พระราชดำรัสท้ายสุดในร.7 ต่อสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี และเส้นทางปลายพระชนม์ชีพ

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 และ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี (ภาพจาก สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี เป็นพระมเหสีพระองค์เดียวในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 อภิเษกสมรสตั้งแต่สมเด็จฯ มีพระชนมายุเพียง 14 พรรษา ในขณะพระบรมราชสวามีทรงดำรงพระฐานะเป็นพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมขุนสุโขทัยธรรมราชา

เมื่อพระบรมราชสวามีทรงได้รับสถาปนาเป็นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 7 แห่งราชจักรีวงศ์ ทรงสามารถทำหน้าที่สมเด็จพระบรมราชินีเคียงคู่รัชกาลที่ 7 ได้อย่างเหมาะสมงดงามทั้งพระจริยวัตรและการวางพระองค์

ครั้งคณะราษฎรก่อการเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 เวลานั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 และพระนางเจ้าพระบรมราชินี เสด็จประทับพักผ่อนพระอิริยาบถอยู่ที่วังไกลกังวล หัวหิน สถานการณ์ขณะนั้นตึงเครียด มีผู้กราบบังคมทูลแนะนำให้เสด็จออกนอกประเทศเป็นการชั่วคราวจนกว่าจะมั่นใจว่าปลอดภัยและสามารถต่อรองกับคณะราษฎรถึงสิ่งที่ต้องการจึงเสด็จฯ กลับ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มิทรงเห็นด้วย และมีพระราชดำรัสถามความเห็นพระนางเจ้าพระบรมราชินี ซึ่งคำตอบนี้มีส่วนทำให้รัชกาลที่ 7 ทรงตัดสินพระทัยเสด็จฯ กลับกรุงเทพฯ อย่างไม่ทรงลังเลพระทัย

คลิกอ่านเพิ่มเติม : “เข้าไปตายก็ไม่เป็นไร ต้องมีศักดิ์ศรีมีสัจจะ” สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ตรัสตอบร.7

เสด็จฯ ไปอังกฤษ

ในปี พ.ศ. 2477 รัชกาลที่ 7 เสด็จฯ ไปที่อังกฤษเพื่อรักษาพระเนตร และทรงมีพระราชหัตถเลขาสละราชสมบัติเมื่อปี 2478 หลังจากตัดสินพระราชหฤทัยว่าจะประทับถาวรในประเทศอังกฤษ พระองค์โปรดซื้อพระตำหนักใหม่ ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย เล่าในบทความ “สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระมเหสีพระองค์เดียวในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว” ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับ สิงหาคม 2561 ว่า พระตำหนักมีลักษณะเป็นตึก 3 ชั้นแบบวิกตอเรียน (Victorian) ขนาดย่อม ตกแต่งด้วยเครื่องเรือนแบบอังกฤษ ทรงจัดเป็นทั้งสวนสวยงามและป่าละเมาะ

หม่อมราชวงศ์ปิ่มสาย อัมระนันทน์ พระนัดดาในสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี บรรยายไว้ในบันทึก “Siamese Memoirs” ใจความตอนหนึ่งว่า (สำนวนแปลโดย ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย)

“พระตำหนักตั้งอยู่ที่ตีนเนินเขา มีถนนกรวดคดเคี้ยวขึ้นไป พุ่มดอกอเซเลีย (Azalea) นับร้อยทางซ้ายมือ กับพุ่มโรโดเดนดรอน (Rhododendron) ดอกม่วงใหญ่ทางขวามือ—หน้าพระตำหนักมีสวนหินขนาดใหญ่สวยงาม พร้อมสระน้อยใหญ่และน้ำตก—หลังพระตำหนักเป็นป่าสนและป่าละเมาะ เลียบทางเดินระหว่างเนินดินสองข้าง ซึ่งในฤดูใบไม้ผลิเต็มไปด้วยดอกบลูเบลล์ (Bluebells) แดฟโฟดิล (Daffodils) และพริมโรส (Primroses)—” โปรดพระราชทานนามพระตำหนักนี้ว่า เกลนแพมมินต์ (Glen Pammant)

หม่อมราชวงศ์ปิ่มสาย เล่าต่อไปว่า ในวันที่มาถึงพระตำหนักก็เดินผ่านหลายห้องเพื่อเข้าเฝ้าพระองค์ ห้องในพระตำหนักตกแต่งด้วยเฟอร์นิเจอร์แบบอังกฤษ แต่มีสิ่งของบางชิ้นที่เป็นของตกแต่งแบบสยาม อาทิ พระแสงดาบ กล่องพระโอสถมวนที่เป็นเครื่องถมทอง เนื้อหาในบันทึกอีกส่วนมีใจความว่า

