เปิดความสำคัญ “หนังผีไทย” สู่วงการภาพยนตร์โลก

งานเสวนา ความสำคัญของอุตสาหกรรม หนังผีไทย ในหอประชุม มีวิทยากร 2 ท่าน บอกเล่าเรื่องราว
ผศ.ดร. สุกัญญา สมไพบูลย์ และอ. ธนพล เชาวน์วานิชย์ ในงานเสวนาเรื่อง “ผี : นานาสาระความเชื่อในวัฒนธรรมไทย” ณ หอประชุมใหญ่ สำนักหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม

เพราะอุตสาหกรรม “หนังผีไทย” ไม่ได้มีไว้เพื่อความบันเทิงเท่านั้น แต่ยังสร้างชื่อเสียงและมีโอกาสสร้างรายได้เข้าประเทศได้มหาศาล 

วันที่ 30-31 มีนาคม ปี 2566 กรมศิลปากร โดย สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ ได้จัดงานเสวนาว่าด้วยหัวข้อเรื่อง “ผี : นานาสาระความเชื่อในวัฒนธรรมไทย” ณ หอประชุมใหญ่ สำนักหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม มี นางสาวศิริรัตน์ ทวีทรัพย์ ผู้อำนวยการสำนักงานวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ เป็นประธานเปิดงาน พร้อมด้วยผู้เชี่ยวชาญกรมศิลปากร ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ รวมถึงผู้สนใจมาร่วมฟังเสวนาในครั้งนี้กันเต็มความจุสถานที่

Advertisement

ภายในงานเต็มไปด้วยเวทีเสวนามากมายซึ่งเกี่ยวข้องกับเรื่องเร้นลับ ว่าด้วยเรื่องผีที่เกี่ยวโยงกับสังคมไทย หนึ่งในนั้นคือ “ความสำคัญของหนังผีในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย” โดย ผศ. ดร. สุกัญญา สมไพบูลย์ รองคณบดี คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ อ. ธนพล เชาวน์วานิชย์ อาจารย์ประจำภาคภาพยนตร์และภาพนิ่ง คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่มาบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับอุตสาหกรรมภาพยนตร์ผีไทยว่า แท้จริงแล้ว หนังผีไทย มีความสำคัญอย่างมาก ไม่เพียงแค่มอบความสุขให้กับผู้คนที่รับชม แต่ยังส่งผลต่อเศรษฐกิจของประเทศ

หนังผีไทย คืออะไร?

ผศ. ดร. สุกัญญา สมไพบูลย์ เล่าว่า หนังผีไทยปรากฏครั้งแรกประมาณ พ.ศ. 2470 โดยสภากาชาดไทยเป็นผู้สร้าง หากอ้างอิงจากภาพยนตรานุกรม ฉบับที่ 1 หรือบัญชีรายชื่อภาพยนตร์ไทย ชื่อเรื่องว่า “ไม่เชื่อน้ำมนต์หมอผี” เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับการโน้มน้าวใจให้ประชาชนรักษาโรคกับแพทย์ ไม่ใช้น้ำมนต์ของหมอผี

ก่อนที่อาจารย์ประจำภาคภาพยนตร์และภาพนิ่งจะกล่าวถึง “นิยาม” ของ “ผี” ในสื่อจินตคดีไทยว่า จุดกำเนิดของการเกิดผี เริ่มต้นจากความกลัว ในยุคที่ยังไม่มีไฟฟ้า คนไทยอยู่กับความมืดและธรรมชาติ ทำให้เกิดการสร้างภาพความกลัวจากจินตนาการ และพยายามเอาชนะความกลัวที่เกิดขึ้น นำไปสู่การประกอบพิธี การกำเนิดพิธีกรรมต่าง ๆ สร้างเป็นวัฒนธรรม ถ่ายทอดจากตำนานสู่เรื่องเล่า วรรณคดี นิยาย ละคร และภาพยนตร์อย่างที่รู้จักกัน

โดย “ผี” ในภาพยนตร์ไทยก็นำมาจากสิ่งที่เราคุ้นชินหรือเคยเห็นในปัจจุบัน ไม่ว่าจะตำนาน หรือความเชื่อ เช่น ห้ามมองลอดใต้หว่างขาเพราะจะทำให้เห็นผี ห้ามตัดเล็บตอนกลางคืน ทั้งหมดนี้ทำให้ “ผี” ในภาพยนตร์ไทยมีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น

