“เข้าไปตายก็ไม่เป็นไร ต้องมีศักดิ์ศรีมีสัจจะ” สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ตรัสตอบร.7

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 และ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี (ภาพจาก สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

“—เข้าไปตายก็ไม่เป็นไร ต้องมีศักดิ์ศรีมีสัจจ

เป็นพระราชดำรัสตอบของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสถามความเห็น ครั้งคณะราษฎรปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.. 2475 และได้ส่งคนมากราบบังคมทูลเชิญเสด็จฯ จากวังไกลกังวลกลับสู่กรุงเทพฯ เพื่อเป็นพระมหากษัตริย์ปกครองบ้านเมืองภายใต้รัฐธรรมนูญต่อไป

การเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้นเป็นเรื่องที่พระมหากษัตริย์ไทยนับแต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงคาดคิดมาก่อนและทรงมีความตั้งพระทัยที่จะพระราชทานรัฐธรรมนูญให้แก่ประชาชนชาวไทยเมื่อสถานการณ์และทุกคนในชาติมีความพร้อม

ระหว่างนั้นก็ทรงวางพื้นฐานปรับเปลี่ยนคตินิยมและความเชื่อที่ฝังหัวมาแต่โบราณว่า พระเจ้าแผ่นดินคือเทพเจ้าอวตารมาเกิดจึงมีความเชื่อว่าพระเจ้าแผ่นดินเพียงพระองค์เดียวเท่านั้นที่จะสามารถปกป้องคุ้มครองภัยให้ราษฎรและบ้านเมืองได้ ทุกคนในแผ่นดินมีหน้าที่เชื่อและทำตามพระบรมราชโองการอย่างเคร่งครัด ซึ่งตรงข้ามกับคตินิยมและความเชื่อของชาวตะวันตกว่า การที่บ้านเมืองใดจะเจริญรุดหน้ารวดเร็ว ทุกคนในบ้านเมืองจะต้องมีสิทธิมีเสียงในการบริหารประเทศ

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตระหนักพระทัยว่าการปกครองแบบเดิมจะเป็นการปกครองที่ล้าสมัย การปกครองแบบใหม่จึงจะทำให้บ้านเมืองเจริญและรอดพ้นจากภัยคุกคามของชาวตะวันตก แต่ทรงพบว่าราษฎรในขณะนั้นยังมีความเชื่อตามแบบเก่าและไม่มีความรู้เกี่ยวกับการปกครองแบบใหม่เลย จึงทรงพยายามปูพื้นฐานให้การศึกษาแก่ประชาชนในทุกๆ ด้าน

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงสืบทอดพระบรมราโชบายจากสมเด็จพระบรมราชชนก นอกจากจะทรงสนับสนุนให้การศึกษาแก่ราษฎรกว้างขวางยิ่งขึ้น ยังทรงเริ่มปลูกฝังวิธีการปกครองระบอบประชาธิปไตยให้แก่บุคคลใกล้ชิด เช่น การตั้งดุสิตธานี แต่ในรัชสมัยนี้ก็ยังไม่พร้อมที่จะพระราชทานรัฐธรรมนูญ จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว แม้จะมิได้ทรงคาดหมายว่าจะได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ เพราะทรงเป็นรัชทายาทลำดับ 4 ต่อจากพระเชษฐา 3 พระองค์ แต่ทุกพระองค์ก็ทยอยสิ้นพระชนม์ไปจนหมด จึงจำเป็นต้องเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ ดังที่มีพระราชดำรัสกับผู้แทนคณะปฏิวัติที่เข้ามาพบเพื่อถวายธรรมนูญการปกครองแผ่นดินฉบับชั่วคราว ความว่า

เมื่อฉันได้รับราชสมบัติ ฉันไม่เชื่อว่าฉันจะได้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน เพราะฉันเป็นน้องสุดท้อง แต่ในที่สุดฉันก็ได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินจนได้ และเมื่อฉันขึ้นครองราชย์นั้น ฉันรู้ดีว่าม่านจวนจะรูดแล้ว แต่ฉันก็คิดอยู่เสมอว่าฉันมีความตั้งใจจะมอบการปกครองให้แก่ราษฎร

แม้จะรู้ถึงพระราชประสงค์และพระเจตจำนง ราษฎรกลุ่มหนึ่งซึ่งเรียกตัวเองว่าคณะราษฎรก็ยังมีความประสงค์จะเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยเร็วก่อนที่จะมีการพระราชทานรัฐธรรมนูญ เพราะเกรงว่าหากโปรดพระราชทานรัฐธรรมนูญเองจะทรงสงวนพระราชอำนาจไว้มากเกินไปไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริงตามความประสงค์ของคณะราษฎรจึงลงมือดำเนินการเสียก่อนในวันที่ 24 มิถุนายน พ.. 2475

ขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระนางเจ้าพระบรมราชินีเสด็จประทับพักผ่อนพระอิริยาบถอยู่ที่วังไกลกังวล หัวหิน เมื่อทรงทราบข่าวคณะราษฎรยึดอำนาจการปกครองได้แล้ว จึงมีพระราชดำรัสถามความเห็นพระบรมวงศานุวงศ์และเสนาบดีที่เฝ้าอยู่ ณ ที่นั้น ซึ่งก็มีความเห็นแบ่งเป็น 2 ฝ่าย