“เราพบว่าพระองค์อยู่โดยลำพังในห้อง ไฟในเตาผิงกำลังลุกโชน ผ้าม่านสีน้ำเงินห้อยจากหลังคาลงมาถึงพื้นห้อง…พระองค์ทรงยืนอยู่ข้างผ้าม่าน ทรงสูบพระโอสถมวนพิเศษส่วนพระองค์แบบอียิปต์ พระองค์มีพระวรกายเล็ก ผ้าม่านที่ขนาดใหญ่เหล่านั้นยิ่งทำให้พระวรกายพระองค์เล็กลงไปอีก พระวรกายของพระองค์เพรียวบาง ตรงตระหง่าน สง่างาม พระองค์แย้มพระสรวลอย่างมีพระเมตตาให้กับพวกเรา แต่สายพระเนตรของพระองค์ดูเศร้าโศก…”

หม่อมราชวงศ์ปิ่มสาย อธิบายว่า ไม่มีโอกาสสำรวจพื้นที่สวนทุกมุม จากที่สวนมีขนาดค่อนข้างใหญ่ ท้ายสนามหญ้ามีสนามเทนนิส 2 สนาม

บั้นปลายพระชนม์ชีพ

สำหรับเวลาต่อมา ในช่วงบั้นปลายพระชนม์ชีพของรัชกาลที่ 7 บทความ “สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระมเหสีพระองค์เดียวในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว” มีใจความดังที่คัดเนื้อหามาบางส่วน ดังนี้

ณ สถานที่นี้ทั้ง 2 พระองค์ทรงดำเนินพระชนมชีพตามแบบคหบดีชาวอังกฤษ เพื่อรักษาพระเกียรติยศในฐานะอดีตพระมหากษัตริย์ไทย

ต่อมามีเหตุให้ต้องทรงย้ายที่ประทับใหม่อันเนื่องจากทรงแพ้อากาศหนาว ทำให้ไม่ใคร่ทรงสบาย จึงโปรดซื้อตำหนักใหม่ขนาดย่อมกว่าพระตำหนักเดิม เป็นพระตำหนักแบบทิวเดอร์ (Tudor) อยู่ในหมู่บ้านบิดเดนเดน (Biddenden) ชื่อพระตำหนักเวนคอร์ต เนื่องจากอยู่ใกล้ทะเลกว่าจึงมีอากาศที่อบอุ่น ณ พระตำหนักนี้ทรงดำเนินพระชนมชีพแบบสามัญชน

หนังสือพิมพ์ Sunday Despates กล่าวถึงพระจริยวัตรของสมเด็จฯ ไว้อย่างชื่นชมว่า “—แทนที่จะทรงสั่งซื้อของและให้ร้านในเมืองไปส่งที่พระตำหนัก กลับทรงจักรยานตามถนนเล็กๆ ของหมู่บ้านไปทรงจับจ่ายของจากร้านในหมู่บ้าน โดยทรงคำนึงถึงความเป็นธรรมมาก เพราะสัปดาห์หนึ่งจะทรงซื้อของที่ร้านหนึ่ง อีกสัปดาห์หนึ่งก็อีกร้านหนึ่ง—”

ทั้ง 2 พระองค์ทรงมีความสุขกับการทำสวนดอกไม้ด้วยพระองค์เอง ทรงรดน้ำพรวนดินปลูกต้นไม้ในสวนและทรงเพลิดเพลินในพระชนมชีพที่สุขสงบ ทำให้ทรงรู้สึกผูกพันกับพระตำหนักเวนคอร์ตเป็นอย่างมาก

แต่วิถีในพระชนมชีพก็ต้องดำเนินไปตามครรลองซึ่งไม่เรียบง่ายสุขสงบดังที่มีพระราชประสงค์ เพราะเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 เริ่มต้นขึ้นนั้น ทรงพระราชดำริว่าหากสงครามดำเนินมาถึงอังกฤษ พระตำหนักเวนคอร์ตซึ่งอยู่ใกล้กับช่องแคบอังกฤษ เมื่อสงครามเกิดขึ้นเมื่อใด ทรงคาดว่าละแวกนั้นจะต้องถูกกันเป็นเขตป้องกันประเทศของทหาร จึงต้องทรงย้ายที่ประทับเพื่อความปลอดภัยอีกครั้ง

ครั้งนี้โปรดเช่าบ้านซึ่งมีขนาดย่อมกว่าพระตำหนักเวนคอร์ต อยู่ในหมู่บ้านจัดสรรเวนต์เวิร์ธ (Wentworth) ชื่อพระตำหนักคอมพ์ตันเฮาส์ เป็นพระตำหนักสมัยใหม่แบบจอร์เจียน (Georgian)

