พระราชวินิจฉัย “รัชกาลที่ 6” ว่าด้วยพฤติกรรมนักเรียนกลุ่มแรกไปเรียนเมืองนอก

รัชกาลที่ 6
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6

พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงมีพระราชวินิจฉัย ถึง “นักเรียน” กลุ่มแรกไปเรียนเมืองนอก พระองค์ทรงมีพระราชวิจารณ์พฤติกรรมที่ “ช่วยส่งเสริมความเชื่อที่ว่า คนไทยเราไม่สามารถที่จะยกตัวขึ้นให้เสมอกับชาวยุโรปในเชิงทำการงานอันเป็นประโยชน์” เนื้อหาส่วนหนึ่งมีใจความว่า

“ถ้าจะว่าไปแล้ว ต้องนับว่ามีพวกนักเรียนซึ่งได้ส่งออกศึกษาวิชาการ ณ ประเทศยุโรปชุดแรกนั้น มีความผิดอยู่บ้างในเรื่องนี้ การที่ส่งนักเรียนไปศึกษาในยุโรปนั้น ไม่มีใครปฏิเสธได้เลยว่าเป็นทางที่ไม่ชอบ เพราะความมุ่งหมายมีอยู่ที่จะให้เขาเหล่านั้นได้ไปแสวงวิชา เพื่อจะได้สามารถทำการงานอย่างที่เราต้องจ้างฝรั่งทำอยู่นั้นได้

พวกนักเรียนชุดแรกเหล่านี้ได้ไปแสวงหาความรู้มาได้ต่างๆ กัน และวิชาซึ่งเห็นได้อย่างชัดที่สุดนั้น ก็คือ ในแผนกหาความสุขสำราญส่วนตัวอย่างฝรั่ง กล่าวคือ การยิงนก ซึ่งมันหาผิดมิได้ กับการดื่มเหล้าบรั่นดีกับโซดา อันทำลายกำลังกายและกำลังความคิดตนเอง

เมื่อได้วิชาดังที่กล่าวนี้มาแล้ว ซ้ำหันเข้าไปหานิสัยเกียจคร้านเดิมของตน เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วก็…นั้นแหละ ! ถ้าเขาไม่ได้ออกไปจากบ้านเรือนเสียแต่แรกจะดีกว่า ! ตัวอย่างอันเลวทรามดังกล่าวมานี้กลับช่วยส่งเสริมความเชื่อที่ว่า คนไทยเราไม่สามารถที่จะยกตัวขึ้นให้เสมอกับชาวยุโรปในเชิงทำการงานอันเป็นประโยชน์ พวกนักเรียนเหล่านี้กลับทำชื่อเสียงของตัวให้ปรากฏว่าเป็นคนอวดดี และนอกจากนี้ก็ทำอะไรไม่ได้เลย”

พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 [ส. วัฒนเศรษฐ์, เกียรติคุณพระมงกุฎเกล้าฯ (พระนคร: วัฒนาพานิช, 2500), หน้า 441-442]

คลิกอ่านเพิ่มเติม : นร.หญิงรุ่นบุกเบิก ที่ได้เป็น “นักเรียนนอก” เมื่อ 100 กว่าปีก่อน เป็นใคร ไปเรียนที่ไหน?


หมายเหตุ : เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 30 พฤศจิกายน 2559