2 บก. “ศิลปวัฒนธรรม-มติชนสุดสัปดาห์” แชร์ความประทับใจ “นิธิ เอียวศรีวงศ์”

มติชน สุพจน์ แจ้งเร็ว สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร

สำนักพิมพ์มติชน ร่วมกับ ศูนย์ข้อมูลมติชน (MIC) จัดหนัก จัดเต็ม งาน “มติชนเปิดโกดังหนังสือการเมือง” มีหนังสือการเมืองหลากหลายมุม หลายร้อยปก ให้นักอ่านได้เลือกช้อปอย่างจุใจ รวมทั้งยังมีกิจกรรมร่วมรำลึกถึง “นิธิ เอียวศรีวงศ์” นักประวัติศาสตร์ นักเขียน และปัญญาชนสาธารณะคนสำคัญของไทย ผ่าน “นิธิทรรศกาล” นิทรรศการแสดงผลงานของนิธิ และเวทีเสวนา ถึงวันที่ 3 ก.ย. 2566 ที่มติชนอคาเดมี

วันที่ 2 ก.ย. “สุพจน์ แจ้งเร็ว” บรรณาธิการนิตยสารศิลปวัฒนธรรม และ “สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร” บรรณาธิการนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ ร่วมถ่ายทอดประสบการณ์ประทับใจในการเป็นบรรณาธิการผลงานของ อ.นิธิ ผ่านเวที “นิธิก่อนขึ้นแท่น(พิมพ์): เรื่องของบรรณาธิการกับงานของนิธิ เอียวศรีวงศ์” โดยมี “พิชญ์เดช แสงแก่นเพ็ชร์” จากมติชนสุดสัปดาห์ออนไลน์ เป็นผู้ดำเนินรายการ ท่ามกลางผู้สนใจเข้าฟังอย่างคับคั่ง

ผูกพัน “นิธิ” กว่า 4 ทศวรรษ

สุพจน์ แจ้งเร็ว บรรณาธิการนิตยสารศิลปวัฒนธรรม เริ่มการเสวนาด้วยเรื่องความประทับใจส่วนตัวที่มีต่อ อ.นิธิ โดยเล่าว่ารู้จักกับ อ.นิธิ เมื่อปี 2523 เนื่องจากอาจารย์ได้ส่งผลงานเข้ามายัง “ศิลปวัฒนธรรม” เพื่อตีพิมพ์ จากนั้นราวปี 2525-2526 ก็ได้รู้จักกันมากขึ้น เมื่อได้พูดคุยกันในวงสนทนาหลังเลิกงาน และเมื่อวงสนทนาจบลง สุพจน์ก็มีหน้าที่ไปส่ง อ.นิธิ ที่หัวลำโพงเพื่อขึ้นรถไฟ 

บรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม เล่าว่า วันหนึ่ง อ.นิธิ ถามมาหนึ่งประโยคว่า “อยากไปเรียนเมืองนอกไหม?” ตนจึงตอบกลับไปทันทีว่า “ทำไมผมจะต้องไป ในเมื่ออยู่เมืองไทย ผมก็ฉลาดได้” จากนั้น อ.นิธิ ก็ตอบกลับมา และเป็นประโยคที่ยังคงอยู่ในใจถึงทุกวันนี้ว่า “การออกไปมันไม่ได้เกี่ยวกับฉลาดหรือไม่ได้ฉลาด แต่การมองประเทศไทยจากที่ไกล ๆ มันมีประโยชน์”

“ต่อมาสักต้นปี 2527 ผมได้รับจดหมายจากอาจารย์นิธิ ในจดหมายฉบับนั้นอาจารย์เขียนว่า ได้ติดต่อไปหาเบน แอนเดอร์สัน หาทุนให้ผม แต่ยังไม่ทันจะส่งจดหมาย อาจารย์อานันท์ กาญจนพันธุ์ ก็กลับมา แล้วบอกว่าคอร์เนลยังไม่มีทุนในตอนนี้ อาจารย์นิธิจึงได้ฉีกจดหมายทิ้งไป แต่ในวันรุ่งขึ้นก็มีจดหมายจาก อาจารย์เบนมาให้หานักเรียนให้คนหนึ่ง”

