ความเคยชินทำให้มนุษย์ “เป็นทาสโดยใจสมัคร” เอเตียน เดอ ลา โบเอซี

อนุสาวรีย์ เอเตียน เดอ ลา โบเอซี เป็นทาสโดยใจสมัคร
อนุสาวรีย์ เอเตียน เดอ ลา โบเอซี ที่ดอร์ดอญ ฝรั่งเศส (ภาพโดย Tommy-Boy ใน Wikimedia Commons สิทธิการใช้งาน CC BY-SA 4.0) - มีการตกแต่งกราฟิกเพิ่มโดย กอง บก.ศิลปวัฒนธรรม

ความเคยชินทำให้มนุษย์ “เป็นทาสโดยใจสมัคร”

“มนุษย์ปรารถนาอะไรที่ง่ายและไม่เปลี่ยนแปลง เหตุผลประการแรกของความเป็นทาสโดยใจสมัครคือ ความเคยชิน นั่นแหละ มันคือสิ่งที่เกิดขึ้นกับม้าที่กล้าหาญที่สุด เริ่มแรก มันกัดเหล็กปากม้า แต่ไม่นาน มันกลับเล่นสนุกสนานกับเหล็กนั้น”

เอเตียน เดอ ลา โบเอซี, ว่าด้วยการเป็นทาสโดยใจสมัคร (ค.ศ. 1576)

เอเตียน เดอ ลา โบเอซี (Estienne de La Boétie) นักปรัชญาการเมือง ผู้พิพากษา และนักการทูตชาวฝรั่งเศสผู้มีชีวิตอยู่ระหว่างปี 1530-1563 ในยุคแห่งการฟื้นฟูศิลปวิทยาการ (Renaissance) เขาเกิดในครอบครัวชนชั้นสูงในเมืองซาร์ลาต์ บริเวณตะวันตกเฉียงใต้ของฝรั่งเศส แม้จะกำพร้าพ่อ-แม่ แต่เขาก็ได้รับการเลี้ยงดูอย่างดีจากพ่อทูนหัว ซึ่งเป็นลุงของเขาเอง

เอเตียน เดอ ลา โบเอซี ฉลาดเป็นกรด เขาศึกษาความรู้ภูมิปัญญากรีก-โรมันยุคคลาสสิกจากตำราของนักเขียนหัวกะทิยุคเรเนสซองส์ ชื่นชอบปรัชญา ประวัติศาสตร์ ภาษาศาสตร์ และงานกวีนิพนธ์ ใช้เวลาเพียงปีเดียวเรียนจบนิติศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยออร์เลอองเมื่อปี 1553 ก่อนมาเป็นตุลาการศาลสูงแห่งบอร์กโดซ์ทั้งที่อายุยังไม่ถึงเกณฑ์ด้วยซ้ำ

การทำงานในตำแหน่งตุลาการศาลสูงทำให้ เอเตียน เดอ ลา โบเอซี ได้พบเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ส่งผลต่อทัศนคติทางการเมือง และแนวคิดเชิงปรัชญาการเมืองของตน เขามีบทบาทในความขัดแย้งระหว่างคริสต์ศาสนิกชนคาทอลิกและโปรเตสแตนต์ที่กำลังลุกลามบานปลายในฝรั่งเศส ที่สำคัญคือมีงานเขียนที่แสดงความรังเกียจต่อเผด็จการ แม้จะรับราชการอยู่ภายใต้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์แห่งฝรั่งเศส

ในงานเขียนอันโด่งดังของ เอเตียน เดอ ลา โบเอซี มีส่วนหนึ่งที่กล่าวถึงความยินยอม “เป็นทาสโดยใจสมัคร” จากการทำให้เคยชินกับการกดขี่จนชินชา และอยู่กับสภาพอันไร้เสรีภาพนั้นได้อย่างไม่รู้สึกทุกข์ร้อนใด ๆ จากข้อความ ดังต่อไปนี้

ในตอนนี้ ผมอยากทำความเข้าใจว่า ในบางครั้ง มนุษย์ก็ดี หมู่บ้านก็ดี เมืองก็ดี ชาติก็ดี กลับไปสนับสนุนทรราชได้อย่างไร ทรราชเพียงคนเดียวผู้ซึ่งมีอำนาจได้ก็ต่อเมื่อพวกเขาได้มอบอำนาจให้แก่ทรราชไป ทรราชผู้ซึ่งทำร้ายพวกเขาได้ตราบที่พวกเขายอมทน ทรราชผู้ซึ่งไม่อาจทำชั่วกับพวกเขาได้หากพวกเขาไม่นิยมชมชอบความทุกข์ทนมากกว่าการตอบโต้ทรราชนั้นเสีย

สิ่งที่น่าแปลกใจอย่างยิ่ง แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นเรื่องปกติ จนน่าเศร้ามากกว่าแปลกใจคือ ผู้คนนับล้านอยู่ในสภาพรันทด ผู้คนนับล้านถูกสนตะพาย สภาพการณ์เช่นนี้ไม่ได้เกิดจากการที่พวกเขาถูกบังคับด้วยกำลัง แต่มันเป็นเพราะพวกเขากลับซาบซึ้งต่อเหล่าทรราชนั้นราวกับว่าต้องมนต์สะกดเพียงเพราะได้ยินชื่อของทรราชคนใดคนหนึ่ง เอาเข้าจริงแล้ว พวกเขาไม่ควรกลัวทรราช เพราะมันเป็นแค่คนคนเดียว พวกเขาไม่ควรรักทรราช เพราะมันได้ปฏิบัติต่อพวกเขาอย่างไร้มนุษยธรรมและโหดร้าย นี่คือความอ่อนแอของมนุษย์ ได้แก่ ถูกบังคับให้เชื่อฟัง ถูกบังคับให้เฝ้าคอย รอเวลา พวกเขาไม่อาจเป็นคนแข็งแกร่งที่สุดได้

