พระสงฆ์พม่า ที่ทั้งสร้างความเข้มแข็ง-แทรกแซงกิจการรัฐ

พระวิราธุ พระนักกิจกรรมทางการเมือง (Photo by Sai Aung MAIN / AFP)

เอกสารสรุปการสัมมนาวิชาการประจำปี 2557 ไทย-พม่าศึกษา ในกรอบประชาคมอาเซียน Thai-Burma Studies in ASEAN Community (สนพ. มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, พ.ศ. 2558) มีหัวข้อการสัมมนาหนึ่งชื่อ “พระสงฆ์กับการบ้าน-การเมืองในอาเซียน” ซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ในที่นี้จึงขอสรุปเฉพาะการเสนอของ ศ.ดร. สุเนตร ชุตินธรานนท์ ที่กล่าวถึง “ความสัมพันธ์ของสงฆ์ในมิติการเมืองของพม่า” มาให้เห็นที่มาถึงบทบาทของพระสงฆ์ในเวทีการการเมืองดังนี้ [จัดย่อหน้าใหม่ และสั่งเน้นคำ-กองบก.ออนไลน์]


ผมขอจำกัดประเด็นที่จะพูดคือ “ความสัมพันธ์ของสงฆ์ในมิติการเมืองของพม่า” จากการศึกษาที่ผ่านมามักจะมุ่งไปที่รัฐกับสงฆ์ ซึ่งมีรัฐที่เป็นแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เดิม หมายถึงพระมหากษัตริย์กับพระสงฆ์ รัฐในยุคอาณานิคมก็หมายถึงอังกฤษที่เป็นผู้ปกครอง ความสัมพันธ์ที่ว่านี้แยกได้ 2 ลักษณะ คือ

1. สงฆ์มีบทบาทสร้างความเข้มแข็งให้แก่รัฐ เห็นได้ชัดในสมัยรัฐจารีต หรือรัฐโบราณ ที่อำนาจจะจำกัดอยู่ที่เมืองหลวง เบเนดิก แอนเดอร์สัน เปรียบเทียบว่าเหมือนแสงเทียน ส่วนที่ใกล้เทียนก็จะสว่างมาก ส่วนที่อยู่ห่างออกไปก็จะสว่างน้อยลงจนมืด ส่วนที่สลัวหรือมืดหมายถึงดินแดนที่อำนาจรัฐมีน้อยหรือไม่มีเลย

ที่ตรงนี้แหละที่พระสงฆ์เข้าไปมีบทบาทอย่างมาก บทบาทคือการควบคุมทางสังคม (social control) โดยการควบคุมความประพฤติ หรือจริยธรรมของประชาชน ตลอดจนให้ประชาชนปฏิบัติตามกฎหมาย รวมถึงการจ่ายส่วยหรือภาษี เมื่อเกิดความขัดแย้งทางการเมือง สงฆ์จะทำหน้าที่เป็นทูตสันถวไมตรี ย้อนไปเมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 12 สงฆ์ช่วยแก้ไขความขัดแย้งระหว่างพม่ากับศรีลังกา

ในคริสต์ศตวรรษที่ 13 สงฆ์เข้าไปจีนตอนใต้ ซึ่งตอนนั้นพวกมองโกลกำลังขยายอำนาจลงมา ไปเพื่อเจรจาต่อรองและสร้างสมานฉันท์ ตอนศึกมอญ-พม่าใน ปี [พ.ศ.] 1949/[ค.ศ.] 1406 มอญยกทัพไปตีพม่าในคราวศึก “ราชาธิราช” พระเจ้าอังวะให้พระสงฆ์ขี่ช้างนำผู้สูงอายุที่นุ่งห่มขาว 300 และไม่ห่มขาวอีก 300 ถือเครื่องบรรณาการเพื่อเจรจาสงบศึก ปรากฏว่าทำได้สำเร็จ และตอนที่พระเจ้าบุเรงนองต้องการพระธิดาของกษัตริย์ศรีลังกา ก็ส่งพระสงฆ์ไปเป็นทูตเจรจา

จะเห็นได้ว่าสงฆ์ในพม่าสนับสนุนและสัมพันธ์กับการเมืองมาตลอด แม้กรณีของไทยหรือของเชียงใหม่ ผู้ปกครองได้อาศัยสถานะความเป็นสงฆ์ เพื่อเข้าไปจัดการปัญหาทางการเมือง เช่น การผนวชของพระเจ้าลิไทก็เพื่อขอเมืองพิษณุโลกคืนจากพระเจ้ารามาธิบดีที่ 1 (อู่ทอง) หรือการบวชของพระบรมไตรโลกนาถก็เพื่อขอเมืองเชลียงคืนจากพระเจ้าติโลกราช บทบาทสงฆ์นี้สำเร็จบ้างไม่สำเร็จบ้าง

