อาจินต์ ปัญจพรรค์ กับผลงานที่คิดถึง และคิดไม่ถึงว่าเป็นงานของเขา

สำนักงานพ็อกเก็ตบุ๊ก ที่ราชเทวี ซึ่งอาจินต์ตั้งขึ้นเพื่อพิมพ์เรื่องสั้นเหมืองแร่ออกจำหน่าย ด้วยการ "เขียนเอง พิมพ์เอง ขายเอง" (ภาพจากหนังสือชีวประวัติอาจินต์ ปัญจพรรค์)

อาจินต์ ปัญจพรรค์ (11 ตุลาคม 2470 – 17 พฤศจิกายน 2561) เป็นบุตรชายของขุนปัญจพรรค์พิบูล (พิบูล ปัญจพรรค์) กับนางกระแส ปัญจพรรค์ (โกมารทัต) ด้วยพื้นฐานครอบครัวที่สนับสนุนและเห็นความสำคัญของการศึกษา อาจินต์ ปัญจพรรค์ จึงได้เรียนต่อในระดับอุดมศึกษา ที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นการเลือกเรียนตามใจพ่อแม่ อาจินต์เคยเล่าเรื่องนี้ไว้ว่า

“ความจริงผมอยากเรียนอักษรศาสตร์ แต่คุณพ่อบอกว่าพี่อุ่ม [ชุอ่ม ปัญจพรรค์] เรียนแล้ว ท่านอยากให้เข้าวิศวะซึ่งเป็นที่นิยมกันมา…”

แต่ขณะเรียนอยู่ชั้นปีที่ 1 เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ในช่วงปี 2486-2487 มีการทิ้งระเบิดหนักมากขึ้น มหาวิทยาลัยประกาศว่านิสิตที่มีเวลาเรียนปีนั้นเกินกว่า 80% ขึ้นชั้นปีที่ 2 ได้ไม่ต้องสอบ แล้วมหาวิทยาลัยก็ปิดไม่มีกำหนด นิสิตต่างพากันกลับบ้านเกิดหนีการทิ้งระเบิด เมื่อสงครามสงบ อาจินต์ กลับมาเรียนต่อในปี 2488 แต่ใจเขาอยู่นอกห้องเรียน

อาจินต์เล่าว่า “การไปมหาวิทยาลัยของผมเพื่อพบปะเพื่อนฝูงไปวันๆ ไม่มีกะจิตกะใจจะเรียนหนังสือเลย เวลาเข้าฝึกงานที่คณะวิศวะเขาให้หัดเลื่อยไม้ขนาด 1 ฟุต กว้างหนา 1 คูณ 1 นิ้วไม่ให้บิดเบี้ยว ผมก็ทำไม่ได้ ความคิดจิตใจไปอยู่ที่นวนิยายและหนังสือที่ออกมาใหม่ๆ มากมายนั้น…”

สุดท้ายคณะวิศวะก็เสียอาจินต์ไป แต่โลกได้นักเขียนที่ชื่ออาจินต์มา

แม้อาจินต์จะมี “แวว” ในการเขียนมาตั้งแต่สมัยเรียนที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา แต่เมื่อต้องการเป็นนักเขียนอาชีพ หน้าใหม่อย่างเขาก็ต้องผิดหวังว่าใบสมัครที่ไปกรอกไว้ตามสำนักพิมพ์ต่างๆ ไม่มีที่ใดตอบรับ เมื่อไปสมัครเรียนกฎหมายที่ธรรมศาสตร์ก็สอบได้ไม่กี่วิชา สุดท้ายเมื่อพ่อของอาจินต์ย้ายไปเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา ก็พาอาจินต์ไปด้วยเพราะกลัวว่าอยู่กรุงเทพฯ จะเสียคน

งานที่อาจินต์ทำที่พังงาเป็นอื่นไปไม่ได้ นอกจากการทำงานใน“เหมืองแร่” มิเช่นนั้นคงไม่มีหนังสือชื่อ “เหมืองแร่”