3 ยุคสมัยของหนังผีไทยที่แตกต่าง

เมื่อกล่าวถึงนิยามและบริบทผีไทยในสื่อจินตคดีไทยแล้ว ก็ถึงเวลาที่จะต้องเข้าสู่เนื้อหาเกี่ยวกับภาพยนตร์ โดย อ. ธนพล เชาวน์วานิชย์ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับยุคสมัยของภาพยนตร์ผีไทย ซึ่งอ้างอิงจากงาน “หลอน รัก สับสน ในหนังไทย : ภาพยนตร์ไทยในรอบสามทศวรรษ (พ.ศ. 2520-2547)” ของรศ. ดร. กำจร หลุยยะพงศ์ และ รศ. ดร. สมสุข หินวิมาน ว่า “หนังผีไทย” แบ่งออกเป็น 3 ช่วงยุค ได้แก่ พ.ศ. 2520-2529, พ.ศ. 2530-2539, พ.ศ. 2540-2547 

ภาพยนตร์ผียุคธรรมเนียมนิยม

ช่วง พ.ศ. 2520-2529 เรียกว่า “ภาพยนตร์ผียุคธรรมเนียมนิยม” กล่าวคือหนังผีช่วงนี้มักหยิบยกตำนานผีที่คนไทยคุ้นเคยกันดีมาใช้ เช่น ตำนานผีแม่นาก ผีพราย เนื่องจากสังคมยุคนั้นยังไม่ได้ก้าวเข้าสู่ความทันสมัยเสียทีเดียว รวมถึงเทคนิคการถ่ายทำภาพยนตร์ก็ยังไม่เท่าปัจจุบัน ทำให้หนังในช่วงนี้ยังคงจำกัดแค่การยกตำนานขึ้นมาเล่าเรื่อง

ไม่เพียงตำนานผีไทยเท่านั้นที่ได้รับการหยิบยกขึ้นมา แต่อิทธิพลของหนังต่างประเทศก็มีส่วน กระทั่งนำผีต่างชาติมาเล่าเป็นเรื่องราวผ่านภาพยนตร์เช่นเดียวกัน เห็นได้จากเรื่อง “แดร็กคูล่าต๊อก” (พ.ศ. 2522) รวมถึงมีการหยิบสื่อผลิตซ้ำอย่าง นิยาย ละครวิทยุ มาใช้อีกด้วย

ภาพยนตร์ยุคผีวัยรุ่น

ต่อมา พ.ศ. 2530-2539 ก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง เนื่องจากสังคมไทยกำลังพัฒนาเมือง ก้าวเข้าสู่ความทันสมัยมากยิ่งขึ้น มีผู้กำกับภาพยนตร์หน้าใหม่เกิดขึ้น เกิด ไทยสตูดิโอ เอ็นเตอร์เทนเมนท์ และการขยายกลุ่มไปยังผู้ชมวัยรุ่นมากยิ่งขึ้น ทำให้ช่วงนี้ภาพยนตร์ไทยจะเน้นไปที่หนังผีวัยรุ่น เล่าเรื่องถึงเมือง ผูกโยงกับความดราม่า มิตรภาพ แต่ยังคงธรรมเนียมแบบเดิมอยู่ 

ภาพยนตร์ยุคธรรมเนียมนิยมแบบใหม่

จวบจน พ.ศ. 2540-2547 ถือได้ว่าเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของภาพยนตร์ไทย เนื่องจากในปี 2542 เกิดหนังชื่อ “นางนาก” กำกับโดยนนทรีย์ นิมิบุตร ประสบความสำเร็จทั้งในและนอกประเทศ ทำให้ภาพยนตร์ผีไทยเริ่มเป็นที่สนใจในแวดวงของเทศกาลหนัง กลุ่มของคนดูหนังระดับนานาชาติ

จุดนี้ ผศ. ดร. สุกัญญา เสริมเรื่องนางนากไว้เล็กน้อยว่าเป็นเรื่องที่เต็มไปด้วยความสมจริง เห็นได้จากการศึกษาบริบทสังคมขณะนั้น เช่น การแต่งตัว ทรงผม คำพูด ซึ่งรายละเอียดเหล่านี้ช่วยหนุนให้เรื่องนางนากประสบความเร็จอย่างมาก