นอกจากจะต้องทรงหวาดระวังภัยจากสงคราม ยังต้องทรงต่อสู้กับอาการประชวรด้วยพระโรคพระหทัยประเภท Angina pectoris ของพระสวามี ซึ่งจะกำเริบขึ้นทุกครั้งที่อากาศหนาวและพระโลหิตไปเลี้ยงพระหทัยไม่เพียงพอ จะทรงมีอาการหอบเหนื่อยง่ายและปวดพระทัยจึงต้องทรงพักบ่อยๆ แม้ในเวลาเสด็จพระราชดำเนินเพื่อบริหารพระพลานามัย สมเด็จฯ จึงต้องทรงอยู่ดูแลพระอาการใกล้ชิด

พระตำหนักเวนคอร์ต

…เมื่อใกล้สงครามจะสิ้นสุดลง ทนายความประจำพระองค์ได้กราบบังคมทูลว่า พระตำหนักเวนคอร์ตได้ถูกยึดครองเป็นกองบัญชาการทหารอีกแห่งหนึ่งแล้ว แม้จะทรงได้ค่าชดเชยตอบแทน แต่ก็ไม่คุ้มกับสิ่งที่ทรงทุ่มเทจัดแต่งจนงดงาม เหนืออื่นใดก็คือความผูกพันซึ่งเมื่อประทับอยู่นั้น ตำหนักเวนคอร์ตเป็นเสมือนบ้านที่ให้ความสุขสงบมากกว่าที่ใดๆ จึงทรงถวิลหาที่จะได้ไปทอดพระเนตรอีกสักครั้งหนึ่ง แต่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ตระหนักพระทัยดีว่าพระองค์คงมิอาจเสด็จไปได้ เพราะพระพลานามัยที่ทรุดโทรมและอ่อนแอ

จนเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2484 พระเจ้าอยู่หัวทรงตื่นบรรทมแต่เช้าตรู่ พระอาการทั่วไปดีขึ้นแต่พระบาทยังคงบวมอยู่ ทรงรู้สึกแจ่มใสเพราะอากาศก็เย็นกำลังสบาย ไม่หนาวจัด ทรงทราบถึงความปรารถนาของสมเด็จฯ ในการที่จะเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรพระตำหนักเวนคอร์ตอีกครั้ง จึงทรงอนุญาตให้เสด็จไปยังพระตำหนักเวนคอร์ต ด้วยพระราชดำรัสที่ว่า “…จะไปไหนก็ไป วันนี้ฉันรู้สึกสบายมาก…”

สมเด็จฯ เสด็จพระราชดำเนินออกจากพระตำหนักคอมพ์ตันเฮาส์ เมื่อเวลาประมาณ 8 นาฬิกา ขณะนั้นมีหมอกลงจัด คนขับรถต้องแล่นชะลอไปช้าๆ ส่วนทางพระตำหนักนั้น

นางพยาบาลส่วนพระองค์เล่าว่า เมื่อเสวยไข่ลวกเสร็จแล้ว ตรัสชมว่าอร่อย ต่อจากนั้นทรงขอพระเขนยมาหนุนพระหนุ แล้วทรงหลับพระเนตรนิ่งไป ไม่มีผู้ใดรู้ว่าเสด็จสวรรคตในนาทีใด ในส่วนบนรถพระที่นั่งท่ามกลางสายหมอกนั้น สมเด็จฯ ทรงเล่าภายหลังว่า ทอดพระเนตรเห็นพระเจ้าอยู่หัวทรงยืนขวางหน้ารถ ทรงรู้สึกสังหรณ์พระทัยทันที แต่ก็ตรัสว่า “เห็นพิลึกแท้”

จนถึงครึ่งทาง ที่เมืองเมดสโตน (Maidstone) สมเด็จฯ จึงทรงพบตำรวจสกัดรถพระที่นั่ง เพื่อกราบทูลข่าวการเสด็จสวรรคตให้ทรงทราบนั้น ข้อความที่ตรัสเป็นครั้งที่สุดกับพระมเหสีพระองค์เดียวของพระองค์ จึงเป็นข้อความที่ว่า “—จะไปไหนก็ไป วันนี้ฉันรู้สึกสบายมาก—”

 


อ้างอิง:

ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. “สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระมเหสีพระองค์เดียวในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว”. ใน ศิลปวัฒนธรรม ฉบับสิงหาคม 2561.

Pimsai Svasti, Ping Amranand. Siamese Memoirs: The Life & Times of Pimsai Svasti. Amulet Production, 2011.


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 27 มกราคม 2564.