ที่เหมืองแร่ อาจินต์ไต่เต้าจากลูกมือช่างตีเหล็กที่ทำงานจนเส้นเลือดฝอยแตกมาเป็นช่างแผนที่ มี “นายฝรั่ง” เป็นครูสอนงาน สอนการใช้ชีวิต, มี “เพื่อนร่วมงาน” เป็นตัวอย่างมีชีวิตสะท้อนเรื่องราวทั้งสุข ทุกข์ และมี “งานเขียน” ที่เขาเริ่มผลิตออกมาเป็นกำลังใจให้ตัวเอง เช่น ในทะเลมีเศรษฐศาสตร์ (อิงอรเปลี่ยนชื่อใหม่ให้เป็น “เศรษฐศาสตร์กลางทะเลลึก”), ผู้กล้าหาญ ฯลฯ

อาจินต์ทำงานเหมืองอยู่ระหว่างปี 2493-2496 เท่ากับหลักสูตรปริญญาตรี เพียงแต่เมื่อครบ 4 ปี “นายฝรั่ง” ที่เป็นหัวหน้าไม่มีปริญญาบัตรให้ มีแต่ “ตั๋วเครื่องบิน” ให้กลับกรุงเทพฯ เพราะเหมืองที่เคยรุ่งเรือง ก็ถึงจุดทรุดโทรม สินแร่ที่เคยมีจำนวนมากลดลง และเหมืองกำลังจะปิดตัว

เมื่อกลับมากรุงเทพฯ อาจินต์จึงเริ่มเป็นนักเขียนอีกครั้ง แต่เรื่องที่ส่งไปหนังสือต่างๆ ก็ลงตะกร้าหมด แต่อาจินต์ไม่เคยท้อยังคงเดินหน้าต่อไป โดยมีชอุ่ม ปัญจพรรค์ ซึ่งทำงานเขียนอยู่ก่อนค่อยสนับสนุนช่วยเหลือ ด้วยการมอบให้ช่วยเขียนบทละครวิทยุแทน, เอานวนิยายหลายตอนจบเรื่อง“บ้านแร่” ของอาจินต์ไปลงใน“โฆษณาสาร” รวมทั้งพาไปสมัครงานกับจำนง รังสิกุล ที่กรมโฆษณาการที่กำลังเตรียมเปิดสถานีโทรทัศน์แห่งแรกของไทย (สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีช่อง 4 บางขุนพรหม)

กลางปี 2497 เมื่อสยามรัฐจะออกฉบับรายสัปดาห์ อาจินต์ส่งเรื่องสั้น “สัญญาต่อหน้าเหล้า” ใช้นามปากกา “จินตเทพ” ได้ลงฉบับปฐมฤกษ์ บรรณาธิการขณะนั้นคือ ประหยัด ศ.นาคะนาท ที่เคยนำเรื่อง“เศรษฐศาสตร์กลางทะเลลึก” ในหนังสือค่ายพิมพ์ไทย ย้ายมาอยู่สยามรัฐ

ผลงานในสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ทำให้จำนง รังสิกุล ตามอาจินต์ไปทำงานด้วยเพราะเห็นความสามารถโดยบรรจุในตำแหน่งคนเขียนบทของสถานี เงินเดือน 800 บาท เมื่อทำบทจุกจิกจนคล่องก็ได้ทำบทละคร อาจินต์ทำงานหามรุ่งหามค่ำอย่างมีความสุข ไม่มีวันหยุด โดยกินนอนที่ทีวีบางขุนพรหม แต่ยังคงส่งเรื่องไปสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์สม่ำเสมอ ซึ่งส่วนมากเป็นเรื่องเหมืองแร่

