“สุพจน์ แจ้งเร็ว” กับปาฐกถาพิเศษเนื่องในโอกาสรับรางวัล “บรรณาธิการดีเด่น รางวัลคุณนิลวรรณ ปิ่นทอง 2565”

สุพจน์ แจ้งเร็ว นิตยสารศิลปวัฒนธรรม

“…ตราบใดที่ยังมีหนังสือไม่ว่าจะในรูปแบบกระดาษ หรือจอกระจก ตราบใดที่มีผู้ชอบเขียน ตราบใดที่ยังมีคนชอบอ่าน ตราบนั้นบรรณาธิการทั้งหลายก็ยังคงมีบทบาทดังที่กล่าวมาข้างต้นนั้น เป็นบทบาทในฐานะผู้ประสานทั้ง 3 ส่วน คือ คนทำหนังสือ คนเขียนหนังสือ และคนอ่านหนังสือให้เขากัน และโดยบทบาทเช่นนี้ที่ได้ผลักดันให้สังคมหนังสือโดยรวมดำเนินต่อไป อย่างน้อยก็ในปัจจุบัน ไม่ว่าอนาคตข้างหน้าของสังคมหนังสือจะเป็นอย่างไรก็ตาม สุพจน์ แจ้งเร็ว บรรณาธิการประจำนิตยสาร และหนังสือ “ศิลปวัฒนธรรม” ผู้คร่ำหวอดในวงการประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม กล่าวในงาน “ประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2566 สมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย”

ไม่กี่วันที่ผ่านมา สมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทยได้จัดการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2566 พร้อมประกาศรางวัล “บรรณาธิการดีเด่น รางวัลคุณนิลวรรณ ปิ่นทอง ประจำปีพุทธศักราช 2565 หนึ่งในนั้นคือคุณ “สุพจน์ แจ้งเร็ว” บรรณาธิการมืออาชีพประจำนิตยสาร และหนังสือภายใต้สำนักพิมพ์ “ศิลปวัฒนธรรม” ที่มีประวัติยาวนาน

สุพจน์กล่าวปาฐกถาพิเศษ เนื่องในโอกาสรับรางวัล “บรรณาธิการดีเด่น รางวัลคุณนิลวรรณ ปิ่นทอง ประจำปีพุทธศักราช 2565 ดังนี้ 

“กราบเรียนท่านนายกและกรรมการบริหารสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ตลอดจนท่านผู้มีเกียรติทุกท่านที่ได้มาร่วมงานประชุมในการถ่ายทอดนะครับ ผมรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่วันนี้ คณะกรรมการบริหารสมาคมภาษาและหนังสือได้มอบ ‘รางวัลบรรณาธิการดีเด่น’ รางวัลคุณนิลวรรณ ปิ่นทอง ซึ่งเป็นรางวัลที่มีค่าอย่างยิ่งสำหรับคนทำหนังสือและกระผม

คุณนิลวรรณ ปิ่นทอง หรือที่เราเรียกด้วยความเคารพหรือเรียกด้วยความคุ้นเคยว่า อ.นิลวรรณนั้น เป็นบรรณาธิการที่เป็นแบบอย่างของคนทำหนังสือ อาชีวปฏิญาณของท่านคือหนังสือ ชีวิตของท่านก็คือหนังสือ เพราะฉะนั้นรางวัลที่ได้ตั้งขึ้นในนามของท่าน จึงเป็นรางวัลที่ทรงเกียรติอย่างยิ่ง สำหรับทุกคนที่ได้รับ นอกจากจะขอขอบคุณท่านนายกและคณะกรรมาธิการบริหารสมาคมทุกท่านแล้ว ผมใคร่ขอโอกาสนี้ขอบคุณบรรดาครูบาอาจารย์ที่ได้ให้ความรู้ทั้งทางตรงและทางอ้อมในทางวิชาหนังสือ บางท่านให้รวมถึงโอกาสและในฐานะบรรณาธิการจนถึงวันนี้ 

ท่านแรกนะครับในชีวิตทำหนังสือของผม ก็คือ ‘อ.เปลื้อง ณ นคร’ ผมไม่ได้รู้จักท่านเป็นการส่วนตัวแต่หนังสือคำบรรยาย วิชาการประพันธ์ และหนังสือพิมพ์ของท่าน ได้ให้ความรู้เป็นเล่มแรกตั้งแต่สมัยเป็นนักเรียนมัธยมต้น หลายสิ่งหลายอย่างในหนังสือเล่มนั้น ผมยังจำมาใช้จนถึงทุกวันนี้ แม้กระทั่งการจัดเตรียมต้นฉบับเพื่อส่งพิมพ์ ก็ยังใช้ตามแบบอ.เปลื้องแนะนำมาตลอด 

