ขบวนการด้อยค่าประชาธิปไตย กับวาทะ “คนดี” อยู่เหนือคนจำนวนมาก

ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช คนดี
ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช ภาพจากหนังสือ “ตำนานเสรีไทย” โดย ดร.วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร. พิมพ์ พ.ศ. 2546

“ประชาธิปไตยนั้นไม่ได้หมายความว่าเป็นการปกครองที่ถือเอาข้างมากแต่เสียงเท่านั้น เพราะการเอาโจร 500 มาประชุมกับพระ 5 องค์…ลงมติกันทีไร โจร 500 เอาชนะพระได้ทุกที

การด้อยค่าประชาธิปไตยของกลุ่มปฏิปักษ์การปฏิวัติ 2475 กับวาทะ ศิลาจารึกหลักที่ 1 คือ “รัฐธรรมนูญไทยฉบับแรก” กับ “คนดี” อยู่เหนือคนจำนวนมาก โดย “แมลงวี่” หรือนามปากกาของ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช

“เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 ได้เกิดมีรัฐประหารยกเลิกระบบประชาธิปไตยสมบูรณ์ที่สถาปนาขึ้นตามรัฐธรรมนูญฉบับ 9 พฤษภาคม 2489 คณะรัฐประหารได้ตั้งระบบการเมืองขึ้นใหม่ โดยรัฐธรรมนูญฉบับ 9 พฤศจิกายน 2490 ซึ่งมีฉายาว่า ‘รัฐธรรมนูญใต้ตุ่ม’”

“ม้วนประชาธิปไตย” ด้วยวัฒนธรรม

เหตุการก่อปฏิปักษ์การปฏิวัติ 2475 หลายครั้งด้วยการใช้เล่ห์ทางกฎหมาย จนถึงการใช้กำลังทางการทหาร นับแต่รัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดารัฐประหารด้วยพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาผู้แทนฯ มิให้พิจารณาผ่านเค้าโครงการเศรษฐกิจของนายปรีดี ที่มุ่งปฏิวัติการถือครองที่ดินให้เท่าเทียมกัน พร้อมโยกย้ายคณะราษฎรให้ออกจากการคุมกำลังทหาร (2476) การก่อกบฏบวรเดช (2476) กบฏนายสิบ (2478) และกบฏ 2481 เพื่อกอบกู้บ้านกู้เมืองให้กลับคืนดุจดังเดิมตามความใฝ่ฝันต้องพ่ายแพ้ลงส่ง ผลให้พวกเขาจำนวนมากต้องถูกกักขัง หลบหนีออกนอกประเทศไป

แต่ภายหลังสงครามโลก (2488) จบสิ้นลง โครงสร้างทางการเมืองของไทยเปิดกว้างอีกครั้ง รัฐบาลคณะราษฎรปีกพลเรือนที่นำโดยนายปรีดี พยายามประนีประนอมกับกลุ่มต่างๆ ที่เคยเป็นปฏิปักษ์กันด้วยพระราชกำหนดการนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดฐานกบฏและจลาจล (2488) มีผลทำให้กลุ่มปฏิปักษ์การปฏิวัติ 2475 ซึ่งยืนตรงข้ามกับคณะราษฎร ได้รับอิสรภาพและกลับเข้าสู่วงการเมืองได้อีกครั้ง

การนิรโทษกรรมนี้ส่งผลให้พวกเขาในฐานะนักโทษและผู้หนีคดีถูกนิรโทษกรรม ปลดปล่อย บ้างทยอยกลับมาจากต่างประเทศ เช่น พระองค์เจ้าบวรเดช พล.ท. พระยาเทพหัสดิน น.อ. พระยาศราภัยพิพัฒ พระยาสุรพันธเสนี หลุย คีรีวัต ร.อ. หลวงโหมรอนราญ หลวงมหาสิทธิโวหาร (สอ เสถบุตร) ร.ท.ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน ร.อ. ขุนโรจนวิชัย ร.ท. จงกล ไกรฤกษ์ โชติ คุ้มพันธุ์ และ ชุลี สารนุสิต เป็นต้น และบ้างได้รับการคืนยศและฐานันดรศักดิ์ เช่น กรมขุนชัยนาทนเรนทร เป็นต้น

