ทหารพม่าในการเมือง นัยของคณะรัฐประหาร เปลี่ยนชื่อประเทศ “เบอร์มา” เป็น “เมียนมา”

อองซาน เนวิน ผู้นำ พม่า
(ซ้าย) นายพล ออง ซาน ได้รับการยกย่องเป็น “บิดาแห่งประเทศพม่าในยุคปัจจุบัน” ภาพถ่ายในลอนดอน เมื่อ 1940 ภาพจาก AFP (ขวา) แฟ้มภาพไม่ระบุวันที่ ภาพของ นายพล เนวินผู้นำกองทัพและรัฐบาลพม่า ภาพจาก AFP

นับตั้งแต่โบราณกาล ประวัติศาสตร์ของ “พม่า” ไม่แตกต่างจากประวัติศาสตร์อีกหลายประเทศ อันมีเรื่องราวรบพุ่งทำสงครามโดยเหล่าทหารและกองทัพอยู่เรื่อยมา แต่เมื่อมาถึงยุคสมัยใหม่ ประวัติศาสตร์ของหลายประเทศเริ่มแยกการเมืองออกจากการทหารกันชัดเจนขึ้น อย่างไรก็ตาม นักวิชาการบางกลุ่มยังมีความเห็นว่า ประวัติศาสตร์และการเมืองสมัยใหม่ของพม่า ความสัมพันธ์ของกลุ่มทหารกับการเมืองมีความสัมพันธ์กันอย่าง “แยกไม่ออก”

นักวิชาการแบ่งการศึกษาประวัติศาสตร์พม่าออกเป็นหลายช่วงเวลา ส่วนใหญ่แล้วเมื่อต้องการแบ่งออกโดยคร่าว สามารถแบ่งได้เป็น 3 ช่วง คือช่วงยุคโบราณ ช่วงอาณานิคมอังกฤษ และช่วงเอกราช

Advertisement

พม่า ในช่วงหลังจากได้รับเอกราช

ในที่นี้จะเอ่ยถึงประวัติศาสตร์พม่าในมิติทางการเมืองสมัยใหม่หลังจากที่ได้เอกราชเมื่อ ค.ศ. 1948 (พ.ศ. 2491) ซึ่งนักวิชาการหลายท่านล้วนมองว่า บทบาทของทหารปรากฏในประวัติศาสตร์การเมืองสมัยใหม่ของพม่าแบบแยกกันไม่ออก ดังที่ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ แสดงความคิดเห็นไว้ในหนังสือ “พม่า ประวัติศาสตร์และการเมือง” ว่า เมื่อพูดถึงทหารของพม่าในการเมืองสมัยใหม่ก็ต้องหมายถึงทหารบก สำหรับพม่าแล้ว ทหารเรือและทหารอากาศมีบทบาทน้อยกว่าทหารบกมาก

งานศึกษาของชาญวิทย์ เกษตรศิริ อธิบายไว้ว่า การกำเนิดขึ้นของทหารบกพม่าในยุคใหม่สืบเนื่องมาจากสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยเมื่อสงครามใกล้ปะทุขึ้น นักชาตินิยมกลุ่มทะขิ่น นำโดยอองซาน (ซึ่งต่อสู้เพื่อเอกราชพม่าตั้งแต่เป็นนักศึกษา) พยายามหาความช่วยเหลือจากต่างประเทศ มีทั้งจากฝั่งจีนและญี่ปุ่น

อองซาน นำทะขิ่น “ตรีทศมิตร” (ผู้นำแกนกลางจำนวน 30 คนของกลุ่มที่เป็นการรวมตัวของนักศึกษาพม่า) หนีออกไปฝึกอาวุธในเกาะไหหลำ ภายใต้การอำนวยการของทหารญี่ปุ่น ซึ่งถือเป็นต้นกำเนิดของกองทัพเอกราชพม่า หรือ Burma Independence Army (BIA) เมื่อสงครามเอเชียมหาบูรพาปะทุขึ้น กองทัพนี้ยังขยายกองกำลังมาต่อเนื่อง คนหนุ่มที่ประทับใจการต่อสู้ของทะขิ่นตรีทศมิตรพากันสมัครเป็นทหารกองทัพเอกราชพม่า