2. อีกมิติหนึ่ง สงฆ์ถูกมองว่าเข้าไปแทรกแซงอำนาจรัฐในยุครัฐจารีต สงฆ์เข้าไปเป็นปากเสียงให้แก่ประชาชน เช่น รัฐเก็บภาษีในฤดูที่ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล สงฆ์ก็เข้าไปต่อรองกับรัฐเพื่อให้ลดหย่อนผ่อนผันภาษี หรือกรณีนักโทษประหาร สงฆ์ก็เข้าไปแทรกแซงเพื่อขอเว้นโทษตาย นักโทษที่รอดตายเหล่านี้ต้องมาเป็นข้าพระ พม่าเรียกว่า “พญาจอง” แม้พวกกบฏหรือเชลยศึก สงฆ์ก็เข้าไปช่วยเหลือด้วยเหมือนกัน

การที่สงฆ์เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมืองมาก ๆ ก็ได้รับผลกระทบเหมือนกัน อย่างเมื่อครั้งพระเจ้าอลองพญาตีเมืองหงสาวดีได้ ก็สั่งให้ประหารพระสงฆ์จำนวนมาก โดยให้ช้างเหยียบ

ในยุคอาณานิคม บทบาทของสงฆ์พม่าดูจะโดดเด่น ด้วยเป็นยุคที่พุทธศาสนาเสื่อมทรุด สงฆ์ที่เป็นพวก political activist เช่น อูวิสาระ ที่มีอนุสาวรีย์กลางเมืองย่างกุ้ง ท่านผู้นี้ได้ต่อสู้กับอังกฤษ อังกฤษจะปลดผ้าเหลืองของท่านออก ท่านประท้วงโดยการอดอาหารจนมรณภาพ เมื่อ [พ.ศ.] 2472/[ค.ศ.] 1929 อูอุตตมะ ผู้ที่บังคับให้อังกฤษต้องถอดรองเท้าก่อนขึ้นเจดีย์ชเวดากอง หรืออย่างกบฏต่อต้านอังกฤษเมื่อปี [พ.ศ.] 2473-74/[ค.ศ.] 1930-31 ผู้นำคือ ซายาซาน ท่านผู้นี้เคยเป็นพระสงฆ์มาก่อน

ทั้งหมดก็สะท้อนบทบาทสงฆ์พม่าที่มีทั้งสนับสนุนอำนาจรัฐ และแทรกแซงอำนาจรัฐ

ที่ผ่านมาไม่เคยมีความขัดแย้งระหว่างสงฆ์กับประชาชน อาจเนื่องมาจากที่ผ่านมา 89% ของประชากรเป็นชาวพุทธ จนกระทั่งเมื่อเร็ว ๆ นี้ได้เกิดความขัดแย้งระหว่างสงฆ์กับประชาชนต่างศาสนา เริ่มจากชาวพุทธกับพวกมุสลิมโรฮิงญา ต่อมาเป็นชาวพุทธกับพวกมุสลิมทั้งหมด

โรฮิงญาหมายถึงกลุ่มชาติพันธุ์ที่ข้ามมาจากเบงกอล มาตั้งถิ่นฐานในรัฐอาระกันของพม่า จะมาเมื่อไรไม่แน่ชัด รัฐบาลพม่าบอกว่าพวกนี้เพิ่งเข้ามา แต่โรฮิงญาบอกว่าพวกตนอยู่ที่นี่มาตั้งแต่ศตวรรษที่ 7 แล้ว รัฐบาลพม่าไม่ยอมรับชาติพันธุ์โรฮิงญา ยอมรับแต่พวกเบงกาลี การต่อต้านพวกโรฮิงญาซึ่งมีอยู่ 8 แสนคนในปี [พ.ศ.] 2555/[ค.ศ.] 2012 ตอนนี้อาจเพิ่มหรือลดก็ไม่ทราบ เป็นความขัดแย้งระหว่างชาติพันธุ์และศาสนา โดยมีเรื่องการเมืองเข้ามาแทรกด้วย เพราะเป็นการเหยียดสีผิว ความจริงพม่าก็มีมุสลิมซึ่งไม่ใช่พวกโรฮิงญาที่กระจายอยู่ตามเมืองต่าง ๆ

