ที่มา | พระผู้เพิ่งจากไป |
---|---|
ผู้เขียน | สำนักพิมพ์มติชน |
เผยแพร่ |
สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ทรงกล่าวถึงสมาชิก “คณะราษฎร” บางคนไว้ว่า มากราบทูลว่า “ไม่นึกว่าจะลําบาก..ถ้ารู้ยังงี้ก็ไม่ทํา”
หม่อมเจ้ายุธิษเฐียร สวัสดิวัตน์ พระอนุชาและราชเลขานุการในพระองค์ ทรงเล่าถึงพระจริยาวัตรของสมเด็จพระนางเจ้ารําไพพรรณี (20 ธันวาคม 2447 – 22 พฤษภาคม 2527) ระยะที่มิได้ประชวรว่า พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 ทรงตื่นบรรทมประมาณ 8 โมงเช้าและเสด็จเข้าบรรทมอีกประมาณ 4 ทุ่มเศษ โดยจะทอดพระเนตรรายการโทรทัศน์ทุกคืน
หม่อมเจ้าการวิก จักรพันธ์ ทรงเล่าว่า สมเด็จพระนางเจ้ารําไพพรรณีทรงโปรดเพลงของไชคอฟสกี้, บัวร์ยัก, บรุนโน และที่ไครสเลอร์แต่งและสีไวโอลินเอง ส่วนทางด้านดนตรีไทยพระองค์จะทรงซอด้วงเพลงพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยเฉพาะเพลงราตรีประดับดาว
คุณมยุรี กฤดากรฯ นางสนองพระโอษฐ์ซึ่งคอยรับใช้สนองเบื้องพระยุคลบาทคู่กับหม่อมหลวงประอรมาลากุลมาร่วม 20 ปี กล่าวถึงสมเด็จพระนางเจ้ารําไพพรรณีว่า ทรงมีน้ำพระทัยดีมากกับทุก ๆ คน ไม่เคยเห็นพระองค์ท่านทรงกริ้วใครเลย พี่ๆ และทุก ๆ คนรักพระองค์ท่านมาก
ใน “พระราชบันทึกทรงเล่า” สมเด็จพระนางเจ้ารําไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 ทรงกล่าวถึง สมาชิก “คณะราษฎร” บางคนที่เคยก่อการยึดอํานาจเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ พ.ศ. 2475 ว่า
“หลวงประดิษฐ์มนูธรรม พระยามานวราชเสวี เคยไปขอเฝ้าบอกว่า ข้าพระพุทธเจ้าตอนนั้นยังเด็ก คิดอะไรหัวมันรุนแรงเกินไป ไม่นึกว่าจะลําบากยากเย็นถึงเพียงนี้ ถ้ารู้ยังงี้ก็ไม่ทํา ฉันก็ไม่ว่าอะไรเขา เรื่องมันแล้วไปแล้ว ไม่เคยเก็บมาคิดอะไร..”
นี่คือน้ำพระทัยอันเปี่ยมเมตตาและพร้อมที่จะให้อภัยของสมเด็จพระนางเจ้ารําไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7
สมเด็จพระนางเจ้ารําไพพรรณี ทรงโปรดการกีฬาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์โดยเริ่มจากแบดมินตันเทนนิสและกอล์ฟ ทรงออกกําลังพระวรกายอยู่เสมอทั้งยังทรงโปรดธรรมชาติและชีวิตกลางแจ้งอย่างเป็นพิเศษ ทําให้พระองค์ทรงเป็นผู้มีพระพลานามัยแข็งแรง
แต่ด้วยธรรมชาติแห่งสังขารที่ต้องเสื่อมไปตามธรรมดา พ.ศ. 2518 ขณะทรงมีพระชนมายุได้ 71 พรรษา สมเด็จพระนางเจ้ารําไพพรรณีทรงมีอาการประชวรด้วยพระโรคความดันโลหิตสูงและเส้นโลหิตในสมองตีบ ต้องทรงอยู่ภายใต้การดูแลของนายแพทย์นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
