ผู้เขียน | กานต์ จันทน์ดี |
---|---|
เผยแพร่ |
เมื่อวันที่ 11 มิถุนายนที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสไปร่วมงานเปิดตัวหนังสือ “จันทบูร Shining Moon” ที่จังหวัดจันทบุรี มีคุณเมธี จึงสงวนสิทธิ์ พ่อค้าพลอยผู้ประสบความสำเร็จ เจ้าของ World Sapphire เป็นเจ้าภาพ ซึ่งคุณเมธีก็ได้พาเยี่ยมชมแกลลอรีพร้อมบรรยายที่มาที่ไปที่ทำให้เมืองจันท์ กลายมาเป็นศูนย์กลางของการค้าพลอยระดับโลกก็ว่าได้
จันทบุรีทำการค้าพลอยมานานแต่จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2511 คุณเมธีเล่าว่าในปีนี้ได้เกิดไฟไหม้ครั้งใหญ่ในจันทบุรีกว่าครึ่งเมือง รวมถึงบ้านพ่อค้าพลอย “ภายหลังเพลิงสงบ คุณสามเมือง (แก้วแหวน) พบว่าพลอยขุ่นที่ถูกความร้อนเผาไหม้ครั้งนี้เกิดการเปลี่ยนสี แต่ไม่ใช่ทั้งหมด แต่ก็ทำให้ทราบว่าต้องใช้ความร้อนเท่านี้จึงจะเปลี่ยนสีพลอยได้”
เมื่อเคล็ดลับนี้แพร่หลายออกไปก็ทำให้พ่อค้าพลอยเมืองจันท์ไปกว้านซื้อพลอยดิบจากหลายแห่งทั่วโลกที่คนท้องถิ่นไม่เห็นคุณค่า แต่พ่อค้าพลอยเมืองจันท์เอามาผ่านกระบวนการจนสร้างมูลค่าเพิ่มได้มหาศาลและทำให้เมืองจันท์กลายเป็นศูนย์กลางการค้าพลอยถึงปัจจุบัน
และเพื่อถ่ายทอดเรื่องราวดีๆ ของเมืองจันท์ที่ไม่ได้มีแต่เรื่องพลอย คุณเมธีจึงได้คิดทำหนังสือภาพขึ้นมาเล่มหนึ่ง หวังว่าจะได้เผยแพร่ก่อนแซยิด แต่ด้วยความพิถีพิถันเป็นพิเศษกว่าหนังสือเล่มนี้จะสำเร็จและได้เปิดตัวคุณเมธีก็อายุเกือบจะ 65 ปี เข้าไปแล้ว
ในงานนี้ยังมีคุณสุจิตต์ วงษ์เทศ มาเล่าเรื่องราวของเมืองจันท์ด้วยหัวข้อซิกเนเจอร์เฉพาะตัวในชื่อว่า “จันทบุรี มาจากไหน?”
ผมไม่ใช่คนเมืองจันท์ ตอนได้ยินชื่อ “จันทบุรี” ก็คิดว่า มันคงจะสื่อถึง “พระจันทร์” กระมัง (ก็ขนาดคนเมืองจันท์ ยังเชื่อมโยงชื่อเมืองกับพระจันทร์ กระทั่งชื่อหนังสือที่เปิดตัวในคราวนี้ก็ยังมีชื่อว่า “Shining Moon” เลย) แต่คุณสุจิตต์ได้ให้มุมมองใหม่ (สำหรับผม) ว่า คำว่า “จันท์” ในชื่อจันทบุรีนี้ แต่เดิมคงไม่ได้หมายถึงพระจันทร์หรอก แต่น่าจะหมายถึง “ไม้จันทน์” เสียมากกว่า
“ขอย้ำว่า ชื่อจันทบุรีเป็นชื่อที่ได้จากไม้จันทน์ จึงชื่อ ‘จันทบุรี’ จันทนะ นะครับ ไม่ใช่จันทระ ไม่ใช่ ‘Moon’…เป็นชื่อได้จากไม้จันทน์หรือต้นจันทน์…มันมีตัวเทียบคือชื่อ ‘เวียงจันทน์’ ประเทศลาว เวียงจันทน์มีตำนานอยู่ในตำนานพระธาตุพนมบอกว่า สร้างด้วยไม้จันทน์ ทั้งเมืองจึงมีกลิ่นหอม” คุณสุจิตต์กล่าว ก่อนเสริมว่า
“ชื่อจันทนะ คือไม้จันทน์เนี่ย มันมีตัวเทียบมากตั้งกะเวียงจันทน์จนถึงตำหนักจันทน์ พระเจ้าแผ่นดิน พระนเรศวรเนี่ยอยู่ตำหนักจันทน์ วังจันทน์ ‘จันทนะ’ ทั้งนั้นนะครับ เพราะฉะนั้นผมคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่จำเป็นที่ทางจังหวัดจะต้องอธิบายให้มาก”
ฟังแล้วมันอาจจะลดความโรแมนติกของชื่อเมืองลงไปสักนิดนึง เพราะสมัยนี้เวลาพูดถึงความงาม ความสุนทรียะ เรามักจะพูดถึงพระจันทร์มากกว่าไม้จันทน์ แต่จากคำอธิบายของคุณสุจิตต์ ไม้จันทน์ก็ถือว่ามีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน มีความเป็นมงคล แถมยังเป็นสินค้าส่งออกที่เป็นที่ต้องการมากมาแต่ครั้งโบราณ
การที่ “ไม้จันทน์” ถูกเอาไปใช้เป็นชื่อสถานที่สำคัญๆ ในที่อื่นๆ ในกลุ่มวัฒนธรรมเดียวกันจึงถือเป็นตัวอย่างที่ดี และมีความเป็นไปได้สูงที่แต่เดิมคำว่า “จันทบุรี” นี้หมายถึง เมืองแห่งไม้จันทน์ แต่ก็ไม่รู้ว่า คนเมืองจันท์ ในปัจจุบันจะชอบคำอธิบายและความหมายแบบไหนมากกว่ากัน?