ช่วงแรกของสงคราม กองทัพปฏิบัติงานใกล้ชิดกับญี่ปุ่น และถูกเปลี่ยนชื่อเป็น Burma Defense Army (BDA)

เมื่อสงครามใกล้จบลง กองทัพพม่าเกิดปัญหาอย่างหนัก ตกอยู่ในสภาพที่กำลังจะถูกถือว่าร่วมมือกับญี่ปุ่น บรรดาทะขิ่นและกองทัพพยายามดำเนินการลบล้างภาพการร่วมมือกับญี่ปุ่นออก และเปลี่ยนให้กลายเป็นผู้รักชาติ ต้องการกอบกู้เอกราช และต่อต้านเผด็จการนาซีฟาสซิสต์ ดังนั้น จึงกลายเป็นที่มาของการก่อตั้งองค์กรลับใต้ดิน (แบบเดียวกับขบวนการเสรีฝรั่งเศส และเสรีไทย) นำโดยอองซาน และผู้นำของกองทัพ ไปจนถึงผู้นำฝ่ายคอมมิวนิสต์พม่า (ฝ่ายคอมมิวนิสต์พม่าต่อต้านญี่ปุ่นตั้งแต่แรกเริ่ม ไม่ได้กลับลำในภายหลัง) ไทม์ไลน์ช่วงนี้เองทำให้กองทัพพม่าได้ชื่อเป็น “กองทัพกู้ชาติ”

ในขณะที่กองทัพญี่ปุ่นในพม่าถูกโจมตีพ่ายแพ้ตั้งแต่เมื่อปลายเดือนพฤษภาคม 1945 ต้องถอยร่นเข้ามาในไทยก่อนที่สหรัฐฯ จะทิ้งระเบิดปรมาณูเมื่อเดือนสิงหาคม เป็นจังหวะนี้เองที่กองทัพพม่าแสดงตัวว่าเป็นฝ่ายของสัมพันธมิตร

วันที่ 27 มีนาคม 1945 กองทัพพม่าในย่างกุ้งเคลื่อนตัวออกมาโจมตีญี่ปุ่น ในนามขององค์กรลับใต้ดินเรียกว่า Anti-Fascist Organization (AFPFL) การรบในวันนั้นกลายเป็นสัญลักษณ์ของกองทัพ และยังถูกถือเป็นวันกองทัพบกในภายหลังด้วย ขณะที่องค์กรลับก็กลายเป็นพรรคการเมืองในภายหลัง และเป็นองค์กรที่เจรจาเอกราชกับอังกฤษได้สำเร็จ

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ มองว่า ช่วงการต่อสู้และเจรจาเพื่อเอกราช ทำให้กองทัพพม่ามีประสบการณ์ทั้งด้านการรบและการเมือง เนวิน เป็นทั้งผู้นำกองทัพและผู้นำการเมือง ส่วนบทบาทในการเจรจาเป็นของอองซาน กองทัพตกอยู่ในการดูแลของเนวิน

เมื่ออองซานเสียชีวิตก่อนที่จะได้รับเอกราช ฝ่ายการเมืองและพรรค AFPFL ได้ผู้นำที่ระดับบารมีไม่เทียบเท่าอองซาน ยิ่งขับดันให้เนวินและกองทัพโดดเด่นขึ้น กระทั่งเนวินเป็นผู้คุมกองกำลังปราบก่อการร้ายที่ยีนางยอง เมื่อ 1947 เป็นผลสำเร็จ อังกฤษยังต้องรับรองและต้องพึ่งพากองทัพพม่าและเนวินมากขึ้นด้วย กองทัพพม่าก็เปลี่ยนข้างจากญี่ปุ่นไปอยู่ฝั่งอังกฤษ ส่วนฝ่ายคอมมิวนิสต์พม่ากลายเป็นอยู่ฝั่งตรงข้ามกับอังกฤษเมื่อช่วงหลังสงครามจากที่เดิมทีอยู่ฝ่ายสัมพันธมิตร

