เผยแพร่ |
---|
พม่าก่อนเสียเมืองเป็นรัฐที่มีความยิ่งใหญ่ในภูมิภาค นับตั้งแต่อาณาจักร พุกาม ตองอู หงสาวดี ซึ่งแต่ละอาณาจักรได้ก้าวขึ้นสู่จุดสูงสุดก่อนจะล้มสลาย เป็นวัฏจักรทางประวัติศาสตร์ที่พบเห็นได้ในทุกอารยธรรมทั่วโลก เฉกเช่นเดียวกับราชวงศ์คองบอง ราชวงศ์สุดท้ายของพม่า ซึ่งเคยยิ่งใหญ่ในสมัยพระเจ้าอลองพญา ก่อนจะเสียเอกราชให้อังกฤษใน ค.ศ.1885 ถูกผนวกเป็นส่วนหนึ่งของอินเดียของอังกฤษ หรือบริติชเบอร์มา
ในงานสโมสรศิลปวัฒนธรรมเสวนา พม่าหลังเสียเมือง วันพฤหัสบดีที่ 18 มีนาคม 2564 ผศ. ดร. ดุลยภาค ปรีชารัชช วิทยากร อธิบายว่า หลังพม่าตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษ อังกฤษได้เข้าปกครองอย่างเบ็ดเสร็จในบริเวณแกนกลางเขตลุ่มแม่น้ำอิรวดีและแม่น้ำสะโตง รวมถึงเทือกเขาตะนาวศรีและอาระกัน พื้นที่เหล่านี้อังกฤษเข้าปกครองโดยตรง มีอำนาจควบคุมอย่างสมบูรณ์
ขณะที่เขตเทือกเขาสูง ในรัฐคะฉิ่นและรัฐฉานปัจจุบันนั้น อังกฤษเข้าปกครองแบบหลวม ๆ คล้ายรัฐในอารักขา ในขณะที่เจ้าผู้ปกครองในพื้นที่ยังมีอำนาจการปกครองตนเองอยู่บ้าง นอกจากนี้ยังมีเขตภูเขาสูงตอนในบางเขตที่อังกฤษให้อิสระในการปกครองตนเอง เช่น กันทราวดี ของพวกกะยา หรือปูตาโอ ในเขตใกล้เทือกเขาหิมาลัย ทั้งนี้ ยังมีอีกเขตที่ไม่สามารถบริหารจัดการได้ อำนาจของอังกฤษแผ่เข้าไปไม่ถึง เช่น เขตหุบเขาของพวกว้า
“ส่วนที่เป็นพม่าแท้มันเป็นการปกครองโดยตรงจากอังกฤษ พลังจากอังกฤษค่อนข้างจะเข้มงวด ข้าหลวงเข้าไปปกครองตักตวงผลประโยชน์ก็ค่อนข้างเข้มงวด แล้วสถาบันที่ขัดขวางผลประโยชน์ของอังกฤษ เช่น กษัตริย์พม่าก็ถูกทลายหายไป แต่อีกดินแดนหนึ่งเหมือนกับว่าเป็นรัฐในอารักขาหรือมีลักษณะการควบคุมจากอังกฤษที่มันหลวมขึ้น เมื่อเทียบกับดินแดนส่วนแรก ในการนี้สถาบันการปกครองบางอย่างยังถูกเก็บรักษาเอาไว้ อย่างเช่น ระบบเจ้าฟ้าในรัฐฉาน… สิ้นแสงฉาน เจ้าฟ้ารัฐฉานมันมาล่มเมื่อ ค.ศ. 1962 ตอนเนวินปฏิวัติ แต่กษัตริย์พม่า พม่าเสียเมือง สิ้นพระเจ้าแผ่นดินพม่า ค.ศ. 1885… นี่คือจุดต่าง” ผศ. ดร. ดุลยภาค กล่าว
อังกฤษปกครองพม่าจนถึงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และให้เอกราชพม่าเมื่อวันที่ 4 มกราคม ค.ศ. 1948 โดยบุคคลที่มีส่วนสำคัญในการเรียกร้องเอกราชคือ นายพลอองซาน ย้อนกลับไปใน ค.ศ. 1947 ในข้อตกลงปางโหลง ซึ่งอองซานร่วมประชุมกับผู้นำในกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ผศ. ดร. ดุลยภาค อธิบายว่า นักวิเคราะห์มองว่าข้อตกลงนี้เป็นใบเบิกทางที่ทำให้ดินแดนพม่าแท้กับดินแดนกลุ่มชาติพันธุ์รวมตัวขึ้นเป็นรัฐเอกราชพม่าในเวลาต่อมา และเป็นเค้าโครงในการก่อรูปการปกครองแบบสหพันธรัฐของพม่า ซึ่งมีรัฐบาลกลางและรัฐบาลมลรัฐ
