“ฮ่องเต้หย่งเล่อ” ขู่ “เจ้านครอินทร์” ให้ส่งตัวราชทูตจัมปาคืนเมือง

ฮ่องเต้หย่งเล่อ ขู่ เจ้านครอินทร์
จักรพรรดิหย่งเล่อ ภาพบนผืนผ้าไหมจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกรุงไทเป, ไต้หวัน

บันทึกหมิงสือลู่ตรงกับวันที่ 20 พฤศจิกายน ค.ศ. 1407 (พ.ศ. 1950) ซึ่งตรงกับรัชสมัยของ จักรพรรดิหย่งเล่อแห่งราชวงศ์หมิง พระองค์ได้มีศุภสารไปถึง เจาลู่ฉินอิงตัวหลัวตีล่า (เจ้านครอินทร์, สมเด็จพระอินทราชา, สมเด็จพระนครินทราธิราช) มีความว่า

“จัมปา สมุทระ มะละกา แลท่านต่างได้รับพระราชบัญชาของต้าหมิงหวางตี้ทัดเทียมเสมอกัน เหตุใดท่านจึงได้ใช้กำลังกักตัวราชทูตที่จะไปยังราชสำนักแลยึดเอาตราประทับต่างๆ ไป วิถีแห่งสวรรค์อันแจ่มแจ้งแล้วคือความรุ่งโรจน์ของผู้กระทำดีแลความหายนะของผู้กระทำความชั่วร้าย พวกโจรตระกูลหลี่แห่งอันหนาน ทั้งพ่อแลลูกได้ประสบความหายนะมาก่อนหน้านี้ ท่านอาจดูเป็นตัวอย่างได้เลย

Advertisement

ขอจงรีบส่งตัวราชทูตจัมปาคืนไป แลส่งตราประทับแลคำหับที่ราชสำนักมอบให้แก่มะละกาแลสมุทระ ต่อแต่นี้ไป ขอให้ท่านจงใส่ใจในบ้านเมืองท่านเองแลยึดถือความถูกต้องเหมาะสม อยู่อย่างสงบสุขกับเพื่อนบ้านของท่าน แลปกป้องดินแดนของตนเอง โดยวิถีทางนี้ ท่านจักได้สันติสุขอันใหญ่หลวง” (หมิงสือลู่-ชิงสือลู่ บันทึกเรื่องจริงแห่งราชวงศ์หมิงและราชวงศ์ชิงฯ. กรุงเทพฯ : มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา, 2559. น.127-128.)

เห็นไว้ว่า การกระทำของฝ่ายจีนแสดงถึงความเป็นเจ้าอธิราชเหนือรัฐบรรณาการทั้งหลาย และพยายามไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างรัฐบรรณาการ ที่จีนมองเห็นว่ามีสถานะเท่าเทียมกัน ในขณะที่ฝ่าย “เจ้านครอินทร์” พยายามแผ่อิทธิพลเหนืออาณาจักรอื่นๆ ในแถบอ่าวไทยและคาบสมุทรมลายู

ดร.วินัย พงศ์ศรีเพียร หัวหน้าคณะค้นคว้าเรื่องหมิงสือลู่ชิงสือลู่ฯ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า การยึดตราของราชทูตจากสมุทระและมะละกา เป็นการตอบโต้ที่กษัตริย์มะละกาได้สังหารข้าหลวงสยามที่ตูมาลิก หรือสิงคปุระใน ค.ศ. 1401 (พ.ศ. 1944) และความที่สมุทระเป็นพันธมิตรกับมะละกา จึงได้รับผลกระทบไปด้วย

ต่อมาใน ค.ศ. 1408 ตามบันทึกของหมิงสือลู่ คณะทูตของเจ้านครอินทร์ก็ได้เดินทางมาถึงราชสำนักหมิงเพื่อถวายเครื่องราชบรรณาการ และแสดงการยอมรับผิดที่ได้กระทำตามคำตำหนิอย่างรุนแรง ตามระบุในพระราชโองการ

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 17 มิถุนายน 2560