ทำไมสามีชาวยุโรปนิยม “ขายภรรยา” แทน “การหย่าร้าง” ในอดีต

ภาพวาด ขายภรรยา
ภาพวาดการขายภรรยาในช่วง 1812-1814

เหตุใดสามีชาวยุโรปนิยม “ขายภรรยา” แทน “การหย่าร้าง” ในอดีต

ช่วงศตวรรษที่ 17 การหย่าในยุโรป โดยเฉพาะในประเทศอังกฤษ ถือว่าเป็นเรื่องยุ่งยาก และมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูงมาก แม้การ “หย่าร้าง” จะมีกฎหมายควบคุม และต้องได้รับการอนุญาตจากคริสตจักร แต่ผู้ที่จะหย่าได้มักมีแต่คนรวย โดยการหย่าจะมีค่าใช้จ่ายราว 15,000 ถึง 20,000 ดอลลาร์เมื่อเทียบกับปัจจุบัน (ประมาณ 500,000-700,00 บาท) การ “ขายภรรยา” จึงเกิดขึ้น

การขายภรรยา เป็นทางเลือกที่ง่ายที่สุดในการยุติการแต่งงานของกลุ่มคนที่เป็นเกษตรกรหรือคนยากจน เนื่องจากพวกเขาไม่สามารถจ่ายเงินดังกล่าวได้ ทำได้เพียงแค่โอนกรรมสิทธิ์ความเป็นเจ้าของให้กับผู้ที่เสนอราคาสูงสุดในการขาย

ต่อมาช่วงกลางของศตวรรษที่ 18 การขายภรรยาเริ่มแพร่หลายมากขึ้นและกลายเป็นเรื่องธรรมดา มีสาเหตุหลักมาจากการที่สามีต้องออกจากบ้าน เพื่อไปรบยังดินแดนห่างไกล จนทำให้เกิดระยะห่างระหว่างคู่สามีภรรยา นำมาสู่การตัดสินใจที่จะหย่าร้าง

ขั้นตอนการขายภรรยามีลักษณะคล้ายกับการขายสินค้าโภคภัณฑ์ทั่วไป กล่าวคือ จะมีการประกาศล่วงหน้าผ่านโฆษณาทางหนังสือพิมพ์และการบอกปากต่อปาก โดยในวันที่ขาย ภรรยาจะถูกพาไปที่ตลาดในท้องถิ่นโดยผูกเชือกไว้ที่เอวหรือข้อมือ จากนั้นก็ให้ภรรยาขึ้นไปยืนบนแท่นยกสูงเพื่อเริ่มการประมูลซื้อขาย หากผู้ใดให้ราคามากที่สุดก็จะได้สตรีผู้นั้นไปครอบครอง

ดังกรณีของ Joseph Thompson ที่ขายภรรยาของตนใน ค.ศ. 1832 เขานำเธอมาขายโดยระบุคุณสมบัติข้อดีข้อเสียของเธอต่อผู้คนที่สนใจจะซื้อ ภรรยาของตนมีความสามารถในการรีดนมวัว ร้องเพลง และเป็นเพื่อนดื่มสุราที่ดี โดยขายเธอในราคา 50 ชิลลิง

การขายภรรยาดูเหมือนจะเป็นการบีบบังคับฝ่ายหญิง แต่ในความเป็นจริงการขายต้องได้รับความยินยอมจากฝ่ายภรรยาก่อน ภรรยามีสิทธิ์ที่จะปฏิเสธผู้ซื้อที่ตนไม่พึงพอใจ และในบางกรณีที่ภรรยาจะเข้าหาผู้ซื้อและโน้มน้าวให้เขาซื้อเธอ หรือภรรยาเองอาจจะซื้อตัวเองโดยการให้เงินกับผู้ซื้อ เนื่องจากเธอต้องการที่จะหลุดพ้นจากพันธะของการแต่งงานที่ไม่มีความสุข 