“วงการภาพยนตร์หนังผีไทยช่วงเวลาดังกล่าวเติบโตขึ้นไปอีกขั้น เมื่อเทคโนโลยีเข้ามา ประจวบเหมาะกับผู้กำกับไทยได้รับอิทธิพลภาพยนตร์สยองขวัญมาจากญี่ปุ่น เช่น ซาดาโกะ, เดอะริง คำสาปมรณะ ทำให้ผู้สร้างสามารถรังสรรค์งานใหม่ ๆ ออกมาเพื่อกระตุ้นความความกลัวของผู้ชมมากยิ่งขึ้น 

อีกทั้งกลุ่มผู้ผลิตก็เริ่มมีความคิดที่จะสร้างรายได้ให้กับสตูดิโอของตนเอง และมองเห็นว่านางนากนั้นประสบความสำเร็จมาก่อน จึงเริ่มปรับวิธีการเล่าเรื่อง โดยผสมผสานความน่ากลัวและสืบสวนสอบสวน เนื่องจากมองว่ารูปแบบดังกล่าวนั้นมีความเป็นสากล สามารถส่งออกไปนอกประเทศได้” อ. ธนพล บอก 

ยิ่งไปกว่านั้น “ผี” ในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ช่วง พ.ศ. 2540-2547 ยังเชื่อมโยงกับข้าวของเครื่องใช้ในบ้านเรือนของเรา เช่น ผีช่องแอร์ ทั้งยังปรากฏในเมือง ไม่จำเป็นต้องออกไปยังชนบท ป่าช้า หรือตอนกลางคืน ซึ่งหนังผีรูปแบบนี้จะเห็นได้ชัดเจนอย่างมากในหนังชัตเตอร์ กดติดวิญญาณ ที่สร้างปรากฏการณ์ครั้งใหญ่ให้กับวงการภาพยนตร์ผีไทย

หนังผีไทย ในเกือบ 20 ปีต่อมา

เมื่ออธิบายถึงแต่ละช่วงยุคของหนังผีไทยเสร็จสิ้น ก็ถึงเวลาที่จะต้องพูดถึงภาพยนตร์สยองขวัญในเกือบ 20 ปีให้หลัง โดย ผศ. ดร. สุกัญญา ได้นิยามว่าหลังจากปี 2547 คือช่วง “ภาพยนตร์ยุคใหม่” 

อ. ธนพล ได้อธิบายเพิ่มเติมไว้ว่า “ภาพยนต์ผียุคใหม่” ก็คือการตีความใหม่และการผสมผสาน ผู้กำกับได้หยิบยกตำนานเดิมของไทยที่มีมาช้านาน เช่น กระสือ แม่นาก มาใช้เพื่อสรรสร้างภาพยนตร์ขึ้น แต่ฉายให้ผู้ชมเห็นอีกแง่มุมหนึ่ง เช่น เรื่องราวของแม่นากที่ใช้พ่อมากมาถ่ายทอดอีกมุมหนึ่ง อย่าง พี่มาก…พระโขนง (พ.ศ. 2556) ตำนานกระสือซึ่งเชื่อมโยงกับความรัก อย่าง แสงกระสือ (พ.ศ. 2562)

ส่วนด้านการผสมผสาน คือผู้กำกับไทยได้นำตำนานผีไทยที่มีความแข็งแรงเดิมอยู่แล้ว มาเชื่อมโยงกับแนวเรื่องสืบสวนสอบสวน เพื่อให้ผู้ชมมีความรู้สึกระทึกและอยากรู้เรื่องราวไปเรื่อย ๆ 

ผศ. ดร. สุกัญญา เสริมว่า ความแปลกใหม่ดังกล่าวไม่ใช่แค่เพียงเนื้อหา การตีความออกมาใหม่ และการผสมผสาน แต่การถ่ายทอดของผู้กำกับยังจำกัดการรับรู้ให้ผู้ชมอีกด้วย จากเดิมที่ผู้คนจะล่วงรู้เรื่องราวของหนังมากกว่าตัวละคร กลับกลายเป็นผู้สร้างหนังพยายามจะทำให้คนดูลุ้นเรื่องราวไปกับตัวละคร หรือรู้น้อยกว่าตัวละครเสียด้วยซ้ำ

การปรับตัวของวงการหนังผีไทยประสบความสำเร็จอย่างมาก จะเห็นได้ว่าหากเอ่ยชื่อภาพยนตร์หลาย ๆ เรื่อง เช่น แฝด (พ.ศ. 2550), ลัดดาแลนด์ (พ.ศ. 2554), ฝากไว้ในกายเธอ (พ.ศ. 2557) ทุกคนต่างคุ้นเคยกันดี ทำให้วงการภาพยนตร์ผีไทยเริ่มมีช่องทาง และมองว่าจะเป็น “ซอฟต์ พาวเวอร์” อย่างหนึ่งของประเทศไทย

ทำอย่างไร หนังผีไทย จะเป็นซอฟต์ พาวเวอร์?

