ศรีศักร วัลลิโภดม” ชี้ “ผี” เป็นสถาบันความเชื่อหลักของสังคมไทย ลบให้หายไม่ได้

ศรีศักร วัลลิโภดม
ศาสตราจารย์พิเศษ ศรีศักร วัลลิโภดม ขณะกำลังเสวนาวิชาการ หัวข้อ "ปริทัศน์ความเชื่อเรื่องผีในประเทศไทย”จัดโดยกรมศิลปากร เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2566 (เครดิตภาพ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม)

“…ความเชื่อเรื่อง ผี เป็นศาสนา ในโลกทัศน์ของมนุษย์นั้น สิ่งเหนือธรรมชาติเป็นความเชื่อที่เป็นจริง ให้คุณให้โทษได้ จึงมีการใช้ภาษาที่เป็นสัญลักษณ์ต่าง ๆ เช่น ประเพณี พิธีกรรม เพื่อปลอบประโลมใจ ควบคุมจิตใจและชีวิตให้อยู่ในกรอบธรรมชาติ…”

ศาสตราจารย์พิเศษ ศรีศักร วัลลิโภดม นักวิชาการด้านโบราณคดีและมานุษยวิทยา ที่ปรึกษา มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ กล่าวตอนหนึ่งในงานเสวนาเรื่อง ผี : นานาสาระความเชื่อในวัฒนธรรมไทย หัวข้อ “ปริทัศน์ความเชื่อเรื่องผีในประเทศไทย”จัดโดยกรมศิลปากร เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2566 ที่หอประชุมใหญ่ สำนักหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม

อาจารย์ศรีศักร กล่าวถึงความเชื่อเรื่องผีในสังคมไทยว่า เมื่อมนุษย์เกิดการพัฒนากลุ่มสังคมขึ้นเป็นชุมชนขนาดใหญ่ เช่น หมู่บ้าน เมือง ความเชื่อเรื่องผีและโลกหลังความตายก็เกิดขึ้น สะท้อนถึงความซับซ้อนของสังคมมนุษย์ที่เพิ่มขึ้น โดยความรู้เรื่องจิตวิญญาณในสังคมไทยเริ่มเห็นชัดเมื่อมีชุมชน หากไปดูหลักฐานโบราณคดีจะเห็นการฝังศพของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของชุมชน สะท้อนความเชื่อเรื่องโลกหลังความตาย สัมพันธ์กับลักษณะที่มนุษย์เติบโตเป็นชุมชนแล้ว

ลักษณะของผีในความเชื่อของสังคมไทยมีหลายรูปแบบ หลายชนิด ดังที่อาจารย์ศรีศักดิ์บอกว่าแบ่งตามลักษณะหน้าที่ซึ่งให้คุณให้โทษต่าง ๆ ตามวาระหน้าที่ที่ต่างกัน เช่น ผีเรือน ผีบ้าน ผีเมือง ผีเจ้าพ่อ ฯลฯ ที่สำคัญคือ “ผีเรือน” ทำหน้าที่คุ้มครองคนในบ้าน ต่อมาคือ “ผีบ้าน” บ้านในที่นี้คือชุมชน ผีบ้านจะมีการอัญเชิญผีบรรพบุรุษ เรียกผีปู่ตา เป็นผีที่คุ้มครองหมู่บ้าน ต่อมาเป็น “ผีเมือง” คือผีที่สถิตอยู่ในหลักเมือง หมายถึงผีที่ทำหน้าที่พิทักษ์เมือง สุดท้ายคือ “ผีเจ้าพ่อ” เป็นผีที่ผู้คนให้การยกย่องและได้รับการสักการะให้เป็นผี เช่น เจ้าพ่อเขาตก 

นักวิชาการด้านโบราณคดีและมานุษยวิทยา เพิ่มเติมว่าการนับถือผีไม่ใช่แค่ความเชื่อเท่านั้น แต่ยังมีการปฏิบัติพิธีกรรมต่าง ๆ เช่น การไหว้ผีบรรพบุรุษ การเซ่นบวงสรวงผีในหมู่บ้าน ซึ่งเป็นเครื่องมือในการสร้างความสัมพันธ์ในสังคมนั้น ๆ ให้กลมเกลียวกันเป็นหมู่คณะจากความเชื่อที่มีร่วมกัน อีกทั้ง “ผี” ยังมีบทบาทในแง่การสร้างขวัญกำลังใจและการเยียวยาอีกด้วย ซึ่งอาจารย์ศรีศักรได้ยกตัวอย่าง “ผีฟ้า” ที่เคยลงพื้นที่สำรวจ