ท่านต่อมาคือ ‘อ.สุภา ศิริมานนท์’ นักวิชาการทางด้านหนังสือพิมพ์ ท่านอ.สุภาเป็นตัวอย่างของคนทำหนังสือที่เรียกได้ว่าปราณีต มีความละเอียด ตั้งแต่เรื่องผู้เขียน เนื้อหา จนไปถึงการจัดหน้าหนังสือ นี่ก็เช่นเดียวกับ ‘สุลักษณ์ ศิวรักษ์’ 

คุณ ‘อาจิน ปัญจพรรค์’ เป็นครูนอกตำราอีกหนึ่งที่เล่าถึงประสบการณ์การเป็นบรรณาธิการ การดำเนินกิจการทุกครั้งที่ได้มีการสนทนาในการทำหนังสือ ส่วนบรรณาธิการอีกสองท่านที่พิมพ์งานของผมสมัยยังเป็นนักศึกษา เป็นบรรณาธิการสองคนแรกก็คือคุณ ‘เสถียร จันทิมาธร’ และ ‘สุชาติ สวัสดิ์ศรี’ ซึ่งให้ความหวังดีเสมอมา 

ที่สำคัญที่สุดคือคุณ ‘สุจิตต์ วงษ์เทศ’ ผู้ให้ทั้งคำสอน ให้ทั้งการปฏิบัติ ให้เวลาในการลองผิดลองถูก ตั้งแต่ผมเริ่มต้นเข้ามาทำงานในนิตยสารฉบับนี้ เมื่อ 44 ปีที่แล้วนะครับ ท่านสุดท้ายคือคุณ ‘ขรรค์ชัย บุนปาน’ ประธานกรรมการบริษัทมติชน จำกัด (มหาชน) ที่ให้โอกาสในการทำงาน ทั้งในฐานะบรรณาธิการหนังสือเล่มและบรรณาธิการนิตยสารติดต่อกันมาเป็นเวลายาวนาน 

เมื่อได้เอ่ยถึงบรรดาบรรณาธิการทั้งหลายเหล่านี้มา ผมนึกถึงอาจารย์เจ้าของรางวัลก็คือ อ.นิลวรรณ ปิ่นทอง ความจริงผมได้รู้จักชื่อท่านมาก่อนบุคคลอื่นที่ได้กล่าวมานี้ แต่ไม่เป็นการส่วนตัว สถานที่ที่ผมได้รู้จักชื่อของท่านคือ ‘หนังสือวันเด็ก’ ประจำปี 2505 หนังสือวันเด็กของปีนั้นมีชื่อว่า ‘เด็กของเรา ฟัง ดู อ่านอะไร’ ซึ่งมันเป็นหนังสือสำหรับผู้ปกครองมากกว่าจะเป็นหนังสือของเด็ก ไม่ได้มีเรื่องสนุกสนาน รื่นเริง บันเทิงใจ อะไรเลย มีแต่รายชื่อหนังสือ แต่รายชื่อหนังสือและรายชื่อบุคคลต่าง ๆ นานา เหล่านั้นมันเป็นแรงบันดาลใจ ให้กับคนที่อ่าน ในบทความเรื่อง ‘ต้อยชอบหา’ ก็ได้กล่าวถึง ‘สตรีสาร’ ‘ดรุณสาร’ ‘สโมสรปรียา’ ซึ่งทั้งหมดนี้ อ.นิลวรรณเป็นคนสร้าง 

หัวข้อที่ผมจะพูดถึงในวันนี้ ความจริงใช้สุนทรกถาออกจะใหญ่โต คือบทบาทของบรรณาธิการในสังคมหนังสือปัจจุบัน เมื่อผมเอ่ยชื่อถึงรายชื่อบรรณาธิการทั้งหลายมาข้างต้นนั้น ผมก็นึกขึ้นได้ว่า ท่านเหล่านั้นมีบทบาทอะไรในฐานะคนทำหนังสือในช่วงเวลานั้น แล้วลองเทียบดูว่าในสังคมหนังสือปัจจุบันมีอะไรบ้างที่เปลี่ยนไป ซึ่งในการใช้คำว่าปัจจุบันนั้น เราคงเข้าใจร่วมกันว่ามันไม่ได้หมายความเพียงว่าเวลาขณะนี้ลอย ๆ หรือวินาทีนี้ วันนี้ แต่มันหมายไปถึงความเปลี่ยนแปลง ความเปลี่ยนแปลงที่มันต่างไปจากอดีต 