ฝ่ายหนึ่งเห็นควรต่อสู้เพื่อรักษาพระเกียรติยศและคิดว่าน่าจะสู้ได้เพราะราษฎรส่วนใหญ่ยังคงจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์อยู่หากพระเจ้าอยู่หัวประกาศว่าจะปราบพวกกบฏเชื่อว่าคนส่วนมากจะให้ความร่วมมือช่วยเหลือพวกปฏิวัติแม้จะมีอาวุธแต่ก็เสียขวัญและกำลังใจและจะต้องพ่ายแพ้แก่กำลังทหารหัวเมือง

ฝ่ายหนึ่งเป็นส่วนน้อยเห็นว่าไม่ควรสู้ เพราะคณะราษฎรประสงค์เพียงให้พระราชทานรัฐธรรมนูญ ซึ่งก็ตรงกับพระราชประสงค์ของพระองค์อยู่แล้ว จึงไม่สมควรที่จะต่อสู้ขัดขวางให้เป็นที่เสียเลือดเนื้อคนไทยด้วยกันเอง การพระราชทานรัฐธรรมนูญครั้งนี้แทนที่จะเป็นการเสียพระเกียรติยศกลับจะได้พระเกียรติยศ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริเห็นด้วย ดังปรากฏพระราชดำรินี้ในพระราชหัตถเลขาตอบคณะราษฎร ความตอนหนึ่งว่า

ข้าพเจ้าเห็นแก่ความเรียบร้อยของอาณาประชาราษฎร์ ไม่อยากให้เสียเลือดเนื้อกัน ทั้งเพื่อจัดการโดยละม่อมละไม ไม่ให้ขึ้นชื่อได้ว่าจลาจลเสียหายแก่บ้านเมือง และความจริง ข้าพเจ้าก็ได้คิดอยู่แล้วที่จะเปลี่ยนแปลงตามทำนองนี้ คือมีพระเจ้าแผ่นดินปกครองตามพระธรรมนูญ—”

ขณะเมื่อทรงกำลังตัดสินพระทัย เรือรบหลวง สุโขทัย ก็มาถึงและทอดสมอเลยหน้าพระตำหนักเปี่ยมสุขไปทางเหนือเล็กน้อย พ.. หลวงศุภชลาศัย นำนายทหารจำนวนหนึ่งพร้อมหนังสืออัญเชิญเสด็จจากคณะราษฎร

ทั้งฝ่ายคณะราษฎรและฝ่ายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวต่างก็ไม่ไว้ใจซึ่งกันและกัน เพราะไม่อาจคาดเดาถึงเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นจากการกระทำของอีกฝ่ายหนึ่ง ในส่วนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พันตรี หลวงสรสิทธิยานุการ ผู้อำนวยการรักษาความปลอดภัย นำทหารปืนกลเบา 2 หมู่ไปจัดตั้งปืนกลสกัดปากทางเข้าสู่พระตำหนักเปี่ยมสุข

ฝ่ายคณะราษฎร พ.. หลวงศุภชลาศัยได้สั่งการไว้ก่อนจะเข้าเฝ้าว่า ข้าพเจ้าไม่ทราบว่าจะมีเหตุการณ์อันใดเกิดขึ้นแก่ข้าพเจ้าและทีมที่ไป ดังนั้นในทันทีที่ข้าพเจ้าเป็นอันตรายด้วยการถูกยิง ถูกจับหรือถูกอะไรก็ตาม—”

หลวงศุภชลาศัยจะให้สัญญาณทหารบนเรือด้วยการโยนหมวกขึ้นเหนือศีรษะ ให้ต้นปืนสั่งการให้ยิงปืนใหญ่ทุกกระบอกสู่พระราชวังไกลกังวลทันที หรือหากได้เข้าเฝ้าแล้วแต่เป็นเวลานานเลย 12.00 น. ยังไม่ปรากฏว่านายทหารนั่งเรือเล็กกลับเรือรบหลวงสุโขทัย ก็ให้ยิงปืนใหญ่เข้าพระราชวังไกลกังวลเช่นกัน

สถานการณ์ขณะนั้นจึงตึงเครียด มีผู้กราบบังคมทูลแนะนำให้เสด็จออกนอกประเทศเป็นการชั่วคราว จนกว่าจะมั่นใจว่าปลอดภัยและสามารถต่อรองกับคณะราษฎรถึงสิ่งที่ต้องการจึงเสด็จฯ กลับ แม้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะมิทรงเห็นด้วย เนื่องด้วยทรงเกรงว่าจะเกิดการเสียเลือดเนื้อประชาชน และยังทรงห่วงใยเจ้านายอีกหลายพระองค์ที่ทรงถูกจับเป็นประกัน และทรงห่วงพระมเหสีตลอดจนพระบรมวงศานุวงศ์ที่ประทับอยู่ด้วยขณะนั้น จึงมีพระราชดำรัสถามความเห็นของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ว่า หญิงว่าไง”

คำตอบอันเด็ดเดี่ยวแสดงถึงน้ำพระทัยที่เข้มแข็งและกล้าหาญรักศักดิ์ศรีของพระบรมราชินีที่ว่า เข้าไปตายก็ไม่เป็นไร ต้องมีศักดิ์ศรีมีสัจจะ” มีส่วนทำให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตัดสินพระทัยเสด็จฯ กลับกรุงเทพฯ อย่างไม่ทรงลังเลพระทัย


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อ 12 สิงหาคม พ.ศ.2561