เหตุความขัดแย้งนี้เกิดเมื่อมิถุนายนปี [พ.ศ.] 2556/ [ค.ศ.] 2012 เมื่อมีมุสลิมไปข่มขืนและฆ่าผู้หญิงพม่า จากนั้นพวกพม่าก็ยกพลไปบุกหมู่บ้านพวกมุสลิม เกิดความไม่สงบในรัฐยะไข่และลามไปถึงเมืองมิตจิน่า (อยู่ในรัฐอาระกัน) ที่อยู่ตอนกลางของพม่า ผลก็คือ มีนาคมปี [พ.ศ.] 2556/ [ค.ศ.] 2013 มีมุสลิมตายไป 40 คน ไร้ที่อยู่อีกหมื่นกว่าคน ต่อมาพวกมุสลิมถูกบังคับให้ออกจากบ้านเกิด 1 แสน 5 หมื่นคน และถูกสังหารไปทั้งสิ้น 240 คน

พุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งความสันติ ไม่นิยมความรุนแรง แต่ปรากฏนามพระสงฆ์พม่าบางรูปออกมาเป็นผู้นำในขบวนการแห่งความขัดแย้งนี้ อย่างเช่น พระวิราธุ อายุ 45 ปีซึ่งมีภาพท่านขึ้นหน้าปกหนังสือ Time ความจริงความขัดแย้งระหว่างพุทธกับมุสลิมไม่ใช่ไม่เคยเกิดขึ้น แต่ความแย้งครั้งนี้โดดเด่นเพราะมีการจัดระบบในการต่อต้าน เช่น การใช้ตัวเลข 969 เป็นสัญลักษณ์ต่อต้านมุสลิม

ปรากฏการณ์นี้สะท้อนให้เห็นความขัดแย้งในมิติของภาคประชาชน สงฆ์ที่ออกมาต่อต้านพวกมุสลิมไม่ใช่สงฆ์พม่าทั้งประเทศ เมื่อตอนที่พระวิราธุออกมาต่อต้านและตอบโต้พวกมุสลิม พระผู้ใหญ่ในเมืองมัณฑะเลย์อย่างเช่น “ซายาดอมายาวัตตี” ก็ออกมาเตือนสติว่า คำกล่าวของพระวิราธุนั้นไม่ใช่คำสอนของพระพุทธศาสนา ความเกลียดชังนั้นไม่ดี มนุษย์นั้นเท่าเทียมกันและไม่ควรตัดสินมนุษย์จากศาสนาที่เขานับถือ

ดังนั้น กลุ่มสงฆ์ที่ต่อต้านมุสลิมนั้นเป็นเพียงพวก political activist กลุ่มหนึ่งซึ่งไม่ใช่สงฆ์ทั้งประเทศ การต่อต้านนี้ก็ทำเป็นระบบ เช่น จัดตารางการเทศน์ตามวัดต่าง ๆ มีการจัดเดินขบวน วัดที่พระวิราธุจำพรรษาอยู่นั้นมีพระ 200 รูป แต่การเดินขบวนที่มัณฑะเลย์มีพระประมาณ 5,000 รูป รวมทั้งมีการเดินขบวนที่ย่างกุ้งด้วย พระวิราธุมี facebook ส่วนตัวและมีคนติดตามอยู่ราวแสนคน

พระวิราธุอ้างเหตุผลการเคลื่อนไหวว่าเพื่อป้องกันพุทธศาสนาจากพวกมุสลิมและปกป้องความเป็นพม่า เพราะพวกมุสลิมนั้นเปรียบเหมือนปลาคาร์ฟแอฟริกาที่จะกินปลาพันธุ์อื่น ๆ รวมทั้งเผ่าพันธุ์ตัวเองด้วย ถ้าปล่อยไว้พวกมุสลิมก็จะกลืนกินพม่าจนหมดความเป็นพม่าไป

นี่เป็นสิ่งที่ชาวพุทธในอาระกันกลัวมาก และหวั่นว่าวันหนึ่งพวกมุสลิมจะมีมากกว่าคนพุทธ จนมีกฎหมายออกมาป้องกันเรื่องนี้ว่าชาวพุทธจะแต่งงานกับมุสลิมจะต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ของรัฐเพราะเกรงว่าพวกมุสลิมจะมีจำนวนมากขึ้น โดยผ่านการแต่งงานและการเปลี่ยนศาสนา

นอกจากนี้ยังอ้างว่าเพื่อปกป้องอธิปไตยของรัฐ เพราะพวกมุสลิมนั้นได้รับการสนับสนุนจากผู้ก่อการร้ายในตะวันออกกลางซึ่งอาจยึดพม่าในที่สุด นอกจากนี้ยังเป็นการปกป้องวัฒนธรรมของพม่า การติดป้าย 969 หมายความว่าบ้านนี้ไม่ใช้สินค้าหรือผลิตภัณฑ์ของพวกมุสลิม จะซื้อขายกับพวกชาวพุทธเท่านั้น การรณรงค์นี้ส่งผลกระทบต่อพวกมุสลิมที่มีอาชีพค้าขายอย่างมาก

ปรากฏการณ์นี้สะท้อนให้เห็นว่าเป็นการขับเคลื่อนในเรื่องชาตินิยมที่รุนแรงมาก คำถามก็คือการขับเคลื่อนนี้มีเป้าหมายเพื่อต่อต้านพวกมุสลิมที่มีเพียง 5% หรือว่ามีเหตุปัจจัยอื่นหรือไม่?