“ความจริงมันมีทุนอยู่ 2 ทุน จากหลาย ๆ ประเทศ ทั้งอินโด มาเลย์ ไทย เป็นอันว่า อาจารย์นิธิก็ติดต่อมา เบนก็ส่งใบสมัคร อะไรต่ออะไรมา นี่คือครั้งที่ 1 ซึ่งแสดงเห็นถึงความน่าเชื่อถือของอาจารย์นิธิ”

สุพจน์เล่าอีกว่า เขาได้ยื่นสมัครไปเรียนวิชาประวัติศาสตร์ แม้ว่า อ.เบน แอนเดอร์สัน จะเป็นผู้อำนวยการก็ตาม แต่ก็ไม่ได้มีสิทธิ์ในการตัดสินใจว่าใครจะไปได้เรียนต่อ คนที่จะตัดสินใจได้คือ “เดวิด เค. วัยอาจ” ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ไทยอีกคนหนึ่ง

ขณะเดียวกันใบเกรดของสุพจน์ก็ย่ำแย่มาก อย่างที่เขาเล่าว่า

“ทรานสคริปต์ผมแย่มาก ผมเคยเรียนวิชากฎหมายมาก่อน แต่ก็ได้ F ประมาณ 7-8 ตัว แล้วผมก็กลับมาเรียนวิชาประวัติศาสตร์ วิชาแรกที่เรียนคือวิชาพื้นฐานประวัติศาสตร์ไทย ตอนนั้นทำศิลปวัฒนธรรมแล้ว ก็เรียนวิชาพื้นฐานประวัติศาสตร์ไทย ข้อสอบมันมี 2 ข้อ ผมทำทันแค่ข้อเดียว อาจารย์บอกไม่เป็นไร ไปทำรายงานมาส่ง ผมก็กลับบ้านไปคิด วันรุ่งขึ้นก็ตัดสินใจไม่ทำแล้ว สุดท้ายอาจารย์เขาก็ให้ D ต้องเรียนใหม่”

การตัดสินใจครั้งนั้นกลับทำให้ชีวิตของ “สุพจน์ แจ้งเร็ว” เปลี่ยนไป เพราะแม้ผลการเรียนจะย่ำแย่ จนคณะกรรมการตัดสินใจทุนจะส่ายหน้ากันหมด แต่ อ.เดวิด เค. วัยอาจ กลับพูดขึ้นมาว่า “นิธิก็เป็นแบบนี้” จึงทำให้บรรณาธิการศิลปวัฒนธรรมได้ไปเรียนต่อต่างประเทศ เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับนิธิที่สุพจน์ยังคงประทับใจมาถึงทุกวันนี้

นิธิ เอียวศรีวงศ์ ผู้ตรงต่อเวลาและกล้าหาญ

ด้าน สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร บรรณาธิการนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ เล่าว่า อ.นิธิ เขียนงานให้มติชนสุดสัปดาห์จากคำชักชวนของ “เสถียร จันทิมาธร” อดีตบรรณาธิการบริหาร นิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ 

ความประทับใจที่มีต่อ อ.นิธิ ขณะที่ทำงานร่วมกันในนิตยสาร ข้อแรกคงไม่พ้นความตรงต่อเวลา แม้ว่า อ.นิธิ จะเป็นนักวิชาการที่มีชื่อเสียง แต่เมื่อถึงวันจันทร์ที่ต้องส่งต้นฉบับก็ส่งมาก่อนเดดไลน์เสมอ ไม่ต้องให้กองบรรณาธิการโทรไปถาม 

ทว่าสิ่งที่ประทับใจมากกว่านั้นคือช่วงรัฐประหาร ปี 2557 อ.นิธิ ได้โทรมาหากองบรรณาธิการว่า จะขอเขียนงานตามใจตัวเอง แม้ว่าบรรยากาศทางการเมืองขณะนั้นจะคุกรุ่นแค่ไหนก็ตาม