เราไม่เคยเสียใจเลยในสิ่งที่เราไม่เคยมี ความเศร้ามาหลังความสุข เมื่อเผชิญกับความทุกข์ เราก็นึกถึงความสุขที่ผ่านพ้นไปแล้วเสมอ ธรรมชาติของมนุษย์ คือความเป็นอิสระและความต้องการเป็นอิสระ แต่มนุษย์ก็เปลี่ยนแปลงอย่างง่ายดายเมื่อการศึกษาทำให้เขาเปลี่ยน

ดังนั้น ทุกสิ่งทุกอย่างกลายเป็นธรรมชาติของมนุษย์เมื่อเขาเคยชิน สิ่งเดียวที่ยังคงอยู่ในธรรมชาติคือ มนุษย์ ปรารถนาอะไรที่ง่ายและไม่เปลี่ยนแปลง เหตุผลประการแรกของความเป็นทาสโดยใจสมัครคือ ความเคยชิน นั่นแหละ มันคือสิ่งที่เกิดขึ้นกับม้าที่กล้าหาญที่สุด เริ่มแรก มันกัดเหล็กปากม้า แต่ไม่นาน มันกลับเล่นสนุกสนานกับเหล็กนั้น เริ่มแรก มันไม่ยอมให้ใครเอาอานม้าใส่หลัง แต่ตอนนี้ มันกลับวิ่งเข้าไปให้ใส่บังเหียน ด้วยความภาคภูมิใจ และโอ้อวดในชุดเกราะ

พวกเขากล่าวว่าพวกเขาเคยเป็นไพร่มาโดยตลอด และพ่อของพวกเขาก็เคยเป็นไพร่มาก่อนด้วย พวกเขาคิดว่าพวกเขาต้องยอมทนกับความเลวร้าย พวกเขาโน้มน้าวตนเองด้วยการยกตัวอย่างต่าง ๆ และพวกเขายังทำให้อำนาจของทรราชมั่นคงขึ้น ด้วยระยะเวลาในความเป็นจริงแล้ว ระยะเวลาที่ผ่านไปไม่ได้ให้สิทธิแก่ทรราชในการทำความผิด แต่ยิ่งเวลาผ่านไป พวกเขากลับถูกเหยียดหยามมากขึ้น

แน่นอน ต้องมีบางคนเกิดมาดีกว่าคนอื่น เขารู้สึกได้ถึงความหนักของแอกและไม่อาจหลีกเลี่ยงที่จะปลดแอก เขาไม่มีวันเชื่องกับความเป็นไพร่

คือเขาเหล่านี้ผู้มีมันสมองเป็นเลิศ ได้พัฒนาสติปัญญาให้แหลมคมด้วยการศึกษาและความรู้ เมื่อไรที่เสรีภาพมลายหายไปทั้งหมดและถูกละทิ้งจากโลกใบนี้ แต่พวกเขาก็ยังคงจินตนาการและรู้สึกได้ถึงจิตวิญญาณแห่งเสรีภาพและลิ้มรสมัน พวกเขารู้สึกขยะแขยงความเป็นทาส แม้ว่าความเป็นทาสจะถูกคลุมด้วยอาภรณ์ชั้นดีก็ตาม

ทั้งนี้ นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งจากงานเขียนชื่อ “The Discourse of Voluntary Servitude” ที่ถูกรวบรวมและนำมาแปลเพื่อพิมพ์เผยแพร่ภายหลัง เอเตียน เดอ ลา โบเอซี เสียชีวิตแล้ว โดยเมอร์เรย์ รอธบาร์ด (Murray Rothbard) นักเศรษฐศาสตร์และประวัติศาสตร์ชาวอเมริกัน

นับเป็นผลงานที่ตีแผ่โครงสร้างทางสังคมและการเมืองได้อย่างลุ่มลึก มีลักษณะของการส่งเสริมให้ประชาชนเข้าใจและเรียกร้องสิทธิขั้นพื้นฐานจากอำนาจรัฐ รวมทั้งการ “อารยะขัดขืน” อย่างแยบคาย อิทธิพลจากแนวคิดดังกล่าวยังส่งต่อไปยังนักปรัชญาการเมืองและรัฐศาสตร์ในฝรั่งเศสและโลกตะวันตกในรุ่นถัด ๆ มาด้วย

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ปิยบุตร แสงกนกกุล. (2565). Les Citations: ปัญญาจารย์การเมือง. กรุงเทพฯ : ไชน์ พับลิชชิ่ง เฮ้าส์.

Nonviolent-resistance.info. Étienne de La Boétie, Against Voluntary Servitude. Retrieved May 12, 2023. From https://www.nonviolent-resistance.info/exhibitions/eng/boetie/timeline.htm

The People. เอเตียน เดอ ลา โบเอตี เผด็จการมีอำนาจเพราะคนยอมเป็นทาสโดยสมัครใจ. สืบค้นเมื่อ 3 พฤศจิกายน 2562. จาก https://www.thepeople.co/read/13512

OLL Liberty Fund, Inc. Étienne de la Boétie provides one of the earliest and clearest explanations of why the suffering majority obeys the minority who rule over them; it is an example of voluntary servitude (1576). Retrieved May 12, 2023. (Online)


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 12 พฤษภาคม 2566