เนวิน สงครามกลางเมือง และความแตกแยกภายใน

ภายหลังจากพม่าได้รับเอกราช ความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายต่างๆ ก็มีปัญหา พม่าเกิดสงครามกลางเมืองขึ้น สภาพความปรองดองระหว่างพรรค AFPFL กับ พรรคคอมมิวนิสต์พม่า และชนกลุ่มน้อย ซึ่งเคยสมานได้ในสมัยที่อองซานยังมีชีวิตอยู่ก็แตกแยกกัน

ช่วงสงครามกลางเมืองพม่าระหว่าง ค.ศ. 1948-1952 กองทัพบกมีบทบาทในสถานะ “ผู้พิทักษ์” ความเป็นชาติของพม่าเอาไว้ กองทัพและเนวินเป็นฝ่ายที่อยู่กับรัฐบาล บทบาทของเนวิน และกองทัพบกทำให้เนวินเข้าไปมีตำแหน่งในรัฐบาลโดย “ไม่ต้องเล่นการเมืองในระบบรัฐสภาหรือการเลือกตั้ง” รับตำแหน่งเป็นรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการมหาดไทย และยังได้รับเชิญให้เป็นหัวหน้า “รัฐบาลรักษาการ” ในช่วง ค.ศ. 1958-1960

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อธิบายว่า “เมื่อทั้งระบบพรรคการเมืองและนักการเมือง ล้มเหลวในการนำชาติในช่วง 14 ปีหลังได้รับเอกราชมา นายพลเนวิน และกองทัพบกก็ยึดอำนาจได้อย่างง่ายดายและแทบจะไม่มีการต่อต้านใดๆ” 

เนวิน เป็นผู้นำในภูมิภาคอุษาคเนย์ที่อยู่ในตำแหน่งยาวนานที่สุดอีกคนหนึ่ง มีอำนาจอยู่ในวังวนนานถึง 26 ปี นับตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ผ่านสงครามกลางเมือง รัฐบาลรักษาการ ยึดอำนาจโดยตรงและอยู่ต่อมาภายหลังการลุกฮือ

เหตุการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นท่ามกลางยุคที่อำนาจของเนวินยังวงเวียนอยู่ คือการยึดอำนาจการเมืองเมื่อวันที่ 18 กันยายน ค.ศ. 1988 (พ.ศ. 2531) นายพลซอหม่องนำกองทัพ (ภายใต้นายพลเนวิน) ยึดอำนาจการเมือง และสถาปนาสภาฟื้นฟูกฎและระเบียบแห่งรัฐ (State Law and Order Restoration Council – SLORC) หรือที่ชาญวิทย์ เรียกอีกนามว่า รสช. พม่า (ปัจจุบัน SLORC เปลี่ยนชื่อเป็น The State Peace and Development Council หรือ SPDC) ประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญ 1974

ขณะที่ฝ่ายประชาธิปไตยของพม่า ประกาศจัดตั้งพรรค National League for Democracy (NLD) มี “อองซานซูจี” บุตรีของอองซานเป็นเลขาธิการพรรค

SLORC ประกาศจัดการเลือกตั้งหลายพรรคให้เป็นการเลือกตั้งที่อิสระและยุติธรรมในปี 1990 อย่างไรก็ตาม ในปี 1989 SLORC ไม่สามารถควบคุมสถานการณ์การเมืองภายในได้ และประกาศใช้กฎอัยการศึก เกิดการจับกุมประชาชน นักสิทธิมนุษยชน และนักประชาธิปไตยจำนวนมาก

วันที่ 27 พฤษภาคม 1989 SLORC ประกาศเปลี่ยนชื่อประเทศจาก Burma (เบอร์มา) เป็น Myanmar (เมียนมา) 

รายงานข่าวจากสำนักข่าว BBC สำนักข่าวดังจากอังกฤษเปิดเผยว่า กฎหมายที่ใช้ในยุคนั้นยังทำให้หลายเมืองในประเทศมีชื่อภาษาอังกฤษ ซึ่งหลายชื่อไม่ใช่ภาษาท้องถิ่น