“หลังรัฐประหารปี 2557 ปกติผมกับ อ.นิธิ จะติดต่อกันน้อยมาก ปีหนึ่งจะคุยกัน 2-3 ครั้ง บางปีไม่ได้คุยกันเลย แต่หลังการปฏิวัติปี 2557 อ.นิธิ โทรศัพท์มาบอกคุณอูครับ ผมมีเรื่องที่จะต้องแจ้งว่า ต่อแต่นี้ ผมจะขอเขียนเรื่องตามใจตัวเอง”

แต่ภายใต้การเขียนเรื่องตามใจตัวเองอย่างที่ อ.นิธิ ว่าไว้นั้น กลับทำให้เห็นถึงความเด็ดเดี่ยวและความรับผิดชอบอันสูงลิ่วของนักวิชาการคนนี้ 

“ตอนนั้นบรรยากาศหลังรัฐประหาร การปรับทัศนคติมีอยู่ตลอด…พออาจารย์นิธิเกริ่นมาว่า ผมจะขอเขียนตามใจ ความรู้สึกแรกคือผมหนักใจมาก ในแง่ บ.ก. แต่ใน mou ข้อที่ 2 บอกไว้ว่า แม้ผมจะเขียนตามใจผม แต่ถ้าหากข้อเขียนนั้นมีผลกระทบต่อมติชน หรือต่อองค์กร ขอให้ยกต้นฉบับนั้นเลย แต่ขออย่าเซ็นเซอร์ต้นฉบับ ถ้าหากจะไม่ลงก็ไม่ลง”

นอกจากนี้ ยังมีอีกเหตุการณ์หนึ่งที่ลืมไม่ลงเช่นกัน สุวพงศ์เล่าว่า มีวันหนึ่งซึ่งเชื่อมโยงกับเหตุการณ์ช่วงรัฐประหาร ทางสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้โทรมาสอบถามกับทางกองบรรณาธิการนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ว่า นายนิธิ เป็นใคร โดยให้เหตุผลว่ามีบุคคลบางฝ่ายแจ้งมา แม้จะเป็นหน้าที่ของ บ.ก. ในการแจงข้อมูลและเหตุผล แต่เขาก็ต้องโทรไปหาอาจารย์ และสิ่งที่อาจารย์ตอบกลับมาทำให้สุวพงศ์ประทับใจมากกว่าเดิม เพราะ อ.นิธิ ตอบว่า “คุณบอกไปเลย ผมอยู่ไหน ให้ติดต่อมาที่ผม ผมรับผิดชอบเอง”

ผลงาน “นิธิ เอียวศรีวงศ์” ที่อยากให้ทุกคนอ่าน

สุพจน์ เผยว่า คงเป็นหนังสือ 4 เล่มแรกที่รวบรวมจากบทความของอาจารย์ที่ตีพิมพ์ในช่วง 13 ปีแรก ได้แก่ 1. ชาติไทย, เมืองไทย, แบบเรียนและอนุสาวรีย์ 2. กรุงแตก, พระเจ้าตากฯ และประวัติศาสตร์ไทย 3. โขน, คาราบาว, น้ำเน่าและหนังไทย และ 4. ผ้าขาวม้า, ผ้าซิ่น, กางเกงใน และ ฯลฯ 

ทั้ง 4 เล่มนี้มีเรื่องราวที่เกิดขึ้นมากมาย เป็นเล่มที่ใช้พลังในการทุ่มเทอย่างมาก เพราะเริ่มต้นจากการรวบรวมงานของอาจารย์ทั้งหมดในรูปแบบต้นฉบับ มาคัดเลือกและแปลงมาให้เหมาะสมกับหนังสือ นอกจากนี้ ยังได้ อ.นิธิ มาช่วยเหลือและแนะนำในเรื่องของการทำเล่ม เนื้อหาของบทความที่ควรใส่หรือไม่ควรใส่ 

ส่วนสุวพงศ์เริ่มต้นด้วยการพูดถึงสไตล์การเขียนงานของ อ. นิธิ ว่า งานอาจารย์นิธิเหมือนกับงานแกะพระ คือมีความปราณีต แต่ถ้าสังเกตนิดหนึ่ง คืองานอาจารย์นิธิจะมีความก้ำกึ่งระหว่างวิชาการ และนักหนังสือพิมพ์ แม้ว่าสันหลังเรื่องจะเป็นวิชาการ แต่การนำเสนอจะมีความเป็นนักหนังสือพิมพ์อยู่”

