เผยแพร่ |
---|
ฉัตรชัย วิเศษสุวรรณภูมิ (23 พฤศจิกายน 2474 – 21 เมษายน 2563) เจ้าของนามปากกา “พนมเทียน” ที่ผลงานเขียนชิ้นสำคัญ “เพชรพระอุมา” จากไปอย่างสงบด้วยวัย 89 ปี
ในที่นี้จึงขอนำบทความ “ย้อนตำนานวรรณกรรม เพชรพระอุมา” ที่ อัมพร จิรัฐติกร เขียนไว้ใน “ศิลปวัฒนธรรม” ฉบับเดือนพฤษภาคม 2538 มาร่วมระลึกถึงการจากไปของนักเขียนอาวุโสท่านนี้
อัมพร จิรัฐติกร เล่าว่านึกถึงความประทับใจหลังจากอ่าน “เพชรพระอุมา” ทั้ง 24 เล่มจบรวดเดียว ในบางมุมว่า
เริ่มจากความประทับใจในตัวละคร รพินทร์ ไพรวัลย์ คือพรานที่ทำให้เด็กสาวใฝ่ฝันถึงชายผู้ขรึมเฉย แต่เข็มแข็งและพร้อมจะปกป้องเธอตลอดกาล เช่นเดียวกับ ม.ร.ว.หญิง ดาริน วราฤทธิ์ สาวสวย เก่ง กล้าหาญ ที่ทำให้สาวๆ หลายคนฝันอยากเป็นแบบเธอ
จากบุคลิกภาพตัวละครที่โดดเด่นก็คงเป็นฉากของหนังสือ ซึ่งสวนใหญ่เป็นป่า และสัตว์ป่า อัมพรอธิบายไว้ว่า
“ป่าในเพชรพระอุมายังได้ปลุกวิญญาณผจญภัยในตัวฉันให้ตื่นขึ้น เจ้าสัตว์ร้ายที่นอกจากจะขนาดใหญ่โตผิดปกติแล้ว ยังดูเหมือนมีมันสมองสั่งการให้เก่งกล้าเหนือมนุษย์ บรรยากาศของป่าก็แสนจะลี้ลับ และน่าสะพรึงกลัวจนต้องอ่านด้วยใจระทึกตลอดเวลา แถมบางตอนยังต้องแอบข้ามไปด้วยความหวาดกลัว”
นั่นย่อมแสดงว่างานเขียนของ พนมเทียน ช่วยให้เกิดจินตนาการได้ชัดเจนยิ่ง
ผู้เขียน (อัมพร จิรัฐติกร) ยังเล่าต่อไปอีกว่า เพชรพระอุมา มีที่มาจากสถานที่สำคัญหลักๆ คือ
โต๊ะโมะ ชื่อของเหมืองทองแห่งหนึ่ง ตั้งอยู่ในป่ารอยต่อของเทือกเขาสุไหงโก-ลก ที่ลี้ลับและอันตราย ปู่ของพนมเทียนซึ่งเป็นชาวจีนเข้ามาบุกเบิกทำเหมือง ต่อมาพ่อของเขา (หลวงวิเศษสุวรรณภูมิ) เป็นผู้สืบทอดมากิจการ โดยการแต่งตั้งของรัฐบาล พนมเทียนในวัยเด็กเคยดั้นด้นมาที่โต๊ะโมะ ซึ่งเล่าขานกันว่า “เพียงก้าวเท้าเข้ามี่โต๊ะโมะ ก็เท่ากับว่าได้ตายไปแล้วครึ่งตัว”
ช่วงสงครามโลก ครอบครัวของพนมเทียนอพยพจากรุงเทพฯ มาอยู่ที่ อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี บ้านเกิด พนมเทียนได้บุกเข้าไปผจญภัยในป่าลึกของแม่น้ำสายบุรี ได้พบ “วัดสักขี” ที่มีคำพูดเล่าขานกันมาเป็นปริศนาลายแทงว่า “วัดสามศอก วัดออกสามวา กลับออกมา อีกาขี้รดหัว” และถ้าใครตีความปริศนาออกก็จะเจอขุมทรัพย์
ทุ่งใหญ่นเรศวร ผืนป่าตะวันตก เมื่อหลาย 30 ปีก่อนยังไม่ค่อยมีใครเข้าถึง แต่มันคือสถานที่ที่พนมเทียนในวัยหนุ่มได้มาเรียนรู้ และกลายเป็นข้อมูลของฉากหนึ่งในเพชรพระอุมา นั่นคือฉากหมู่บ้านสุดท้ายที่พี่ชายของดาริน วราฤทธิ์ บุกป่าไปเพื่อหาขุมทรัพย์เพชรพระอุมา ที่ระบุว่าอยู่ด้านตะวันตกของสันเขาตะนาวศรี ซึ่งสันนิษฐานได้ว่า ฉากสำคัญของเรื่องก็คือ “ทุ่งใหญ่นเรศวร”
และทั้งหมดก็ผสมผสานกันจะอย่างเรียบเนียนไร้รอยต่อ เป็น “เพชรพระอุมา” ที่หลายท่านอ่านกันแบบไม่ย่อมหลับย่อมไม่นอน เพราะคนเขียนชื่อ “พนมเทียน”
เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์เมื่อ 22 เมษายน 2563