ในประวัติศาสตร์เคยมีการขับเคลื่อนที่คล้าย ๆ กันนี้มาก่อนแล้ว ในยุคอาณานิคม พระสงฆ์ที่ลุกขึ้นมาต่อต้านนั้นเป้าหมายไม่ใช่เจ้าอาณานิคมโดยตรง หากแต่เป็นการต่อต้านนโยบายหรือปฏิบัติการของอังกฤษทกระทบต่อความมั่นคงของพระสงฆ์ต่างหาก

เหตุเนื่องจากเจ้าอาณานิคมอังกฤษไม่อุปถัมภ์พุทธศาสนาเหมือนอย่างที่ระบบกษัตริย์เคยทำ เช่น ไม่มีการสร้างเจดีย์ ไม่มีการสถาปนาสมณศักดิ์ และอังกฤษดึงการศึกษาซึ่งเคยอยู่ในการดูแลองพระสงฆ์ไป เนื่องจากอังกฤษมองว่าความรู้ที่ได้จากการศึกษาจากวัดนั้นไม่ตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ที่สำคัญเกิดช่องว่างระหว่างผู้ปกครองอังกฤษกับพระสงฆ์พม่า ไม่มีการติดต่อสัมพันธ์กัน

สงฆ์พม่าที่ต่อต้านจักรวรรดิอังกฤษนั้นเป็นนักชาตินิยมที่ไม่ประนีประนอมเลย (the most uncompromising nationalist) องค์กรสงฆ์ในปี [พ.ศ.] 2464/[ค.ศ.] 1921 ประกาศจุดยืนว่าจะสร้างเอกภาพในหมู่ชาวพม่าโดยร่วมกันต่อต้านสินค้าต่างชาติ (อังกฤษ) ตั้งโรงเรียนแห่งชาติพม่าขึ้นเพื่อไม่ให้อังกฤษครอบงำการศึกษาแต่เพียงผู้เดียว ปรากฏการณ์นี้ถือว่าเป็นการปฏิรูปครั้งใหญ่ครั้งหนึ่งในพม่า

คำถามที่น่าสนใจคือเหตุการณ์ในปัจจุบัน [พ.ศ. 2557] นั้น สงฆ์พม่าได้รับผลกระทบจากนโยบายปี [พ.ศ.] 2553/[ค.ศ.] 2010 หรือไม่อย่างไร? และถ้าได้รับผลกระทบจะแสดงออกอย่างไร? ถ้าสงฆ์ไม่พอใจรัฐก็จะลุกมาต่อต้านอย่างเช่นที่เกิดขึ้นในปี [พ.ศ.] 2531/[ค.ศ.] 1988 หรือในปี [พ.ศ.] 2550/ [ค.ศ.] 2007 ที่เรียกว่า Saffron Revolution การที่สงฆ์ลุกขึ้นต่อต้านรัฐครั้งนี้ก็เพราะประชาชนไม่เห็นด้วยกับนโยบายของรัฐ คือพระสงฆ์มีประชาชนเป็นผู้สนับสนุน แต่การปฏิรูปปี [พ.ศ.] 2553/[ค.ศ.] 2010 ของเต่ง เส่ง คนพม่าส่วนมากยอมรับ

ดังนั้น ถ้าจะมีพระสงฆ์พวก Activist เห็นว่าการปฏิรูปนี้คุกคามต่อเสถียรภาพ ต่อความมั่นคง ต่ออัตลักษณ์ของสงฆ์พม่าแล้ว สงฆ์พม่าพวกนั้นจะแสดงออกอย่างไร? หรือว่าสงฆ์พม่าตามไม่ทันการเปลี่ยนแปลงแล้ว? หรือว่าการต่อต้านมุสลิมที่ผ่านมานั้นเป็นความพยายามรักษาอัตลักษณ์ของสงฆ์พม่า อันเนื่องมาจากการปฏิรูปปี [พ.ศ.] 2553/[ค.ศ.] 2010 ใช่หรือไม่?


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 3 มีนาคม 2564