ความสำคัญของจันทบุรี เมืองอัน “เป็นที่รัก” ในรัชกาลที่ 5 และให้ความสําราญใจ-กาย

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5

จันทบุรี เป็นเมืองสำคัญทางชายฝั่งตะวันออกของประเทศไทยมาหลายยุคหลายสมัย ตั้งแต่สมัยปลายอยุธยา พระเจ้าตากสินทรงเลือกเมืองจันทบุรี เป็นฐานที่มั่นหลักในการสะสมไพร่พลเพื่อกู้กรุงคืน ครั้นมาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ เมืองจันทบุรีปรากฏความสำคัญอีกครั้งหนึ่งในคราวถูกยึด ตกเป็นของนักล่าอาณานิคมชาวฝรั่งเศส ในวิกฤตการณ์ ร.ศ. 112

เมื่อจันทบุรีกลับคืนสู่สยาม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จพระราชดำเนินเยือนเมืองจันทบุรีเมื่อ พ.ศ. 2450 ทรงมีพระราชดำรัสตอบแด่ชาวเมืองในคราวนั้น ซึ่งสะท้อนถึงความสำคัญของเมืองจันทบุรีต่อประเทศชาติและต่อพระองค์เอง ซึ่งเป็นเมืองอัน “เป็นที่รัก” ของรัชกาลที่ 5 ดังความว่า

“ดูกรประชาชนอันเป็นที่รักของเรา ถ้อยคําอันไพเราะซึ่งได้กล่าวต้อนรับแลอํานวยพร อันเจ้าทั้งหลายได้ให้ฉันทะมากล่าวเฉพาะหน้าเราเวลานี้ เป็นที่พอใจแลจับใจเป็นอันมาก

เมืองจันทบุรีนี้แต่เดิมมาย่อมเป็นที่เราไปมาเยี่ยมเยียนอยู่เป็นนิตย์ ได้รู้สึกว่าเป็นเมืองหนึ่งซึ่งอาจจะบำบัดโรค แลให้ความสําราญใจสําราญกาย เพราะได้มาอยู่ในที่นี้เป็นหลายคราว จึงเป็นที่รัก มุ่งหมายจะบำรุงให้มีความจำเริญยิ่งขึ้น ความคุ้นเคยต่อประชาชนในที่นี้ย่อมมีเป็นอันมากดุจเจ้าทั้งหลายระลึกได้ ถึงว่าเราต้องห่างเหินไป ไม่ได้มาเยี่ยมเมืองนี้ถึง 14-15 ปีด้วยความจําเป็น แต่มิได้ละเลยความผูกพันในใจที่จะบํารุงเมืองนี้ให้อยู่เย็นเป็นสุข แลมีใจระลึกถึงประชาชนทั้งหลายอันเป็นที่รักที่คุ้นเคยกัน แลได้ฟังข่าวสุขทุกข์ของเจ้าทั้งหลายอยู่เป็นนิตย์

เมื่อเป็นโอกาสซึ่งจะได้มายังเมืองนี้ในครั้งแรก ซึ่งได้เลิกล้างไปช้านาน จึงมีความยินดีตักเตือนใจอยู่เสมอที่จะใคร่เห็นภูมิประเทศแลราษฎรอันเป็นที่รักของเรา ผลแห่งความมุ่งหมายอันแรงกล้านี้ ได้สําเร็จเป็นอันดี เป็นเหตุให้เกิดความชื่นชมโสมนัสในใจว่า บ้านเมืองมิได้เสื่อมทรามไป มีความสุขสมบูรณ์อยู่ สมดังความปรารถนา ทั้งได้เห็นหน้าพวกเจ้าทั้งหลายเบิกบานแสดงความชื่นชมยินดี ส่อให้เห็นความจงรักภักดีมิได้เสื่อมคลาย สมกับคําที่กล่าวว่า มีมิตรจิตแลมิตรใจในระหว่างตัวเราแลเจ้าทั้งหลาย ความรู้สึกอันนี้ย่อมมีแต่ความชื่นชมยินดีทวีขึ้น

บัดนี้เมืองจันทบุรีได้เป็นเมืองใหญ่ในมณฑลฝั่งทะเลตะวันออก ซึ่งรัฐบาลของเราได้คิดจะบํารุงให้เจริญดียิ่งขึ้น เราขอเตือนเจ้าทั้งหลายให้ตั้งหน้าทํามาหากินแลประพฤติตนให้สมควรแก่ความชอบธรรมซึ่งควรประพฤติ แลขอให้มีความไว้วางใจในตัวเราว่า จะเป็นผู้ชื่นชมยินดีในเวลาที่เจ้ามีความสุขสมบูรณ์มั่งคั่ง แลจะเป็นผู้เดือดร้อนกระวนกระวายในเวลาที่เจ้าทั้งหลายต้องภัยได้ทุกข์โดยอันใช่เหตุ ในเวลานี้เราขอแสดงความไว้วางใจ ว่าข้าราชการทั้งหลายคงจะได้ทําหน้าที่เพื่อจะทำนุบำรุงให้เจ้าทั้งหลายมีความสุขสมดังความปรารถนาของเรา ขออํานวยพรให้เจ้าทั้งหลายได้รับความเจริญสุขสวัสดิ์ทํามาค้าขายได้ผลเป็นสุขสมบูรณ์ทั่วกันทุกคน เทอญ.”

พระราชดํารัสตอบประชาชนเมืองจันทบุรี ในการที่เสด็จพระราชดําเนินเยี่ยมเมืองจันทบุรี เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน รัตนโกสินทรศก 126 (พ.ศ. 2450)

คลิกอ่านเพิ่มเติม : “จันทบุรี” เมือง “จันทร์ฉาย” หรือ เมืองแห่ง “ไม้จันทน์” ?


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 28 พฤษภาคม 2562