ต่อมาอาจินต์ได้เป็นบรรณาธิการนิตยสารไทยโทรทัศน์รายเดือนของสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีช่อง 4 แทนคนเดิมที่ได้ทุนไปศึกษาต่อต่างประเทศ อาจินต์เชิญนักเขียนใหญ่ เช่น ประหยัด ศ.นาคะนาท, ประมูล อุณหธูป, นพพร บุญยฤทธิ์, รัตนะ ยาวประภาษ, ’รงค์ วงษ์สวรรค์ ฯลฯ มาเขียนในคอลัมน์ต่างๆ และเพิ่มหน้าให้นักเขียนรุ่นใหม่

เมื่อ“เหมืองแร่”ที่ส่งไปลงสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ และชาวกรุงมาหลายปี มีเนื้อหาพอที่จะรวบรวมพิมพ์เป็นเล่มได้ แต่ไม่มีใครพิมพ์ให้เพราะสมัยนั้นนิยมพิมพ์นวนิยายมากกว่าเรื่องสั้น แต่อาจินต์เชื่อว่าต้องขายได้เพราะเสียงตอบรับจากผ่านมาดี

จึงตัดสินใจ “เขียนเอง พิมพ์เอง ขายเอง” ซึ่งนี้เรื่องนี้ไม่เคยมีมาก่อนในวงการหนังสือ

อาจินต์สั่งยอดพิมพ์จำนวน 2,000 เล่ม ต้นทุนเล่มละ 95 สตางค์ เขาตั้งใจตั้งราคาขายเท่ากับโอเลี้ยง 5 แก้ว โอเลี้ยงขณะนั้นราคาแก้วละบาท ขายให้พ่อค้าส่งเล่มละ 3.50 บาท ยังไม่มีชื่อสำนักพิมพ์

หน้าปกไม่ต้องทำแบบอะไรเลย นอกจากพิมพ์สีดำตัวโตว่า “ตะลุยเหมืองแร่ โดยอาจินต์ ปัญจพรรค์”  ขณะที่แผ่นปะหน้าหนังสือ หรือหน้า 1 ในเล่มเขียนว่า “…5 บาทที่ท่านจะกินโอเลี้ยง 5 แก้ว ขอให้ข้าพเจ้าเถิด แล้วเอาหนังสือที่ใช้เนื้อหนังเป็นกระดาษ เอาโลหิตเป็นหมึกเล่มนี้ไปอ่าน ได้ความขมหวานและเก็บเอาไว้ได้ยั่งยืนกว่าโอเลี้ยงมากนัก”

ปกหลังด้านนอกมีข้อความเต็มหน้า โดยข้อความครึ่งหลังเขียนว่า “…ถ้าหนังสือเล่มนี้ขายไม่ดีน่ะหรือ อย่าหวังเลยว่าข้าพเจ้าจะยอมแพ้ ข้าพเจ้าจะไปก้มหน้าทำงานอื่นที่ไม่รักแต่ได้เงินดี หาเงินมาทุ่มเช่นนี้อีก และจะทำอีกตลอดไป จนกว่าเรื่องชุดเหมืองแร่ของข้าพเจ้าอีก 40 เรื่องจะหมดลง (จำนวนเรื่องที่เขียนไว้ขณะนั้น ต่อมายังมีอีกมาก) หนังสือเล่มนี้ราคา 5 บาท เงิน 5 บาทเงินของท่านจะเป็นก้อนหินหนึ่งที่ถมลงไปในบ่ออันอ้างว้างที่เคยเป็นมา ระหว่างนักอ่านที่แท้กับนักเขียนผู้ซื่อสัตย์”