ทุกวันนี้สังคมหนังสือเปลี่ยนแปลงไปมากมาย ผมได้ความรู้มากมายจากคุณมนทิรา (มนทิรา จูฑะพุทธิ) มันเปลี่ยน โดยเฉพาะนิตยสารหรือวารสารต่าง ๆ หนังสือเล่มอาจจะยังอยู่ในสถานะที่ดีกว่า กับงานสัปดาห์หนังสือก็ยังคึกคักอยู่ตลอดมา นักเขียน นักแปลใหม่ ๆ ก็ยังคงมีติดต่อกันมา 

แต่นิตยสารและวารสารซึ่งครั้งหนึ่งมันเคยเป็นเอ็นเตอร์เทนเมนต์ประจำครอบครัว เช่นเดียวกับหนังสือพิมพ์เช้าและรายการโทรทัศน์ที่ดูพร้อมกันทั้งบ้าน มันไม่เป็นอย่างนั้นอีกต่อไปแล้ว หลายปีมานี้ที่ติดต่อกันมา นิตยสารหลายเล่มต้องปิดตัวไปและที่เห็นชัดที่สุดก็คือแผงหนังสือริมทางซึ่งเป็นสถานที่สำคัญสำหรับเผยแพร่จำหน่ายหนังสือเหล่านี้แก่ผู้อ่านทั่ว ๆ ไป อาจจะเป็นคนรุ่นเก่า แทบหาไม่ได้แล้ว พูดได้ว่าไม่มีแล้ว ทุกวันนี้เรามีสมาร์ทโฟน มีโซเชียลมีเดีย มีทุกอย่างในตัวเอง มีหนังสือ มีโทรทัศน์ มีวิทยุ คุณจะฟัง ดู อ่าน อะไรในตัวมันได้ทั้งหมด แม้ระหว่างยืนรอรถประจำทางซึ่งยาวนานพอที่จะดู อ่าน ฟัง สิ่งเหล่านั้น

ข้อกังขาในปี 2505 ที่ผู้ใหญ่ทั้งหลายหวั่นใจว่า ‘เด็กของเราฟังดูอ่านอะไร’ เมื่อมาถามในปีนี้ คำตอบมันจะได้ไม่เหมือนเดิมอีก 

แล้วบทบาทของบรรณาธิการคืออะไรในสังคมหนังสือปัจจุบัน ผมคิดว่ารูปแบบหนังสือ ไม่ว่าจะเปลี่ยนไปอย่างไร หรือว่าช่องทางการขาย หรือเนื้อหาการเขียน อะไรก็ตาม เปลี่ยนแปลงไปอย่างไร บทบาทของบรรณาธิการในฐานะบรรณาธิการ มันไม่น่าจะต่างกัน ตราบใดที่เรายังเรียงพิมพ์หนังสือด้วยตัวตะกั่วแบบในอดีต ตราบนั้นช่างเรียงก็ยังมีบทบาทอยู่ ตราบใดที่ยังมีหนังสือ ไม่ว่าจะเป็นนิตยสาร ไม่ว่าจะเป็นหนังสือเล่ม ตราบใดที่ยังมีผู้เขียน มีผู้อ่าน ก็ยังมีบรรณาธิการทำหน้าที่ของตน เพื่อให้หนังสือและผู้อ่านมาพบกัน 

ผมเคยคุยกับวงสนทนาเล่น ๆ กับบรรณาธิการอาวุโสหลายท่าน ถามว่า บทบาทของบรรณาธิการคืออะไร ท่านนั้นก็ตอบสั้น ๆ สั้นที่สุดเลย ‘ค้นหาเพชร’ ซึ่งไอ้คำตอบสั้น ๆ นี้เราต้องมาขยายความนะครับ คือบรรณาธิการคนหนึ่ง ไม่ว่าจะหนังสือ หรือจอกระจก หรือจะเป็นหนังสือ หรืออะไรก็ตาม เมื่อต้องการให้หนังสือดำเนินไป ก็จะต้องหางานเขียนที่ดี ที่มีค่า น่าสนใจต่อผู้อ่านของเขา ต้องการนักเขียนในทางที่เขาต้องการ คือต้องสอดคล้องกับความต้องการของสถานะหนังสือ 

