การลุกฮือ 8888 นักศึกษา-ประชาชน-พระในพม่า ร่วมขับไล่เผด็จการทหาร

ชาวพม่า ประท้วง การลุกฮือ 8888
ภาพถ่ายเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม ค.ศ. 1988 แสดงให้เห็นกองกำลังสั่งให้ฝูงชนสลายตัวบริเวณหน้าเจดีย์ซู่เล ในกรุงย่างกุ้ง (Photo by TOMMASO VILLANI / AFP)

การลุกฮือ 8888 เป็นเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 8 เดือน 8 ปี 1988 (8 สิงหาคม ค.ศ.1988/ พ.ศ. 2531) เมื่อประชาชนเมียนมาลุกขึ้นต่อต้านการปกครองของรัฐบาลพรรคโครงการสังคมนิยม (BSPP) ภายใต้อำนาจของนายพลเน วิน ซึ่งมีกองทัพหนุนหลัง จากการชุมนุมประท้วงทั่วประเทศที่ทำให้ นายพลเน วิน ต้องสละตำแหน่งผู้นำ

สถานการณ์ทั่วไปภายใต้การปกครองของนายพลเน วิน ตั้งแต่ ค.ศ. 1962-1988 ทหารเข้ามาปกครองเมียนมา โดยสภาปฏิวัติ ยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือน อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนแปลงนี้ไม่ได้ส่งผลให้ชีวิตความเป็นอยู่โดยทั่วไปของประชาชนดีขึ้น ปัญหาเศรษฐกิจ ภาวะเงินเฟ้อ การขาดแคลนเครื่องอุปโภคบริโภคยังคงเป็นปัญหาที่รัฐบาลไม่สามารถแก้ไขได้ ขณะเดียวกันประชาชนก็ไม่สามารถแสดงออกทางการเมืองได้ การประท้วงของนักศึกษา ประชาชน คนงานต่อการบริหารจัดการภายใต้อำนาจของรัฐบาลถูกปราบปราบอย่างรุนแรงโดยทหารและเจ้าหน้าที่ของรัฐ

Advertisement

ความไม่พอใจของประชาชนที่มีต่อรัฐบาลค่อยๆ สะสมเป็นเชื้อไฟและในที่สุดก็ปะทุขึ้น

เดือนกันยายน ค.ศ. 1987 รัฐบาลประกาศยกเลิกการใช้ธนบัตรมูลค่า 25, 35 และ 75 จั๊ต ซึ่งธนบัตรที่ประชาชนส่วนใหญ่ถือครองโดยไม่มีการชดเชย เป็นการซ้ำเติมความเป็นอยู่ของประชาชน โดยรัฐบาลให้เหตุผลว่าเพื่อทำลายการค้าของกลุ่มกบฏและพ่อค้าในตลาดมืดตามแนวชายแดนไทย-จีน ผลจากการประกาศครั้งนี้ทำให้มีการประท้วงของนักศึกษาสถาบันเทคโนโลยีย่างกุ้ง หรือ RIT กว่า 300 คน ซึ่งรัฐบาลตอบโต้โดยการสั่งปิดมหาวิทยาลัยและวิทยาลัย

13 มีนาคม 1988 เจ้าหน้าที่นำกำลังเข้าปราบปรามนักศึกษาและประชาชนที่ออกมาประท้วงรัฐบาล หม่อง โฟน มอ นักศึกษาสถาบันเทคโนโลยีย่างกุ้ง เสียชีวิตจากการปราบปรามครั้งนี้ หลังจากนั้นก็มีการประท้วงรัฐบาลตามมาอีกหลายครั้ง ซึ่งทำให้เกิดการบาดเจ็บและสูญเสียทั้งฝ่ายผู้ประท้วงและเจ้าหน้าที่

16 มีนาคม 1988 นักศึกษามหาวิทยาลัยศิลปะและวิทยาศาสตร์แห่งย่างกุ้ง พร้อมกับนักศึกษาจากสถาบันอื่นๆ เดินขบวนไปสถาบันเทคโนโลยีย่างกุ้ง แต่ถูกสกัดโดยตำรวจปราบจลาจลบริเวณแนวเขื่อนของทะเลสาบอินยาที่เรียกว่า “สะพานขาว” มีนักศึกษาถูกทำร้ายร่างกายและจมน้ำเสียชีวิตประมาณ 200 คน

17 มีนาคม 1988 ทหารและตำรวจบุกมหาวิทยาลัยศิลปะและวิทยาศาสตร์แห่งย่างกุ้ง จับกุมนักศึกษาจำนวนมากที่กำลังชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลเปิดเผยความจริงเกี่ยวกับการเสียชีวิตของนักศึกษาเมื่อวันที่ 13 มีนาคม ที่ผ่านมา ส่วนนักศึกษาที่จับกุมนั้นส่งไปยังคุกอินเส่ง