สำหรับชื่อ เบอร์มา กับ เมียนมา รายงานข่าวจาก BBC อธิบายว่า ทั้งสองคำมีความหมายเหมือนกัน ในศตวรรษที่ 19 คำในภาษาอังกฤษสะกดว่า Burmah คำนี้เป็นคำแผลงที่ใช้กันระดับท้องถิ่น โดยแผลงมาจากคำว่า Myanmar

ขณะที่สื่อบางแห่งยังบ่งชี้ว่า คำว่า Burma คือคำที่เจ้าอาณานิคมใช้เรียกประเทศแห่งนี้ และเชื่อว่า คำว่า Myanmar สะท้อนถึงความหลากหลายของกลุ่มชนในพม่ามากกว่าคำว่า Burma อย่างไรก็ตาม ฝ่ายที่คัดค้านกลับมองในทางตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิง โดยพวกเขาเชื่อว่า คำว่า Myanmar กลับเป็นการแสดงความไม่เคารพชนกลุ่มน้อยในประเทศมากกว่า Burma ด้วยซ้ำ

รายงานอ้างอิงคำให้สัมภาษณ์ของ Gustaaf Houtman นักโบราณคดีที่ทำงานเขียนเกี่ยวกับการเมืองพม่ามาหลายชิ้น เขาให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร BBC News Magazine ว่า

“คำศัพท์แบบทางการคือคำว่า Myanmar ส่วนคำแบบไม่เป็นทางการ คำที่ใช้กันในชีวิตประจำวันคือคำว่า Burma สำหรับคำ Myanmar เป็นคำที่ใช้ในแง่ที่เกี่ยวข้องกับงานเขียนงานประพันธ์ ซึ่งเป็นคำแบบพิธีการ ทางการ และสะท้อนกลิ่นอายของความเป็นรัฐบาล การเปลี่ยนแปลงชื่อจึงเป็นรูปแบบหนึ่งของการเซ็นเซอร์”

ด้าน Richard Coates นักภาษาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแห่ง Western England แสดงความคิดเห็นว่า การนำคำเชิงทางการดั้งเดิมมาใช้เป็นความพยายามโดยคณะรัฐประหาร เพื่อลบภาพหรือแยกตัวออกจากอดีตในช่วงอาณานิคม

Richard Coates ให้สัมภาษณ์ไว้ว่า “กลุ่มต่างๆ ในท้องถิ่นที่คัดค้าน ไม่ยอมรับแนวคิดนี้ และเชื่อว่าพวกเขาอยากใช้คำเก่าแบบไม่เป็นทางการมากกว่า อย่างน้อยก็ใช้ไปจนกว่าจะมีรัฐบาลที่มีความนิยมอย่างชอบธรรม…”

อองซานซูจี เป็นหนึ่งในขั้วตรงข้ามและเป็นผู้คัดค้านการเปลี่ยนชื่อในช่วงแรกๆ ประเด็นเรื่องการใช้คำเรียกชื่อประเทศนี้กลายเป็นประเด็นทางการเมืองในแง่ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เมื่อผู้นำประเทศมหาอำนาจของโลกเดินทางไปเยือนประเทศนี้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา สื่อและนักวิชาการมักจับจ้องท่าทีและคำที่ผู้นำเหล่านี้ใช้เรียกขาน ซึ่งคำเรียกชื่อประเทศย่อมสะท้อนถึงจุดยืนทางการเมืองของผู้พูดด้วย

ปัจจุบันนี้ชื่อประเทศอย่างเป็นทางการคือ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา (Republic of the Union of Myanmar)

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. พม่า ประวัติศาสตร์ และการเมือง. พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2552.

ผศ.นฤมล ธีรวัฒน์ และคณะ. มองพม่าผ่านชเวดากอง. เชียงใหม่ : สำนักพิมพ์ซิลค์เวอร์ม, 2551.

Who, What, Why: Should it be Burma or Myanmar?. BBC. Online. Published 2 DEC 2011. Access 1 FEB 2021. <https://www.bbc.com/news/magazine-16000467>


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2564