การกลับมาครั้งนี้ พวกเขาบางส่วนเล่นบทเป็นนักคิดนักเขียนวิพากษ์วิจารณ์ความชอบธรรมของคณะราษฎร

เช่น งานเขียนพระยาศราภัยพิพัฒ สอ เสถบุตร ชุลี สารนุสิต โชติ คุ้มพันธุ์ พายัพ โรจนวิภาต  ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน หลวงโหมรอนราญ (ตุ๊ ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา) หลุย คีรีวัต [1] เป็นต้น พวกเขามีอุดมการณ์ที่มั่นคงมาก ดังครั้งที่พวกเขาอยู่ในคุก พวกเขาเขียนหนังสือและออกหนังสือพิมพ์ชื่อ “น้ำเงินแท้” เพื่อสื่อสารและเผยแพร่อุดมการณ์การเมือง [2]

ภายหลังพ้นโทษ ผลงานของพวกเขาส่วนหนึ่งถูกพิมพ์เป็นหนังสือที่เล่าถึงความยากลำบาก ความทุกข์ทรมานในขณะถูกจำคุกด้วยน้ำมือของคณะราษฎรที่พวกเขาโจมตีว่า “ไม่เป็นประชาธิปไตย” แต่ “เป็นคณาธิปไตย” ตลอดจน “อยุติธรรม” ในการกวาดจับพวกเขา เพราะพวกเขาไม่เกี่ยวข้องกับกบฏบวรเดชแต่อย่างใดเลย

งานเขียนของพวกเขามุ่งสร้างคำอธิบายทำนองว่า การปฏิวัติ 2475 เป็นสิ่งที่ไม่น่าภูมิใจ เป็นการกบฏของข้าราชการเนรคุณที่ชิงอำนาจพระมหากษัตริย์ไปเป็นของตนเอง เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ชิงสุกก่อนห่าม ขณะที่ประชาชนไทยยังไม่พร้อมปกครองตนเอง

เกือบทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นในประเทศสืบย้อนลงไปได้ว่า มีผู้ทำไว้แล้วในอดีต เช่น ไทยมีรัฐธรรมนูญตั้งแต่สุโขทัย การปลดปล่อยไพร่ทาส สร้างสุขาภิบาล สร้างเมืองดุสิตธานีที่ล้วนเป็นการเตรียมการมอบประชาธิปไตยให้แก่ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินภายใต้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์

แต่อนิจจา เป้าหมายการสร้างประชาธิปไตยโดยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์กลับถูกขัดขวางชิงสุกก่อนห่ามโดยคณะราษฎร ที่ทำการปฏิวัติล้มเลิกระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ลงเสีย

ปฏิบัติการทำลายความชอบธรรมของการปฏิวัติ 2475 แต่เชิดชูและสร้างความหมายใหม่ให้กับระบอบเก่าของกลุ่มคนนี้เดินไปจนบรรจบกับการรัฐประหาร 2490 อันสามารถโค่นล้มอำนาจการเมืองของคณะราษฎรลง จนสามารถสร้างระบอบการปกครองดังที่พวกเขาปรารถนาขึ้นมาได้

หากการปฏิวัติ 2475 คือการรูดม่านระบอบเก่าแล้ว การรัฐประหาร 2490 อาจถือได้ว่าเป็นอรุณรุ่งแห่งวันใหม่สำหรับพวกเขา ในความหมาย “ม้วนประชาธิปไตย” ที่คณะราษฎรนำสู่สังคมไทยมาแต่ 2475 ลง และเริ่มต้นการสร้างการปกครอง “อีกระบบหนึ่ง” ตามที่พวกเขาต้องการ แต่ไม่เคยปรากฏขึ้นจริงให้ปรากฏตัวออกมาในครานั้นเอง

ดังนั้น การดำรงอยู่ของการปฏิวัติ 2475 จึงเป็นรอยด่างของประวัติศาสตร์ในสายตาของพวกเขาที่การปฏิวัตินั้นต้องถูก “ด้อยค่า” ลงและทำให้เลือนหายสิ้นสภาพไป ด้วยเหตุนี้ บทบาทกลุ่มปัญญาชนอนุรักษนิยมที่มีสำนึกร่วมเช่นนี้จึงก้าวออกมา “ด้อยค่า” การปฏิวัติ 2475 พร้อมสร้างคำอธิบายให้ความชอบธรรมให้กับ “อีกระบบหนึ่ง”