ผลก็คือหนังสือ 2,000 เล่ม หมดภายใน 1-2 สัปดาห์แรก

เมื่อขายได้ อาจินต์ก็พิมพ์เล่มอื่นๆ ตามมา เช่น ธุรกิจบนขาอ่อน, เหมืองน้ำหมึก, สวัสดีเหมืองแร่ ฯลฯ และพิมพ์งานของนักเขียนคนอื่น โดยเริ่มปรับปรุงงานต่างๆให้สวยงามและดีขึ้น รวมทั้งมีโลโก้สำนักพิมพ์เขียนลายเส้นเป็นแก้วโอเลี้ยงใส่น้ำแข็งลอยอยู่ 3 ก้อนและมีหลอดดูด  ใครๆ ก็เรียกว่า “สำนักพิมพ์โอเลี้ยง 5 แก้ว” มากกว่าชื่อที่จดทะเบียนเป็นสำนักพิมพ์ (ในเวลาต่อมา)

ด้วยความสามารถทางภาษาของอาจินต์เขาจึงคิดคำโฆษณาให้กับสินค้าหลายชนิด เช่น ซิปยี่ห้อวีนัส-รูดซิปลื่นไม่ติดขัด ซิปวีนัสเป็นยอดซิป, น้ำมันใส่ผมยี่ห้อแอคชั่น-แอคชั่น เผด็จรังแค ดูแลทรงผม ฯลฯ

ปี 2508 ประสบการณ์การเขียนบทโทรทัศน์ทุกรูปแบบ และการเป็นคนกว้างขวางมีเพื่อนทั้งในและนอกวงการทีวีของอาจินต์ จึงได้ตั้งคณะละครชื่อ “สุภาพบุรุษ” ละครคณะสุภาพบุรุษมีเทียม โชควัฒนา รับเป็นสปอนเซอร์แต่ผู้เดียว โดยให้อาจินต์โฆษณาช่วงหัว กลาง และท้ายรายการ ด้วยการโฆษณากระติกน้ำตรานกยูง, เสื้อยืดตราลูกไก่ และยาสีฟันไวท์ไลอ้อน คิดค่าโฆษณาเหมารายการตอนนั้น 12,000 บาท

นอกจากนี้ อาจินต์ยังมีงานอดิเรกคือการแต่งเนื้อเพลงมีผลงานไม่ต่ำกว่า 30 เพลง อาทิ สวัสดีบางกอก, อย่าเกลียดบางกอก, สาวตางาม, ขุ่นลำโขง, จดหมายรักจากเมียเช่า, เงิน เงิน เงิน, มาร์ชลูกหนี้ ฯลฯ การแต่งเพลงของอาจินต์จะแต่งเป็นกลอนแปดที่ถ่ายทอดอารมณ์ และความคิดเห็นต่างๆ ดังเช่น เพลงจดหมายรักจากเมียเช่า ที่เล่าชีวิตเมียเช่าเป็นเรื่องสั้นเรื่องหนึ่งในรูปของบทเพลง ตามเนื้อร้องที่ว่า

ไอเขียนเล็ตเตอร์ถึงเธอเดียร์จอห์น 

เขียนในแฟลตที่ยูเคยนอน จังหวัดอุดรประเทศไทยแลนด์

ไอเลิฟยูมัช ยูมัสต์อันเดอร์สแตนด์

จอห์นจ๋าจอหน์ดอลลาร์ขาดแคลน

เมียเซ็คกั้นแฮนด์ของยูยังคอย…

ประมาณปี 2511 จำนง รังสิกุล มีความเห็นแย้งกับทางกรมโฆษณาการ จึงขอถอนตัวจากบริษัทไทยโทรทัศน์ฯ กลับไปนั่งที่กรมโฆษณาการ อาจินต์ซึ่งเป็นหัวหน้าแผนกแผนผังรายการและหัวหน้าแผนกบริการธุรกิจ และบ.ก.ไทยโทรทัศน์รายเดือน จึงลาออกมาตั้งทำงานเขียนอย่างเต็มตัว