ดังที่ Jennifer Weiner เคยเขียนไว้ว่า “การหย่าร้างไม่ใช่โศกนาฏกรรม แต่การแต่งงานที่ปราศความสุขต่างหากคือโศกนาฏกรรม” ดังนั้น หากมองอีกมุมหนึ่ง การขายภรรยาเป็นเหมือนการเปิดโอกาสที่ทำให้ผู้หญิงบางคนได้หนีจากชีวิตในการแต่งงานที่ไม่มีความสุขได้ไปเริ่มต้นชีวิตใหม่

แม้ ขายภรรยา จะเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย แต่ทางการก็มักจะเมินเฉยเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ เนื่องจากตำรวจเองก็ขายภรรยาเช่นเดียวกัน จะเห็นได้ว่าการกระทำดังกล่าวเริ่มไม่ได้จำกัดอยู่แค่เฉพาะกลุ่มอีกต่อไป เริ่มมีการกระจายตัวไปในสังคมอื่น ๆ ไปสู่กลุ่มคนที่หลากหลายมากขึ้น การขายภรรยาจึงกลายเป็นประเพณีที่นิยมปฏิบัติในสมัยนั้น

แต่ช่วงปลายของคริสต์ศตวรรษที่ 18 ทัศนคติของสาธารณชนต่อการขายภรรยานั้นเริ่มเปลี่ยนไป การต่อต้านเริ่มปรากฏขึ้น และเริ่มชัดเจนมาขึ้นเมื่อก้าวสู่คริสต์ศตวรรษใหม่ ผู้คนเริ่มตระหนักถึงหลักสิทธิมนุษยชนมากขึ้น รู้สึกว่าการกระทำดังกล่าวคือการละเมิดและเหยียดหยามศักดิ์ศรีของผู้หญิง จึงก่อให้เกิดศาลการหย่าใน ค.ศ. 1857 การหย่าสามารถทำได้ง่ายมากขึ้น เพื่อให้ผู้หญิงสามารถยุติการแต่งงานด้วยตัวของพวกเธอเอง โดยไม่ต้องผ่านการขายจากสามี

ในความคิดของผู้เขียน ถึงแม้ประเพณีดังกล่าวอาจจะเกิดจากความยินยอมของฝ่ายภรรยา แต่การที่สามี “ขายภรรยา” ก็แสดงให้เห็นว่าอิสรภาพของพวกเธอถูกตีค่าเป็นเงิน แทนที่จะเป็นสิทธิที่ทุกคนพึงมีในร่างกายของตนเอง

ความเป็นจริงแล้วการแต่งงานในช่วงก่อนศตวรรษที่ 18 คือการตกลงกันระหว่างสามีและภรรยาที่ตัดสินใจจะใช้ชีวิตร่วมกัน ไม่มีพีธีการใด ๆ จึงทำให้เกิดคำถามที่ว่า ทำไมเมื่อตกลงหย่ากันถึงไม่เป็นการตัดสินใจเพียงแค่สองคน แล้วแยกย้ายไปใช้ชีวิตของตนเอง ทำไมพวกเธอต้องถูกนำมาขายเพื่อให้บรรดาผู้ชายมาประมูลพวกเธอ อีกทั้งการที่ถูกประมูลไปก็ไม่ได้รับประกันว่าพวกเธอจะมีอิสรภาพหรือไม่ เพราะสุดท้ายแล้วก็ต้องไปอยู่กับผู้ชายคนใหม่ หากไม่พึงพอใจก็อาจจะถูกขายอีกครั้ง

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

Goran Blazeski. 2016. “The strange English custom of wife-selling”. The vintagenews. Retrieved June 24, 2021, https://www.thevintagenews.com/2016/11/20/the-strange-english-custom-of-wife-selling

Erin Blakemore. 2018. “Between the 17th and 19th centuries, wife-selling was a weird custom with a practical purpose”. History Factual Entertainment Brand. Retrieved June  24, 2021, https://www.history.com/news/england-divorce-18th-century-wife-auction

“A Brief History of wife Selling in Victorian England”. SindhuNews. 2020. Retrieved June  24, 2021, https://sindhunews.net/sindhu-news-oh/the-practice-of-wife-selling-in-victorian-england

“Wife Selling: The 19th Century Alternative To Divorce”. History Daily. 2017. Retrieved June  24, 2021, https://historydaily.org/wife-selling-19th-century-alternative-divorce


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 25 มิถุนายน 2564