18 พฤษภาคม 1988 นักศึกษาเดินขบวนประท้วงไปยังเจดีย์ซูเล ตำรวจปราบจลาจลและทหารร่วมกันสลายการชุมนุม ไม่ทราบจำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตที่ชัดเจน แต่จากเหตุการณ์นี้มีนักศึกษาที่ถูกจับกุม 41 คนเสียชีวิตระหว่างเดินทางไปในรถตู้ของตำรวจไปยังคุกอินเส่งเนื่องจากขาดอากาศหายใจ

21 มิถุนายน 1988 รัฐบาลตัดสินใจประกาศเคอร์ฟิว เวลา 6 โมเย็น ถึง 6 โมงเช้าในเมืองย่างกุ้ง, ประกาศห้ามการชุมนุมเกิน 5 คน, ห้ามการปราศรัยและเดินขบวน แต่ประชาชนและนักศึกษาก็ยังคงเคลื่อนไหว และขยายวงกว้างออกไปจากกรุงย่างกุ้งด้วย

9 กรกฎาคม 1988 รัฐบาลเริ่มมีท่าทีที่อ่อนลง เช่น ประกาศยกเลิกเคอร์ฟิวที่ใช้มา 19 วัน เนื่องจากส่งผลกระทบกับชีวิตประจำวันของประชาชนและเจ้าหน้าที่ รวมถึงเศรษฐกิจของประเทศ, ประกาศปล่อยตัวนักศึกษาที่ถูกจับกุมก่อนหน้า, และประกาศให้นักศึกษาที่ถูกไล่ออกจากมหาวิทยาลัยสามารถกลับเข้าเรียนใหม่ได้ ฯลฯ

23 กรกฎาคม 1988  นายพลเน วิน ประธานพรรค BSPP และผู้นำสูงสุดที่แท้จริงของเมียนมาในขณะนั้น ประกาศลาออกจากตำแหน่งพร้อมผู้นำระดับสูงในพรรคอีกหลายคน เช่น นายพลซัน ยุ รองประธานพรรค,  กอว์ ติน สมาชิกคณะกรรมาธิการบริหารกลาง ฯลฯ โดยนายพลเน วิน ให้เหตุผลว่า เพื่อเป็นการรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ความรุนแรงเมื่อเดือนมีนาคมและมิถุนายนที่ผ่านมา และด้วยตนเองเริ่มสูงวัย

แต่ก็ไม่วายที่จะกล่าวทิ้งท้ายว่า ต้องการให้ทุกคนรู้ว่าถ้ามีความไม่สงบเกิดขึ้น เมื่อทหารยิงนั้นเป็นการยิงเพื่อให้ถูกเป้า ไม่ใช่ยิงเพื่อขู่ให้กลัว

แต่การลาออกของนายพลเน วิน ไม่ได้ทำให้สถานการณ์ดีขึ้น เพราะผู้ที่มารับตำแน่งต่อจากนายพลเน วิน ก็คือ นายพลเส่ง ลวิน นายทหารใกล้ชิดของเขา

16 กรกฎาคม -12 สิงหาคม 1988 นายพลเส่ง ลวิน ที่ได้ชื่อว่า “นายพลสายเหยี่ยว” ประกาศกฎอัยการศึก ในเมืองย่างกุ้ง และสั่งให้ดำเนินการปราบปรามผู้ประท้วงด้วยความรุนแรง

โดยผู้ประท้วงวางแผนให้ตั้งแต่วันที่ 8 สิงหาคม 1988 เป็นต้นไป นักศึกษา ประชาชน พระสงฆ์ พร้อมใจกันประท้วงและหยุดงานทั่วประเทศ นักศึกษาจากองค์กรสหพันธ์นักศึกษาแห่งพม่า เคลื่อนไหวเพื่อปลุกระดมประชาชนให้เข้าร่วมในการประท้วงใหญ่ทั่วประเทศในวันนี้ (8 สิงหาคม 1988) ซึ่งมีประชาชนเข้าร่วมกว่า 1 ล้านคน และเป็นวันที่แสดงให้เห็นว่าประชาชนเมียนมาไม่ยอมอยู่ภายใต้อำนาจการปกครองของนายพลเนวิน และรัฐบาล BSPP ต่อไป

นายพลเส่ง ลวิน ประธานาธิบดีและประธานพรรค BSPP สั่งใช้กำลังทหารปราบปรามผู้ประท้วงอย่างรุนแรงและใช้กระสุนจริง มีผู้เสียชีวิตกว่า 4,000 คน และอีกจำนวนมากที่ถูกจับกุม ซึ่งสร้างความกังวลนานาชาติในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น มหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาออกมาประณามการกระทำของรัฐบาล BSPP ขณะที่การประท้วงรัฐบาลก็ไม่มีท่าทีว่าจะยุติลง สุดท้ายนายพลเส่ง ลวิน ก็ลาออกจากตำแหน่งประธานาธิบดีและประธานพรรค BSPP (12 สิงหาคม 1988)