ในปี 2512 ด้วยการร่วมทุนกันระหว่าง อาจินต์ ปัญจพรรค์, ณัฐ ปวิณวิวัฒน์ และเสริม เตชะเกษม (ทายาทเกษทบรรณกิจ) ตั้งโรงพิมพ์อักษรไทย พิมพ์ “ฟ้าเมืองไทย” ที่ออกเป็นรายสัปดาห์ โดยอาจินต์ เป็นบรรณาธิการ, ณัฐเป็นผู้จัดการ ส่วนเสริมเป็นหุ้นส่วนเท่านั้น ฟ้าเมืองไทยเริ่มพิมพ์ครั้งแรกประมาณ 4,000 เล่ม หลังจากดำเนินการไป 3-4 ปี ยอดพิมพ์ก็เพิ่มเป็นหลายหมื่นเล่ม และสูงสุดถึง 60,000 เล่มในช่วงปี 2522 มีเฉลิมศักดิ์ รงคผลิน (หยก บูรพา) เป็นผู้ช่วยของอาจินต์

ความสำเร็จของฟ้าเมืองไทยทำให้ต้นฉบับดีๆ ของนักเขียนต่างหลั่งไหลเข้ามามาก แม้จะเพิ่มหน้าอย่างไรก็ไม่พอ เดือนเมษายน 2519  จึงร่วมกับสุพล เตชะธาดา แห่งประพันธ์สาส์น ออกหนังสือเพิ่มอีกเล่มชื่อ “ฟ้าเมืองทอง” ซึ่งมีเนื้อหาใกล้เคียงกับฟ้าเมืองไทยแต่ออกเป็นรายเดือน ฟ้าเมืองทองเล่มแรกยอดพิมพ์ 10,000 ฉบับขายหมดภายใน 7 วัน และเพิ่มยอดอย่างรวดเร็วจนอยู่ในระดับเดียวกับฟ้าเมืองไทยคือ 40,000-50,000 เล่ม ติดต่อกันอยู่หลายปี

หลังจากฟ้าเมืองทองติดตลาดไม่กี่เดือน อาจินต์กับประพันธ์สาส์นก็ออก “ฟ้านารี” รายเดือน โดยตั้งใจให้เป็นหนังสือสำหรับผู้หญิง แต่ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ทำอยู่ประมาณ 2 ปีจึงเลิกไป

ปี 2520 วันที่ 7 พฤษภาคม อาจินต์แต่งงานกับ “แน่งน้อย พงษ์สามารถ” อดีตสาราณียกรของสโมสรนิสิตจุฬาฯ ผู้ที่อาจินต์ รอมาถึง 8 ปี ซึ่งต่อมาเป็นกำลังสำคัญในการบริหารจัดการหนังสือฟ้าเมืองไทย

สิงหาคม 2520 อาจินต์ร่วมกับโรงพิมพ์อักษรไทยออก “ฟ้าอาชีพ” รายเดือน เป็นหนังสือที่ให้ความรู้เกี่ยวกับอาชีพต่างๆ ทุกแขนง ให้กำลังใจคนทำงานหนัก มี เล็ก โตปาน เป็นผู้ช่วย

อาจินต์ ปัญจพรรค์ ใน ห้องทำงาน
ห้องทำงานบรรณาธิการฟ้าเมืองไทย ในซอยบางยี่ขัน เดือนมิถุนายน 2530 (ภาพจากชีวประวัติฯ )

อาจินต์ เคยให้สัมภาษณ์ถึงการคัดเลือกเรื่องต่างๆว่า “เรื่องที่ดีต้องมี 2 ส่วน อย่างที่จำเป็นคือสาระดี เขียนดี ที่สำคัญที่สุดคือสาระดี หมายถึงข้อมูลดี เขียนโดยคนเขียนที่รู้จริง รู้ลึกในสิ่งที่เขียน ถ้าเขียนดีคือเขียนด้วยภาษาที่ดีด้วยได้ 100% และถ้าแถมอีกอย่างคือโครงเรื่องดี และจบดีด้วยก็ได้ 200%”