ประเด็นนี้ ผศ. ดร. สุกัญญา บอกว่าอาจต้องเริ่มต้นในประเทศเองก่อน เพราะอย่างประเทศเกาหลีใต้ ประชาชนคนทั่วไปก็ชื่นชอบในสิ่งที่พวกเขาสร้างขึ้นมา เมื่อคนในบ้านชื่นชอบ มีการสนับสนุนอย่างเต็มเปี่ยม ก็มีโอกาสที่ภาพยนตร์ผีไทยจะสามารถก้าวเข้าสู่สากลได้ อย่างเช่นเรื่อง “พี่มาก…พระโขนง” 

ไม่เพียงแค่กระแสตอบรับของคนในประเทศ ซึ่งจะผลักดันให้ภาพยนตร์ผีไทยก้าวเข้าสู่สากลเท่านั้น แต่ตัวหนังก็ต้องมีความปราณีตอีกด้วย โดยรองคณบดี คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ ได้ยกตัวอย่างภาพยนตร์อีกเรื่องซึ่งเป็นการร่วมจับมือระหว่างไทยและเกาหลี อย่าง “ร่างทรง” (พ.ศ. 2564) ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างมาก และเป็นอีกเรื่องที่ทำให้ภาพยนตร์ไทยก้าวเข้าสู่วงการหนังสากลมากขึ้น

“ร่างทรง” มีองค์ประกอบครบอย่างที่วิทยากรกล่าวไว้ ได้แก่ การสนับสนุนของคนในประเทศ และความประณีต ในแง่การสนับสนุนจะเห็นจากยอดรายได้ในไทยที่พุ่งสูงกว่า 100 ล้านบาท ขณะที่โรคโควิด-19 ยังระบาด

ส่วนความประณีต หนังได้นำประเด็นความเชื่อของไทยปรับเข้าสู่สากล ไม่ได้หยิบยกแค่ผีขึ้นมาให้เราเห็นเพียงอย่างเดียว เพราะหนังไม่ได้มุ่งเป้าไปที่การให้คนดูเห็นถึงเรื่องการทรงเจ้า แต่เป็นการตั้งคำถามว่าสิ่งที่ถ่ายทอดมารุ่นสู่รุ่นนั้น เราจะสืบทอด ต่อยอด หรือไปต่อแค่นี้

ยิ่งไปกว่านั้นในด้านนักแสดง ร่างทรงก็ใช้ระบบแคสติ้ง หรือการคัดเลือกนักแสดงที่ตรงกับบทบาท แทนที่จะใช้ระบบดาราเหมือนในอดีต รวมไปถึงฉาก แม้กระทั่งหน้ากองการถ่ายทำก็ยังมี แอคติ้ง โค้ช เพื่อกำกับให้นักแสดงเข้าใจตัวละคร เพื่อความสมบูรณ์ของหนัง

อย่างไรก็ตาม ผศ.ดร. สุกัญญา ได้ทิ้งท้ายไว้ว่า “อุตสาหกรรมภาพยนตร์ผีไทย” ยังสามารถเติบโตและก้าวเข้าสู่สากลได้มากกว่านี้ เพราะประเทศไทยยังคงมี “ผี” อยู่จำนวนมาก ซึ่งสามารถนำมาปรับใช้กับสังคมในปัจจุบันได้ อย่างที่ผ่านมาก็จะมี ลัดดาแลนด์ ซึ่งผูกโยงกับเรื่องอสังหาริมทรัพย์ ครอบครัว เรื่อง เพื่อน..ที่ระลึก ก็มีการเกี่ยวโยงกับเรื่องวิกฤตต้มยำกุ้ง ในปี 2540 

แต่สิ่งที่ประเทศไทยยังขาดอยู่คือการสนับสนุนบุคลากรที่อยู่ในกระบวนการต่าง ๆ เพราะถ้าหากว่ากลุ่มคนเหล่านี้ได้รับการดูแลที่มากยิ่งขึ้น ก็จะสร้างดึงศักยภาพของพวกเขาออกมาได้มากกว่านี้ และทำให้ “หนังผีไทย” ของเราก้าวเข้าสู่สากลในเร็ววัน

อ่านเพิ่มเติม

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 7 เมษายน 2566