“…คุณเคยได้ยินชื่อผีฟ้ามั้ย ตอนผมลงพื้นที่ที่ปราจีนบุรี เขาใช้ผีฟ้าในการรักษาพยาบาล เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยเขาจะเชิญผีมาช่วยรักษา ถ้าหมอปัจจุบันรักษาไม่หาย คุณไปปรึกษาผีฟ้า เขาก็จะเอาหมอผีไปเข้าทรง ถ้าหากเป็นโรคที่เกี่ยวกับการกระทำของผีก็รักษาได้ แต่ถ้าเป็นโรคที่เกิดตามธรรมชาติเขาไม่ยอมรักษา เมื่อตกลงกันได้แล้ว ถึงวันนัดก็ไปหาหมอแคน เขาจะเซิ้งแล้วเป่าแคน ขณะที่เซิ้งเป่าแคน คุณก็ต้องร้องไปด้วย คุณเข้าภวังค์ไม่เป็นตัวของตัวเอง สักพักหนึ่งเขาจะบอกให้คุณกลับบ้านได้ ทำ 3-4 รอบจนหาย หายปั๊บ คุณจะกลายเป็นร่างทรงผีฟ้า ทุกปีคุณต้องทำพิธีไหว้ผีฟ้า…”

เมื่อผีมีบทบาทสำคัญและผูกพันกับคนในสังคมมาอย่างยาวนาน อาจารย์ศรีศักรจึงเห็นว่า การนับถือผีเป็นสถาบันขนาดใหญ่ เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของคนไทยอย่างแยกไม่ออก ไม่มีวันลบออกไปได้ แม้ภายหลังจะมีศาสนาอื่น ๆ เข้ามา เช่น พุทธ ฮินดู-พราหมณ์ แต่ วิถีความเชื่อเรื่องผีก็ไม่ได้หายไป แต่ผนวกกับความเชื่ออื่น ๆ อย่างแนบเนียน

“สังคมไทยมีสิ่งเหล่านี้มาก นับไม่ถ้วนเลย ในเมืองตอนนี้มีผีมาก เอาพวกเทพเจ้ามาเป็นผีหมด เรื่องเหล่านี้มันกว้างมาก เทพฮินดูก็กลายเป็นผี แม้กระทั่งพุทธศาสนาถึงจะปฏิเสธ แต่เวลาทำพิธีกรรมก็หนีไม่พ้นเรื่องนี้ ศาสนาผีเป็นเรื่องของโลกนี้ แต่ศาสนาพุทธเป็นเรื่องของโลกหน้า อย่างคุณเป็นโรคที่รักษาไม่หาย คุณก็ไปหาผีฟ้าให้รักษาให้ได้”

ช่วงท้ายของงาน ผู้เข้าร่วมเสวนาถามว่าแม้จะเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ แต่ความเชื่อเรื่องผีของคนไทยเยอะและหลากหลายมากขึ้น รวมทั้งมีการปรับความเชื่อเก่า ๆ ให้เข้ากับยุคสมัย เช่น การนับถือตุ๊กตาเป็นเทพ เรียกว่า “ลูกเทพ” หรือการใช้ตุ๊กตาโดราเอม่อนทำพิธีแห่นางแมว สิ่งเหล่านี้เกิดจากปัจจัยอะไร ซึ่งอาจารย์ศรีศักดิ์ตอบว่าความเชื่อต่าง ๆ โดยเฉพาะเรื่องผี สามารถเปลี่ยนแปลงรูปแบบได้เมื่อสังคมของมนุษย์เปลี่ยนไป

“การเปลี่ยนรูปแบบความเชื่อเรื่องผีเป็นการเปลี่ยนแปลงทางสังคม วัฒนธรรม ประเพณี เมื่อเกิดขึ้นแล้วเป็นที่ยอมรับของสังคมมันก็เกิดขึ้นได้ ทุกสิ่งไม่ยั่งยืน เมื่อสังคมเปลี่ยน สิ่งเหล่านี้ก็ย่อมเกิดขึ้น”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 31 มีนาคม 2566