ศิลาจารึกหลักที่ 1 คือ “รัฐธรรมนูญไทยฉบับแรก”

ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช ในนามปากกา “แมลงหวี่” แสดงทัศนะลงในหนังสือเบื้องหลังประวัติศาสตร์เล่ม 1 (2490) ว่า นับแต่เกิดการปฏิวัติ 2475 เป็นต้นมา “ประชาชนไทยได้ผ่าน ยุคทมิฬของคนพาลและยุคหินชาติของคนถ่อยที่สุด ด้วยอภิหารของสยามเทวาธิราชเราจึงได้ก้าวมาสู่ยุคแสงสว่างรำไร”[3] การปฏิวัติครั้งนั้น คณะราษฎรใช้อำนาจเหนือกฎหมาย เป็นกบฏล้มอำนาจเจ้า ซึ่งคนไทยไม่พร้อมในการปกครองตนเอง [4]

เขาเห็นว่า “พระปกเกล้าทรงเป็นกษัตริย์ที่มีหัวใจเป็นนักประชาธิปไตย…เป็นผู้ที่ดำริห์ริเริ่มที่จะให้สยามได้ก้าวสู่ระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง…ทรงมีพระราชดำริที่พระราชทานรัฐธรรมนูญแก่ปวงชนชาวไทยมาก่อน…ด้วยหลักฐานเหล่านี้ จึงพอจะกล่าวยืนยันได้ว่า พระมหากษัตริย์ไทยเป็นประชาธิปไตยมาก่อนที่สยามจะได้เปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นประชาธิปไตยด้วยซ้ำ” [5] 

เขากล่าวโยงถึงเค้าโครงการเศรษฐกิจของนายปรีดีว่าเป็นคอมมิวนิสต์ รวมทั้งกรณีสวรรคตอย่างลึกลับของในหลวงอานันท์ว่า เหมือนกับอิทธิพลของคอมมิวนิสต์ที่แพร่เข้าไปในประเทศกรีก เป็นผลให้พระเจ้าแผ่นดินกรีกต้องสิ้นพระชนม์ลงด้วยอาการลึกลับเช่นกัน [6]

เขาดำเนินเรื่องเล่าที่ “ด้อยค่า” การปฏิวัติ 2475 ต่อไปว่า แม้นการปฏิวัติของคณะราษฎรนั้นนำมาซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับ 2475 แก่ไทย แต่เขากลับเห็นว่า ไทยมีรัฐธรรมนูญมาแต่สมัยสุโขทัยก่อนการปฏิวัติหลายร้อยปี และศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงนั้น คือรัฐธรรมนูญแรกของไทย เป็นสิ่งมีสง่าราศีกว่าแมกนาคาร์ตาของอังกฤษเสียอีก เพราะมิได้มาจากการบังคับเช่นอังกฤษแต่มาจากความสมัครใจของพระมหากษัตริย์ไทย [7]

ต่อมา เขาพัฒนาแนวคิดเรื่องศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงเป็นรัฐธรรมนูญแรกของไทยที่เสนอมาตั้งแต่ 2490 เป็นคำอธิบายยาวเหยียดเผยแพร่ลงในวารสารดุลพาหเมื่อ 2509 ว่า “ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกของไทย เทียบได้ไม่ต่างกับแม็กนาคาร์ตาของพระเจ้าจอห์นที่ออกมาในคริสต์ศตวรรษที่ 13 ซึ่งคนอังกฤษถือกันว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกของเขา” [8]

วาทะ “คนดี” อยู่เหนือคนจำนวนมาก

นอกจากนี้ แมลงหวี่ประเมินว่า ระบอบประชาธิปไตยไทยที่เกิดขึ้นจากการปฏิวัติของคณะราษฎรที่ยึดหลักเสียงข้างมากนั้นไม่เหมาะสมกับเมืองไทย ดังนี้ “ประชาธิปไตยนั้นไม่ได้หมายความว่าเป็นการปกครองที่ถือเอาข้างมากแต่เสียงเท่านั้น เพราะการเอาโจร 500 มาประชุมกับพระ 5 องค์…ลงมติกันทีไร โจร 500 เอาชนะพระได้ทุกที[9]