พ.ศ. 2524 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯตั้งคณะแพทย์โดยมีศาสตราจารย์ นายแพทย์วีกิจ วีรานุวัตต์ เป็นหัวหน้า เพื่อดูแลพระอาการ และหลังจากนั้นอีก 2 ปี คือใน พ.ศ. 2526 ต้องเสด็จฯ ไปทรงรักษาในโรงพยาบาลอยู่ระยะหนึ่งจึงได้เสด็จฯ กลับมาประทับ ณ วังศุโขทัยตามเดิม
ระหว่างที่ประชวรอยู่นี้ สมเด็จพระนางเจ้ารําไพพรรณี ต้องทรงงดเสด็จฯ ออกงานต่าง ๆ และต้องทรงงดกีฬากอล์ฟซึ่งเคยทรงอยู่เป็นประจํา แต่ก็ทรงประกอบพระราชกรณียกิจบางประการอยู่บ้าง เช่น ทรงบําเพ็ญพระราชกุศลถวายภัตตาหารแก่พระภิกษุสงฆ์ในโอกาสต่าง ๆ พระราชทานถ้วยรางวัลแก่ผู้ชนะการแข่งขันกอล์ฟ ทรงประกอบพิธีสมรสพระราชทานแก่ลูกหลานข้าราชบริพารซึ่งขอพระราชทานมา โปรดเกล้าฯให้บุคคลและคณะบุคคลเข้าเฝ้าฯเป็นครั้งคราว และยังโปรดทรงสวนอยู่เสมอ
พระราชกิจประจําวันในช่วงเวลาที่ทรงพระประชวรนี้ เป็นไปดังที่ข้าราชบริพารผู้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทเล่าว่า ปกติจะตื่นบรรทมเวลา 08.00 น. และเสด็จเข้าเวลาประมาณ 22.00 น.
เสด็จพระราชดําเนินได้นิดหน่อยบนพระตําหนัก พอถึงเวลาเย็นก็จะทรงรถเข็นเปลี่ยนพระอิริยาบถทอดพระเนตรต้นไม้เป็นเวลาประมาณ 45 นาที เมื่อมีผู้เข้าเฝ้าฯ รับสั่งได้น้อยกว่าเดิมทั้งที่เคยรับสั่งเก่งกับผู้ใกล้ชิด
กระทั่งปี 2527 หม่อมราชวงศ์ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ กล่าวทางสถานีวิทยุ ททบ. เมื่อเช้าวันที่ 23 พฤษภาคม 2527 ว่า
“สองวันมานี้ทรงเจ็บแถบ ๆ พระนาภี หมอมาตรวจก็ลงความเห็นว่า ถุงน้ำดีอักเสบ ไม่มีพระอาการอะไรเป็นสิ่งบอกเหตุว่าจะทรงจากไปอย่างกะทันหันปัจจุบันทันด่วนอย่างนี้ พอหมอกลับไปแล้วก็บรรทมหลับ ครั้นตื่นบรรทมพยาบาลถวายน้ำส้ม ถวายน้ำซุป อาหารอ่อน ๆ ทรงอาเจียนออกมา พอทรงอาเจียนออกมาแล้วก็พับไป สิ้นพระชนม์ในตอนนั้นเลย”
สํานักพระราชวังแถลงในประกาศ “สมเด็จพระนางเจ้ารําไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 สวรรคต” ว่า
“สมเด็จพระนางเจ้ารําไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 ประชวรสวรรคตด้วยพระหทัยวายโดยพระอาการสงบ วันที่ 22 พฤษภาคม 2527 เวลา 15 นาฬิกา 50 นาที ณ พระราชตำหนักวังศุโขทัย”
ทรงพระชนมายุ 79 พรรษา 5 เดือน 1 วัน
อ่านเพิ่มเติม :
- “เข้าไปตายก็ไม่เป็นไร ต้องมีศักดิ์ศรีมีสัจจะ” สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ตรัสตอบร.7
- รัชกาลที่ 7 และสมเด็จพระราชินีเสด็จฯ งานฉลองรัฐธรรมนูญครั้งแรก
- “ในหลวงรัชกาลที่ ๙” ทรงเก็บพระบรมอัฐิ “สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี”
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “พระจริยาวัตรงามพร้อม ณ.สวนบ้านแก้ว” ในหนังสือ “พระผู้เพิ่งจากไป” (สำนักพิมพ์มติชน, พิมพ์ครั้งที่ 4)
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 9 สิงหาคม 2562