“การขายลูกเมียกิน” ของคนสยามในสายตาฝรั่ง เปิดบันทึกสัญญาค้าขายทาสในอดีต

ภาพวาด แหม่มแอนนา Anna and the King of Siam พบกับ นางละออ และลูก ซึ่งเป็น ทาส
ภาพวาดลายเส้นประกอบหนังสือของ Margaet Landon เรื่อง “Anna and the King of Siam” วาดโดย Margaret Ayer เป็นตอนที่ แหม่มแอนนา (แอนนา เลียวโนเวนส์) พบกับนางละออและลูก ซึ่งเป็นทาสที่แหม่มแอนนาเข้าช่วยเหลือให้เป็นไท (เป็นทาสในเรือนเบี้ยมิได้เป็นทาสที่ถูกพ่อแม่หรือผัวขายมา นำมาใช้เป็นภาพแทนลักษณะของทาสในอดีตเท่านั้น)

“การขายลูกเมียกิน” ของ “คนสยาม” ในสายตาฝรั่ง เปิดบันทึกสัญญาค้าขาย “ทาส” ในอดีต

ปัจจุบันการค้า “มนุษย์” ถือเป็นอาชญากรรมร่วมกันของมนุษยชาติ แต่ครั้งหนึ่ง มนุษย์เคยเป็นสินค้าที่สามารถซื้อขายเปลี่ยนมือได้โดยชอบ ซึ่งปรากฏอยู่ในหลายวัฒนธรรมไม่ว่าจะเป็นในตะวันตกหรือตะวันออก แม้จะมีลักษณะที่ต่างกันบ้างในรายละเอียด

Advertisement

เช่นเดียวกับสยามในอดีตที่กฎหมายยอมให้คนขายคนลงเป็น “ทาส” ได้ ดังที่กำหนดไว้ใน พระไอยการทาษ ประมวลกฎหมายตราสามดวง ที่ให้สิทธิแก่พ่อแม่ และผัว ในการขายลูกขายเมียแลกเงินได้ นอกเหนือไปจากการตกเป็นทาสในลักษณะอื่นๆ

เข้าสู่ศตวรรษที่ 19 ชาติตะวันตกที่ยกเลิกระบบทาสไปนานนับร้อยๆ ปี (ก่อนนำมาใช้อีกครั้งในดินแดนอาณานิคม แต่ก็ทยอยเลิกไปนับแต่ศตวรรษที่ 18 และหันมาต่อต้านการค้าทาสอย่างจริงจังนับแต่ต้นศตวรรษที่ 19) เมื่อมาเห็นว่า สยามประเทศยังคงมีการกดขี่ผู้คนลงเป็นทาสอยู่ก็มัก “ติเตียน” การรักษาระบบสังคมที่เอารัดเอาเปรียบเช่นนี้เอาไว้

อ็องรี มูโอต์ เป็นนักสำรวจชาวฝรั่งเศสในช่วงเวลาดังกล่าว ที่เข้ามาสำรวจพื้นที่ในแถบอุษาคเนย์ และเขาเป็นคนนึงที่มักตำหนิระบบทาสของสยามลงในบันทึกการเดินทางของตนเอง โดยอ้างว่า สยามในขณะนั้นมีทาสกว่า 1.5-1.8 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนถึง 1 ใน 3 ของประเทศ พร้อมยกตัวอย่างสัญญาซื้อขายทาสที่สังฆราชปาลเลอกัวเคยกล่าวถึงเอาไว้ในบันทึกของตน มีความว่า

“วันพุธที่ ๒๕ เดือน ๖ ทางจันทรคติ จุลศักราช ๑๒๑๑ ข้าพเจ้า ผู้เป็นผัว พร้อมนางกล ผู้เป็นเมีย นำลูกสาวชื่อ ‘มา’ มาขายให้กับคุณหลวงศรี เป็นเงิน ๘๐ ติกัล (๒๔๐ ฟรังก์) เพื่อให้ทำงานรับใช้นายท่านแทนดอกเบี้ย ถ้านานมาลูกสาวของเราหลบหนี ให้นายท่านกุมตัวข้าพเจ้า และบังคับให้ตามตัวนางมาส่งคืน

ข้าพเจ้า นายมีขอลงชื่อไว้เป็นพยาน”

สัญญาซื้อขายลูกตัวเองลงเป็นทาสฉบับนี้ ทำให้ชาวตะวันตกอย่างมูโอต์อดที่จะให้ความสนใจมิได้ เขายังกล่าวถึงการขายเมียตัวเองลงเป็นทาส โดยคนที่มีสถานะเป็นหัวหน้าครอบครัว ซึ่งเขาอ้างว่า “เป็นเรื่องทั่วไปในหมู่คนชั้นล่าง” และเป็นเรื่องที่ “เกิดขึ้นบ่อยและชวนสลดใจไม่มากก็น้อย”

นี่คือหนึ่งในเสียงวิจารณ์ของฝรั่งต่อสังคมสยามในอดีต ต่อ “การขายลูกเมียกิน” อย่างไรก็ดี สิ่งที่น่าแปลกใจก็คือ แม้ไทยจะได้เลิกทาสไปนานแล้ว แต่เมื่อคนไทยหลายคนในยุคปัจจุบันได้รับรู้ว่ามีชาวตะวันตก (ในอดีต) กล้ามาวิจารณ์เรื่องระบบทาสของสยาม (ในอดีต) ก็อดที่จะโต้ตอบไม่ได้ว่า “ทาสสยาม” มีความเป็นอยู่ที่ดีกว่า “ทาสตะวันตก”

แต่ข้ออ้างดังกล่าวก็เป็นข้อต่อสู้ที่ผิดกาลเทศะ เนื่องจากช่วงเวลาที่ฝรั่งวิจารณ์นั้น เขาได้เลิกการใช้ “ทาส” ไปแล้ว ประเด็นการถกเถียงในบริบทดังกล่าวจึงไม่ได้อยู่ที่ว่า ใครเลี้ยงดูทาสดีกว่ากัน แต่อยู่ที่ว่า เหตุใดสยาม (ในขณะนั้น) จึงยังคงระบบทาสเอาไว้ ซึ่งหากระบบทาสของสยามดีจริง ก็คงไม่มีประโยชน์อันใดที่สยามจะต้องเลิกทาส ตามคำวิจารณ์ของฝรั่งเขา

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 21 มีนาคม 2563