บรรณาธิการท่านหนึ่งกล่าวว่า บรรณาธิการเป็นอย่างไร หนังสือก็เป็นอย่างนั้น นั่นคือนักเขียนอยู่ในดุลพินิจของบรรณาธิการว่าดี ว่าเหมาะ หรือบรรณาธิการชอบหรือไม่ชอบ ซึ่งมันนำไปสู่การทำเป็นหนังสือออกเผยแพร่สู่สาธารณะ 

คราวนี้ นักเขียนก็ไม่ได้มีแต่นักเขียนมืออาชีพที่ประสบความสำเร็จในทันที ในระหว่างที่หนังสือมันดำเนินการไปนั้น มันก็มีคนใหม่ ๆ ปรากฏตัวขึ้นมาเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นหนังสือหรือเล่มนิยสารอะไรก็ตาม นี่คือ ‘เพชร’ ที่บรรณาธิการมีบทบาทในการนำเสนอต่อสังคมหนังสือ และที่สำคัญคือเพชรที่ว่านี้ มันไม่ได้สำเร็จรูปเสมอไป บางคนมีฝีมืออยู่แล้ว แต่ไม่มีโอกาสเสนอตัวในสังคมหมู่มาก บางคนยังต้องการเจียระไน 

ลองนึกถึงคุณ ‘กุหลาบ สายประดิษฐ์’ หรือ ‘ศรีบูรพา’ บังคับให้คุณ ‘โชติ แพร่พันธุ์’ เขียนหนังสือ เราก็ได้ ‘ยาขอบ’ นึกถึง อ.นิลวรรณกำลังจะถ่ายทอดวิชาบรรณาธิการให้แก่ คุณ ‘สุภัทร สวัสดิ์ลักษณ์’ สิ่งที่ตามมาในเวลาต่อมาคือ นิตยสาร ‘สกุลไทย’ และในหน้าของสตรีสารนั้นก็เป็นเวทีให้นักเขียนอีกหลายท่าน ได้เริ่มต้นหรือสร้างชื่อเพิ่มขึ้นในเวลาต่อมา กฤษณา อโศกสิน, โบตั๋น (สุภา สิริสิงห) และวาณิช จรุงกิจอนันต์ เริ่มมาจากตรงนี้ 

นึกถึง อ.สุลักษ์ ศิวรักษ์ เมื่ออ่านงานของ ‘อังคาร กัลยาณพงศ์’ นึกถึงคุณ ‘จำนง รังสิกุล’ แห่งไทยทีวีช่อง 4 ที่ขอร้องแกมบังคับถึง 2 ครั้งให้คุณ ‘อาจินต์ ปัญจพรรค์’ เข้ามารับทำหนังสือนิตยสารไทยทีวี ตอนนั้นคุณอาจินต์ยังเป็นแค่นักเขียนและประจำอยู่ช่อง 4 จากตรงนั้นเราจึงได้ ‘ฟ้าเมืองไทย’ ในเวลาอีก 10 ปีต่อมา และจากฟ้าเมืองไทยเราได้ ‘นิมิตร ภูมิถาวร’ ได้ ‘คำพูน บุญทวี’ หรือนักเขียนรางวัลซีไรต์ นี่คือเรื่องราวของเพชรที่บรรณาธิการในแต่ละรุ่น ๆ ได้สร้างและส่งต่อกันมา 

คราวนี้ขอยกตัวอย่างเรื่องใกล้ตัวสักนิดของศิลปวัฒนธรรม เมื่อ คุณสุจิตต์ วงษ์เทศ ออกนิตยสารมาในเดือนพฤศจิกายน ปี 2522 คุณสุจิตต์ ได้รู้จักกับฝรั่งอังกฤษคนหนึ่ง ทำงานธนาคาร ไม่เคยเขียนหนังสือที่ไหน แต่มีความรู้ภาษาไทย มีความรู้ที่เขาศึกษาด้วยตนเองจนเขาอ่านศิลาจารึกได้ ฝรั่งคนนั้นเริ่มต้นเขียนหนังสือ เริ่มต้นเขียนบทความเป็นภาษาไทยครั้งแรกใน ‘ศิลปวัฒนธรรม’ ในฉบับปฐมฤกษ์ เรื่อง ‘ส้วม สมัยสุโขทัย’ เขาเขียนด้วยความรู้ เขียนด้วยอารมณ์ขัน เป็นต้นฉบับลายมือเท่าหม้อแกงของเขาเนี่ย แล้วก็มีสะกดผิด สะกดถูก แต่สำนวนทั้งหมดเป็นของเขา 100% ไม่มีบรรณาธิการคนไหนไปแก้ได้และไม่สมควรจะแก้ นั่นคือ คุณ ‘ไมเคิล ไรท’ เจ้าของฉายาฝรั่งคลั่งสยาม ซึ่งน่าเสียดายที่ท่านล่วงลับไปแล้ว 