ข้อตกลงปางโหลงเป็นพื้นฐานสำคัญของรัฐธรรมนูญฉบับแรกของพม่า ซึ่งให้สิทธิการปกครองตนเองระดับหนึ่งกับกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ที่สำคัญคือมีมาตราหนึ่งที่ระบุถึงการให้สิทธิการแบ่งแยกดินแดนได้หลังจากการรวมตัวกันครบ 10 ปี ซึ่งพวกไทใหญ่กับกะยาให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างมาก
ผศ. ดร. ดุลยภาค กล่าวว่า “ค.ศ. 1947 เป็นต้นน้ำสำคัญในการก่อตัวรัฐพม่า เพราะว่ามีข้อตกลงเกิดขึ้นและมีรัฐธรรมนูญ แต่ว่าไส้ในมีมาตราการถอนตัวออกจากสหภาพ… ชีวิตชีวาของรัฐพม่ามันเกิดขึ้นแล้ว สัญญาณเริ่มดี” แต่หลังจากนายพลอองซานถูกลอบสังหาร ทำให้เหตุการณ์ในพม่ากลับพลิกผัน “ผลลัพธ์ของมันแน่ชัดก็คือ ทำให้พม่ายังสร้างรัฐไม่เสร็จ ทำให้พม่าระส่ำระส่าย ชีวิตชีวาแห่งสหพันธรัฐที่เคยคุยไว้ก็ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างแท้จริง” ผศ. ดร. ดุลยภาค กล่าว
หลังจากนั้น อูนุ ได้ก้าวขึ้นสู่อำนาจ แต่อูนุไม่ได้ให้หลักประกันแก่กลุ่มชาติพันธุ์เท่ากับนายพลอองซาน ซ้ำยังเป็นที่ไว้วางใจน้อยกว่า การขึ้นสู่อำนาจของอูนุส่งผลให้รัฐพม่าไม่เป็นสหพันธรัฐอย่างแท้จริง มีอำนาจเบ็ดเสร็จอยู่ที่ศูนย์กลางที่กรุงย่างกุ้ง มีการให้สิทธิพิเศษกับสมาชิกสภาที่เป็นพม่าแท้ และอีกหลายเรื่องที่พม่าแท้มีสิทธิพิเศษเหนือกว่า นั่นทำให้กลุ่มชาติพันธุ์รู้สึกถูกเอารัดเอาเปรียบ จึงเรียกร้องและเคลื่อนไหวติดอาวุธ บางกลุ่มหวังต้องการการปกครองแบบสหพันธรัฐ บางกลุ่มต้องการสร้างรัฐเอกราชเป็นของตนเอง รวมทั้งเกิดการแตกแยกในกลุ่มการเมืองต่าง ๆ เหล่านี้จึงนำไปสู่สงครามกลางเมืองในพม่า
รัฐบาลอูนุที่ปกครองประเทศมาตั้งแต่ ค.ศ. 1948 จนถึง ค.ศ. 1952 นับเป็นช่วงที่สับสน วุ่นวาย และไร้ระเบียบ รัฐบาลไม่สามารถสร้างเสถียรภาพได้ นั่นทำให้กองทัพพม่าเริ่มเข้ามามีบทบาทในช่วงเวลานี้ โดยเฉพาะการเข้ามามีอำนาจของนายพลเนวิน เพื่อค้ำยันไม่ให้รัฐบาลอูนุล่มสลาย กระทั่ง เกิดกวิกฤตในพรรคสันนิบาตอิสรชนต่อต้านฟาสซิสต์ ซึ่งเป็นพรรคการเมืองสำคัญที่มีแกนนำสำคัญคืออูนุ เกิดแตกหักภายในเป็นสองกลุ่ม คือ สันนิบาติสะอาดของอูนุ และสันนิบาตเสถียร