ระหว่างที่หนังสือของอาจินต์เพิ่มยอดพิมพ์สูงขึ้น เป็นระยะที่เกิดเหตุการณ์ “14 ตุลาคม 2516” หลังเหตุการณ์ดังกล่าว การเขียนการอ่านเปลี่ยนไปมาก มีผู้วิจารณ์ฟ้าเมืองไทยเหมือนกันว่าไม่ก้าวหน้า ฝ่ายก้าวหน้าสุดกู่สมัยนั้นนิยมแต่เรื่องสะท้อนการเมือง ตอนจบของเรื่องต้องมีลักษณะชี้นำเข้าข้างคนยากไร้หรือฝ่ายซ้าย แต่อาจินต์ปฏิเสธโดยให้เหตุผลว่า “ผมไม่เคยชอบเรื่องที่อ่านแล้วเต็มไปด้วยความหดหู่ แล้วลากเข้าหาการเมืองโดยไร้ลีลาวรรณศิลป์แต่อย่างใด”

ล้วตลาดหนังสือสำหรับคนระดับกลางๆ และระดับสูงขึ้นไปเปลี่ยนแปลงแล้วอย่างสิ้นเชิง

ผลกระทบที่เกิดกับอาจินต์คือ ปี 2526 ต้องเลิกฟ้าอาชีพ, ปี 2528 อาจินต์เลิกเป็นบรรณาธิการฟ้าเมืองทอง แต่หนังสือยังไม่ได้ปิดเพราะประพันธ์สาส์นยังคงทำต่อไป และสุดท้ายฟ้าเมืองไทยก็ต้องปิดตัวลงในเดือนตุลาคม 2531 แต่เมื่อเลิกฟ้าเมืองไทยมีแฟนหนังสือโทรมาแสดงความเสียดายมากมาย ประกอบกับความผูกพันทางจิตใจของอาจินต์กับผู้เขียน อาจินต์จึงทำ “ฟ้า” รายเดือนออกจำหน่ายในเดือนมกราคม 2532 โดยมีแน่งน้อย ปัญจพรรค์ ภรรยาของอาจินต์เป็นกำลังสำคัญ รับเป็นบรรณาธิการบริหารในดูแลการบริหารจัดการ, หาโฆษณา ฯลฯ แต่หนังสือก็ต้องปิดตัวลงในเดือนตุลาคม 2534

หากผลงานและฝีมือของอาจินต์ก็ทำให้เขาได้รับเลือกให้เป็น ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ในปี 2534  และได้รับรางวัลศรีบูรพาใน ปี 2535

หลังการปิดตัวของหนังสือ“ตระกูลฟ้า” แต่อาจินต์ยังคงทำงานในฐานะของนักเขียน โดยเขียนเรื่อง “นางเอกหลังบ้าน” ให้กับค่ายบางกอกของวิชิต โรจนประภา ที่กำลังจะออก บางกอกสแควร์, เขียนให้กับ “กุลสตรี” ของยุพา ส่งเสริมสวัสดิ์ ฯลฯ รวมทั้งเขียน “วาบความคิด” ให้เสถียร จันทมาธรลงในมติชนสุดสัปดาห์ และตีพิมพ์ผลงานอีกหลายเล่มกับสำนักพิมพ์มติชน

ผลงานส่วนหนึ่งที่อาจินต์ ปัญจพรรค์

วันที่ 17 พฤศจิกายน 2561 อาจินต์ ปัญจพรรค์ จากไปอย่างสงบในวัย 92 ปี แต่ฝากผลงานมากมายทั้งที่รู้จักกันดีอย่าง “เหมืองแร่” และอีกหลายชิ้นที่ไม่คิดว่าผลงานของท่าน เช่น เนื้อร้องบทเพลงต่างๆ , คำโฆษณา ฯลฯ ทั้งหมดนี้ยังอยู่ในฟ้าเมืองไทยให้แฟนๆ ติดตามยามคิดถึง

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


ข้อมูลจาก :

แน่งน่้อย ปัญจพรรค์.ชีวประวัติอาจินต์ ปัญจพรรค์, สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2548.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 2 กันยายน 2566