพระราเมศวรไปเลี้ยงเป็นพระราชโอรสที่กรุงหงสาวดีด้วย เบื้องแรกพระมหาจักรพรรดิมิทรงยินยอม ทรงขอตัวพระราเมศวรไว้สืบพระราชวงศ์ แต่พระเจ้าบุเรงนองตรัสว่า พระมินทราธิราชผู้น้องก็สืบพระราชวงศ์ได้ หากเมื่อพระมหาจักรพรรดิสวรรคตวันใด พี่น้องก็จะทะเลาะกัน พระมหาจักรพรรดิจึงต้องทรงยอมตามพระราชประสงค์ของพระเจ้าบุเรงนอง

เห็นได้ชัดว่า หลักฐานไทยฉายให้เห็นว่า ฝ่ายหงสาวดีเป็นผู้รุกรานก่อน กลับกันหลักฐานพม่าก็ฉายให้เห็นว่า ฝ่ายอยุธยาเป็นผู้รุกรานก่อน ซึ่งสงครามระหว่าง 2 อาณาจักร มีปัจจัยหลายประการ ไม่ว่าจะเป็น การแย่งชิงอำนาจในดินแดนชายฝั่งอ่าวเมาะตะมะ ปัญหาในดินแดนล้านช้าง-ล้านนา-ไทยใหญ่ ซึ่งส่งผลมาถึงทั้ง 2 อาณาจักร แต่ประการหนึ่งที่สำคัญคือ คติ “พระเจ้าจักรพรรดิราช”

“พระเจ้าจักรพรรดิราช” เป็นราชาในอุดมคติที่ปกครองโดยอาศัยธรรมเป็นที่ตั้ง และทรงมีบุญญาบารมีมากถึงกับแผ่ขยายพระราชอำนาจไปทั่วทั้งชมพูทวีปและอีก 3 ทวีปใหญ่ที่เหลือ แนวความคิดนี้ส่งผลต่อกษัตริย์ในอุษาคเนย์ทั้งหลายอาณาจักร รวมถึงกรุงหงสาวดีและกรุงศรีอยุธยา ซึ่งพระมหากษัตริย์ปรารถนาที่จะเป็นพระจักรพรรดิราชแต่เพียงพระองค์เดียว จึงต้องทำสงครามเพื่อขยายปริมณฑลแห่งอำนาจ

พระเจ้าบุเรงนองยึดกรุงศรีอยุธยาอย่างเบ็ดเสร็จ ใน พ.ศ. 2112 (เสียกรุงฯ ครั้งที่ 1) และได้แต่งตั้งพระมหาธรรมราชา เป็นพระมหากษัตริย์ครองกรุงศรีอยุธยา ตลอดช่วงสงครามนับแต่สมัยพระเจ้าตะเบงชเวตี้ถึงพระเจ้าบุเรงนองนี้ ศาสตราจารย์ ดร. สุเนตร ชุตินธรานนท์ ชี้ว่า ส่งผลดีต่อการสร้างเสถียรภาพภายในกรุงศรีอยุธยา เพราะถอนรากถอนโคนขุนนางที่สนับสนุนพระมหาจักรพรรดิ และช่วยขจัดผู้นำทางการเมืองของราชวงศ์สุพรรณภูมิออกไปได้เด็ดขาด คือ พระราเมศวร ซึ่งถูกนำไปเป็นองค์ประกันตั้งแต่สงครามเมื่อ พ.ศ. 2106 พระมหาจักรพรรดิที่เสด็จสวรรคตก่อนเสียกรุงฯ ไม่นาน และพระมหินทราธิราชก็ถูกนำไปเป็นองค์ประกันที่หงสาวดีหลังเสียกรุงฯ เหล่านี้ทำให้กลุ่มอำนาจใหม่ที่มีราชวงศ์สุโขทัยเป็นผู้นำนั้น กลายเป็นกลุ่มการเมืองที่ทรงพลังกลุ่มเดียว มีอำนาจเด็ดขาดเหนือกรุงศรีอยุธยา


อ้างอิง :

พงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับหลวงประเสิรฐ คำให้การชาวกรุงเก่า คำให้การขุนหลวงหาวัด. (2553). นนทบุรี : ศรีปัญญา.

นายต่อ (ผู้แปล). (2545). มหาราชวงษ์พงษาวดารพม่า. กรุงเทพฯ : มติชน.

สุเนตร ชุตินธรานนท์. (2562). พม่ารบไทย. พิมพ์ครั้งที่ 15. กรุงเทพฯ : มติชน.

หม่องทินอ่อง. เพ็ชรี สุมิตร (ผู้แปล). (2551). ประวัติศาสตร์พม่า. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์.


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 23 กันยายน 2563