“ตรงนี้ทำให้กองทัพเริ่มมองว่านักการเมืองตีกัน อยู่แบบนี้ไม่ได้แล้ว เหมือนระบบรัฐสภาและนักการเมืองมันทำให้ประเทศอ่อนแอ ในมุมกองทัพนะ… จุดเปลี่ยนสำคัญ ค.ศ. 1958 เป็นวิกฤตการแตกออกเป็นสองก๊กของกลุ่มสันนิบาต จนกระทั่งรัฐบาลพลเรือนไม่น่าจะไปไหวแล้ว…” ผศ. ดร. ดุลยภาค กล่าว
ในขณะนั้นเอง กองทัพพม่าก็เริ่มเคลื่อนไหว ที่สุดรัฐบาลอูนุถ่ายโอนอำนาจสู่กองทัพ โดยมีนายพลเนวินก้าวขึ้นสู่อำนาจเป็นรัฐบาลรักษาการณ์ ตั้งแต่ ค.ศ. 1958-1960 จากนั้น มีการเลือกเลือกตั้งใหม่ อูนุขึ้นมาเป็นผู้นำอีกครั้ง ตั้งแต่ ค.ศ. 1960-1962 ในช่วงเวลานี้มีขบวนการเคลื่อนไหวเรียกร้องการปกครองแบบสหพันธรัฐพม่า รัฐบาลอูนุก็ตอบตกลงให้มีการเจรจาประชุมสหพันธรัฐเกิดขึ้น “ในช่วงเวลานี้กองทัพเริ่มไม่สบายใจ มีเอกสารกองทัพปล่อยมาเหมือนกันว่าการเคลื่อนไหวสหพันธรัฐสัมพันธ์กับการแบ่งแยกดินแดน กองทัพก็เริ่มหวาดระแวง…” ผศ. ดร. ดุลยภาค กล่าว
ที่สุดกองทัพพม่าจึงทำรัฐประหารในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1962 นำประเทศสู่ระบอบการปกครองภายใต้ทหารยาวนานไปจนถึง ค.ศ. 1988 กระทั่งเกิดเหตุการณ์ 8888 ประชาชนลุกฮือต่อต้านรัฐบาล นายพลซอมองทำรัฐประหารอีกครั้ง และแช่แข็งประเทศไปอีกหลายปี ส่วนปัญหาเรื่องชาติพันธุ์ก็ถูกแช่แข็ง ถูกซุกไว้ใต้พรมเช่นเดียวกัน
ผศ. ดร. ดุลยภาค กล่าวว่า “พม่ามันเป็นรัฐที่มีความระส่ำระส่ายไร้ระเบียบ และมีความละเอียดอ่อนสูงมาก มีกลุ่มชาติพันธุ์ มีประชาชนที่มีมุมคิดความรู้สึกทางชาติพันธุ์ที่บางทีมันเป็นคนละขั้วกับคนพม่า เช่น กลุ่มไทใหญ่กับคนพม่าอาจจะมีอะไรที่ไม่ลงรอยกันหลาย ๆ ส่วน ในเรื่องของวัฒนธรรม ในเรื่องของความรู้สึกนึกคิด คนพม่ากับคนกะเหรี่ยงอะไรแบบนี้ บางกลุ่มก็อยู่กันได้แต่ว่าบางกลุ่มก็มีรอยปริแยก แต่กลุ่มชาติพันธุ์จำนวนไม่น้อยก็มีกองกำลังติดอาวุธ ซึ่งก็ทำสงครามตอบโต้กับรัฐบาลพม่า… เขา (กองทัพพม่า) เชื่อว่าถ้ามีการกระจายอำนาจ หรือให้การปกครองแบบสหพันธรัฐ มันจะคุมไม่อยู่ เขาไม่ต้องการอะไรที่ซับซ้อนมาก เขาต้องการแบบรัฐบาลที่กระชับและรวมศูนย์ไปเลย…”
รับชมเสวนาย้อนหลังได้ที่นี่ : [ตอนที่ 1] [ตอนที่ 2]
- ทหารพม่าในการเมือง นัยของคณะรัฐประหาร เปลี่ยนชื่อประเทศ “เบอร์มา” เป็น “เมียนมา”
- การลุกฮือ 8888 นักศึกษา-ประชาชน-พระในพม่า ร่วมขับไล่เผด็จการทหาร
- พระสงฆ์พม่า ที่ทั้งสร้างความเข้มแข็ง-แทรกแซงกิจการรัฐ
เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 19 มีนาคม 2564