เขาเห็นว่า ประชาธิปไตยที่เขาพึงปรารถนาคือ “การปกครองโดยเสียงข้างมากที่เรียกว่าประชาธิปไตยจะต้องไม่ถือเอาเกณฑ์เสียงข้างมากเป็นสำคัญ” [10]

รวมความแล้ว เขาเห็นว่า ไทยเป็นประชาธิปไตยมาช้านานมาแต่สมัยสุโขทัยซึ่งเป็นมาก่อนที่จะเกิดการปฏิวัติ 2475 เสียอีก และประชาธิปไตยไม่ควรยึดเสียงข้างมากเป็นสำคัญ เพราะคนส่วนมากไม่ใช่ คนดี

การปกครองที่ดี คือ การปกครองโดย คนดี ที่ไม่จำเป็นต้องยึดถือจำนวนคนเป็นสำคัญ ดังนั้น ปฏิวัติ 2475 จึงเป็นการทำลายการปกครองโดยคนดีลงไป ด้วยเหตุนี้ เขาจึงเห็นว่าที่มาของ “รัฐธรรมนูญใต้ตุ่ม” มีลักษณะที่แปลก กล่าวคือ แต่แทนที่จะกำจัดตัดตอนพระราชอำนาจ กลับแสดงการถวายพระราชอำนาจคืนพระมหากษัตริย์ [11]

ดังนั้น การยึดอำนาจล้มรัฐบาลและล้างรัฐธรรมนูญ 2489 ลงด้วยกำลังทหารเมื่อ 2490 นั้น สำหรับเขานั้น การรัฐประหาร 2490 เป็นการปฏิวัติที่เป็นไปมติมหาชน

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เชิงอรรถ :

[1] โปรดดูเพิ่มเติมใน ณัฐพล ใจจริง. ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ ความเคลื่อนไหวของขบวนการปฏิปักษ์ปฏิวัติสยาม (พ.ศ. 2475-2500). (นนทบุรี : ฟ้าเดียวกัน, 2564), น. 135-196.

[2] ศรัญญู เทพสงเคราะห์. จากการคุมขังสู่การแก้ไขฟื้นฟู: การเปลี่ยนแปลงของการราชทัณฑ์ไทยสมัยใหม่ พ.ศ. 2433-2506. (วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรดุษฎีบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2564), น. 336-337.

[3] แมลงหวี่. เบื้องหลังประวัติศาสตร์ เล่ม 1. (พระนคร : โรงพิมพ์สหอุปกรณ์การพิมพ์, 2490), น. 31

[4] เรื่องเดียวกัน, น. 3, 47 แต่สำหรับในสายตาของหลวงสังวรยุทธกิจ หนึ่งในคณะราษฎรเห็นว่าการรัฐประหาร 2490 “(เป็น) การเกาะกลุ่มของประชาธิปัตย์และคณะเจ้ากับคณะรัฐประหารกลุ่มทหารบกเกือบ 80 %” (หลวงสังวรยุทธกิจ. พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พลเรือตรี หลวงสังวรยุทธกิจ (สังวร สุวรรณชีพ) ณ เมรุวัดธาตุทอง วันพฤหัสบดีที่ 27 ธันวาคม พุทธศักราช 2516. (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ชวนพิมพ์, 2516), น. 159).

[5] แมลงหวี่. เบื้องหลังประวัติศาสตร์ เล่ม 1. น. 138.

[6] เรื่องเดียวกัน, น. 65.

[7] เรื่องเดียวกัน, น. 137.

[8] แมลงหวี่. เบื้องหลังประวัติศาสตร์ เล่ม 1. น. 116.

[9] แมลงหวี่. เบื้องหลังประวัติศาสตร์ เล่ม 1. น. 116.

[10] เรื่องเดียวกัน, น. 116.

[11] เรื่องเดียวกัน, น. 114.


หมายเหตุ : เนื้อหานี้คัดส่วนหนึ่งจาก “ปฐมบทการม้วนประชาธิปไตย : การรัฐประหาร ๒๔๙๐
กับการตั้ง ‘อีกระบบหนึ่ง’ ”
เขียนโดย ณัฐพล ใจจริง ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤศจิกายน 2565 [เว้นวรรคคำ ปรับย่อหน้าใหม่ และเน้นคำเพิ่มเติมโดยกองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม]


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 17 พฤษภาคม 2566