“กฎหมายจึงมีจำนวนมากที่สุด ในยุคที่จักรภพมีการฉ้อฉลมากที่สุด” วาทะเด็ด “ตากิตุส” แห่งโรมัน

ตากิตุส
ตากิตุส (Drawing by Brooke, engraved by S. Freeman) ฉากหลัง กองทัพโรมันปะทะชาวบริตัน (The Trustees of the British Museum)

“กฎหมาย” เป็นสิ่งที่ถูกกำหนดขึ้นเพื่อให้สังคมปฏิบัติตาม ปรากฏขึ้นมาแล้วหลายพันปี ตากิตุส (Tacitus) นักการเมืองและนักประวัติศาสตร์โรมัน ผู้มีชีวิตในช่วง ค.ศ. 56-120 เคยกล่าวถึงเรื่องกฎหมายไว้ ปรากฏใน The Annals Book III ไว้ว่า

“…ไม่ว่าจะในช่วงสงครามแห่งอิตาลี หรือระหว่างสงครามกลางเมือง ไม่มีครั้งใดที่การออกกฎหมายจะหยุดชะงักลง ในทางตรงกันข้าม กฎหมายหลายฉบับถูกออกบังคับใช้หลังจากวิกฤตนั้นๆ เสียอีก แต่ในที่สุดซุลลาผู้เผด็จอำนาจ (Lucius Cornelius Sulla [138-79 BCE] กงสุลแห่งโรมสองสมัยและผู้รื้อฟื้นตำแหน่งผู้เผด็จอำนาจ [dictatorship] ขึ้นมาในช่วงที่เกิดสงครามกลางเมือง) ก็ได้ยกล้มเลิกกฎเกณฑ์เก่า แล้วบัญญัติกฎเกณฑ์ใหม่ขึ้นมาอีกมาก ซึ่งช่วยบรรเทาปัญหาลงได้ชั่วระยะเวลาหนึ่ง

อย่างไรก็ดี เพียงหลังจากนั้นไม่นาน สถานการณ์ก็เปลี่ยนไป การมุ่งหาความขัดแย้งและข้อเสนอต่างๆ ของเลปิดุส (Marcus Lepidus หนึ่งในพันธมิตรของจูเลียส ซีซาร์ ซึ่งช่วยให้ซีซาร์ได้ครองตำแหน่งผู้เผด็จอำนาจ) ตามมาด้วยการฟื้นฟูสถานะของพวกทริบูน (Tribune ตำแหน่งทางทหารและการเมืองของโรม ซึ่งเคยถูกจำกัดอำนาจในยุคของซุลลา) ให้กลับมามีอำนาจในการเล่นงานผู้คนได้ตามอำเภอใจอีกครั้ง ได้ทำให้ตอนนี้กฎหมายไม่ได้ถูกบัญญัติออกมาเพื่อประโยชน์สาธารณะเท่านั้น แต่ยังเป็นกฎหมายที่ออกมาเป็นการจำเพาะเพื่อใครบางคน; กฎหมายจึงมีจำนวนมากที่สุด ในยุคที่จักรภพมีการฉ้อฉลมากที่สุด…”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 4 ตุลาคม 2559