อันนี้แน่นอนอย่างที่ว่าผมขยายบทบาทของ บก. ไปอีกนิดหนึ่ง ไม่ใช่ทุกคนจะเป็นของแท้ตั้งแต่เริ่มต้นในบรรดาคาถา 3 คำของ คุณอาจินต์ ปัญจพรรค์ ในการเลือกเรื่องมาลงหนังสือก็คือ ‘ True’ ‘Kind’ ‘Necessary’

‘True’ นี่ก็คือของแท้แน่นอน เราเห็นต้นฉบับ เราเห็นนักเขียน เราเห็นงานของเขา เรารู้ว่าใช้ได้ ใช้ได้โดยไม่ต้องไปแตะต้องอะไรเลย ส่วน ‘Necessary’ คือความจำเป็น คือจำต้องลงพิมพ์เพราะมันเป็นประสบการณ์ที่บรรณาธิการส่วนมากมีและพบ จำเป็นจะต้องลง ก็ต้องลง ไม่ต้องถาม ที่สำคัญที่สุดคือ ‘Kind’ คือเลือกชนิดที่ยังไม่ได้ 100% บรรณาธิการจะต้องขัดเกลา ต้องแนะนำด้วยความปรารถนาดี ผมว่าหน้าที่ของบรรณาธิการอยู่ตรงนี้มากกว่าที่อื่น อันนี้ไม่ได้กล่าวแค่ถึงในสิ่งที่ลงพิมพ์ในนิตยสารหรือวารสาร 

แม้การพิมพ์ในหนังสือเล่ม หรือในหนังสือวิชาการ อะไรก็ดี ที่คัดเลือกมาจากวิทยานิพนธ์หรืองานเขียนอื่น ๆ จะต้องมีบรรณาธิการเป็นผู้ช่วยขัดเกลาให้ตรงนี้ ซึ่งมันมีบทบาทของบรรณาธิการ ไม่ว่าคุณจะเป็นผู้ใดก็ตาม แทรกประกอบอยู่ในงานนั้นทั้งสิ้น ซึ่งผมเห็นว่าบทบาทในการค้นหาเพชร หรือนักเขียนใหม่ ๆ ซึ่งต้องนับรวมไปถึงคนทำหนังสือใหม่ ๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็น ผู้ช่วยบรรณาธิการ พนักงานที่ทำอยู่ในหนังสือ พนักงานพิสูจน์อักษร ก็มีบทบาทในสิ่งเหล่านี้ นี่คือบทบาทของบรรณาธิการในการหาบุคคลเหล่านี้มาทำ ให้หนังสือมันดำเนินการต่อไปได้

กล่าวโดยสรุปก็คือ บทบาทของการหาเพชร หรือนักเขียน ซึ่งรวมไปถึงคนทำหนังสือรุ่นใหม่ ๆ ที่สามารถพัฒนาสังคมหนังสือต่อไปได้ คือบทบาทของบรรณาธิการที่ผ่านมารุ่นต่อรุ่น นับตั้งแต่เรามีระบบการพิมพ์แบบตะวันตกมาจนถึงปัจจุบัน ไม่อย่างนั้นหนังสือมันไม่อยู่

ตราบใดที่ยังมีหนังสือไม่ว่าจะในรูปแบบกระดาษ หรือจอกระจก ตราบใดที่มีผู้ชอบเขียน ตราบใดที่ยังมีคนชอบอ่านตราบนั้นบรรณาธิการทั้งหลายก็ยังคงมีบทบาทดังที่กล่าวมาข้างต้นนั้นเป็นบทบาทในฐานะผู้ประสานทั้ง 3 ส่วน คือ คนทำหนังสือ คนเขียนหนังสือ และคนอ่านหนังสือให้เขากัน และโดยบทบาทเช่นนี้ที่ได้ผลักดันให้สังคมหนังสือโดยรวมดำเนินต่อไป อย่างน้อยก็ในปัจจุบัน ไม่ว่าอนาคตข้างหน้าของสังคมหนังสือจะเป็นอย่างไรก็ตาม

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 26 มิถุนายน 2566