19 สิงหาคม 1988 ดร. หม่อง หม่อง นักกฎหมายที่ใกล้ชิด และเคยทำงานร่วมกับนายพลเน วิน ขึ้นเป็นผู้นำคนใหม่ของเมียนมา แต่ก็ไม่ได้ช่วยให้สถานการณ์คลี่คลายไปในทางที่ดี ประชาชนส่วนมากไม่ไว้วางใจและเห็นว่าเขาเป็น “ร่างทรง” ของนายพลเน วิน นอกจากนี้การประท้วงของประชาชนก็ไปไกลเกินกว่าที่แค่เพียงเปลี่ยนตัวผู้นำแล้วจะช่วยได้ และสิ่งที่ผู้ประท้วงต้องการคือการจัดตั้งรัฐบาลเฉพาะกาลขึ้นเพื่อเตรียมการเลือกตั้งเป็นเงื่อนไขสำคัญ แต่ข้อเสนอนี้ถูก ดร. หม่องปฏิเสธ และมีการส่งข้อเรียกร้องนี้ให้นักการฝ่ายตรงข้าม เช่น นางออง ซาน ซูจี, อดีตนายพลออง ยี ฯลฯ

24 สิงหาคม 1988 รัฐบาลประกาศยกเลิกกฏอัยการศึก และสั่งให้ทหารถอนตัวออกจากเมืองย่างกุ้ง หลังจากนั้นไม่กี่วันนักโทษในเรือนจำทั่วประเทศถูกปล่อยตัว หรือหลบหนีออกมา ซึ่งมีข่าวว่าเป็นการสร้างสถานการณ์ของหน่วยข่าวกรองของกองทัพ และนายพลเน วิน เพื่อให้ทหารมีความชอบธรรมที่จะเข้ามาแทรกแซงการบริหารจัดการบ้านเมือง สถานการณ์ในเมียนมาเข้าขั้นวิกฤติ เกิดการปล้นสะดม เกิดความกลัวและหวาดระแวงในหมู่ประชาชนทั่วไปจากข่าวลือต่างๆ เช่น การวางยาพิษในน้ำดื่มและแหล่งน้ำสาธารณะโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐบาล

26 สิงหาคม 1988 นางออง ซาน ซูจี ขึ้นปราศรัยที่หน้าเจดีย์ชเวดากอง จนเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกครั้งแรก

ภาพถ่ายเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม ค.ศ. 1988 นางอองซานซูจี ปราศรัยต่อต้านระบอบทหารในกรุงย่างกุ้ง (Photo by AFP / AFP FILES / AFP)

10 กันยายน 1988 รัฐบาล BSPP จัดประชุมเร่งด่วน ที่ประชุมสรุปว่า ให้มีจัดการเลือกตั้งโดยไม่ต้องทำประชามติและได้ตั้งคณะกรรมาธิการเพื่อจัดการเลือกตั้ง แต่ก็ไม่ได้การยอมรับจากประชาชน ที่ต้องการให้รัฐบาลเฉพาะกาลเป็นผู้จัดการเลือกตั้ง  เมื่อทางออกถูกปิดลง ทหารก็เริ่มส่งกำลังเข้าประจำการตามเมืองสำคัญต่างๆ ของเมียนมา ขณะเดียวกันก็มีข่าวลือว่ากองเรือสหรัฐอเมริกาปรากฏตัวในน่านน้ำเมียนมา

18 กันยายน 1988 นายพลซอ หม่อง รัฐมนตรีและหัวหน้าเสนาธิการกองทัพนำคณะทหารภายใต้ชื่อสภาฟื้นฟูกฎและระเบียแห่งรัฐ หรือ SLORC ประกาศยึดอำนาจ เพื่อสร้างระเบียบและความเรียบร้อยให้กับประเทศ

อนึ่ง การปกครองตั้งแต่ปี 1962-1988 ของนายพลเนวิน ที่ทำให้ประชาชนต้องเผชิญกับปัญหาทางเศรษฐกิจและถูกกดขี่จากองทัพ จนนำไปสู่การประท้วง 8888 ซึ่งแม้จะทำให้นายพลเน วิน หมดอำนาจ แต่ก็นำไปสู่การมีอำนาจของทหารกลุ่มใหม่ ที่เรียก SLORC

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

วีรศักดิ์ ฉัตรรุ่งนพคุณ. การรักษาอำนาจของรัฐบาลทหารเมียนมา ค.ศ.1988-2008, วิทยานิพนธ์หลักสูตรอักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร 2560

8 สิงหาคม 2531 การลุกฮือ 8888,  https://www.sac.or.th/exhibition/aseantimeline/2531-%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A5%E0%B8%B8%E0%B8%81%E0%B8%AE%E0%B8%B7%E0%B8%AD-8888/  สืบค้นเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2564


เผยแพร่ข้อมูลในระบบออนไลน์เมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2564