ก่อนจะเริ่มพูดถึงเบื้องหลังผลงานสุดท้ายที่อยากจะให้คนได้สัมผัสอย่างเรื่องวันชาติ ในนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ ซึ่งผลงานนี้เป็นงานที่อาจารย์อยากเขียนมาก และคาดว่าจะเขียนขึ้น 3 ตอน เนื่องจากมีคนหลายกลุ่มได้ออกมาแสดงทัศนะถึงเรื่องชาติในเชิงฝ่ายขวา ซึ่งไม่เหมือนกับที่อาจารย์คิด อาจารย์ทุ่มเทแรงกายแรงใจในการเขียนบทความขึ้น ถึงขนาดที่ว่าเลือดกำเดาจะไหล เนื่องมาจากปัญหาสุขภาพเรื้อรัง แต่ก็ยังเขียนต่อไป จนในที่สุดก็ปล่อยตอนที่ 1 ออกมาในนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ ทว่าน่าเสียดายที่ตอนที่ 2 และ 3 ไม่สามารถปล่อยออกมาได้แล้ว เนื่องจากอาจารย์เสียชีวิต 

“นิธิ เอียวศรีวงศ์” ในสายตา 

สุพจน์กล่าวถึงความแตกต่างของงาน อ.นิธิ ที่ไม่เหมือนใครว่า

“ผลงานของอาจารย์นิธิมีความแปลกหรือแตกต่างอย่างไร ผมก็มานั่งนึก ผมจับสังเกตได้อย่างหนึ่ง งานประวัติศาสตร์แบบเก่าจะถามว่า ใคร ทำอะไร ทำไปทำไม เช่น หนังสืองานนพมาศ ใครเขียน เขียนทำไม แต่อาจารย์นิธิฉีกออกไปเลย ทำไมถึงเขียนแบบนั้น คือย้อนกลับไปดูบริบทของสังคม หรืออย่างในงานสุนทรภู่เอง…อาจารย์นิธิไม่ได้มองถึงตัวสุนทรภู่ ในฐานะสุนทรภู่ แต่มองสุนทรภู่ในฐานะคนที่อยู่ในสังคมตอนนั้น นี่คือมุมมองของอาจารย์นิธิซึ่งไม่เหมือนคนอื่น ไม่เหมือนจิตร ภูมิศักดิ์ ที่จะตั้งคำถามว่า เขียนทำไม หลอกลวงเรื่องอะไร อันนี้ผมพูดถึงเรื่องวิธีมอง อาจารย์นิธิจะมีการมองจากด้านบนลงมาด้านล่าง”

ส่วนสุวพงศ์มองว่า ภาพจำของผู้เชี่ยวชาญทางด้านประวัติศาสตร์คนนี้ที่โดดเด่นไม่เหมือนใครมีอยู่ 2 เรื่องได้แก่ เรื่องของการเป็นอาจารย์ที่แท้จริง และอีกอย่างหนึ่งคือ แม้อาจารย์จะได้มีชื่อเสียงมากแค่ไหนก็ตาม แต่ก็ยังไม่ละเลยคนตัวเล็กตัวน้อย 

“ภาพจำของผม คืออาจารย์นิธิกำลังค้ำไม้เท้า ห้อยคอด้วยป้ายนักโทษทางการเมือง ทั้งในตอนต้องการเลือกตั้ง หรือเหตุการณ์ชาวบ้านจะนะ…นี่คือภาพจำส่วนตัว ค่อนข้างประทับใจ ถ้าถามว่าอาจารย์นิธิคืออะไร คือภาพนี้ตลอด”

นิธิ เอียวศรีวงศ์
นิธิ เ​อี​ยว​ศรี​วงศ์ (ภาพจาก ศูนย์ข้อมูลมติชน – สงวนลิขสิทธิ์ภาพ)

อ่านเพิ่มเติม :

“สุพจน์ แจ้งเร็ว” กับปาฐกถาพิเศษเนื่องในโอกาสรับรางวัล “บรรณาธิการดีเด่น รางวัลคุณนิลวรรณ ปิ่นทอง 2565”

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 4 กันยายน 2566