เกิดชาติหน้าขอให้ชนะอังกฤษ-ปณิธานก่อนตายของ “ซายาซาน” ผู้นำกบฏพม่า

ซายาซาน ธนบัตร พม่า
ภาพซายาซาน ที่ตีพิมพ์ลงบนธนบัตรราคา 90 จัต (ภาพจาก “กบฏเกือก เมื่ออิระวดีกรุ่น”)

“เกิดชาติหน้าครั้งใดขอให้ข้าพิชิตอังกฤษตลอดไป” คือคำกล่าวสุดท้ายก่อนตายของ ซายาซาน

ซายาซาน

ซายาซาน (Saya San) ซายา แปลว่าอาจารย์ ส่วนซานเป็นชื่อของเขา ซายานเกิดเมื่อปี 2422 ในสมัยพระเจ้าธีบอเป็นกษัตริย์ พี่ชายซายาซานถูกอังกฤษสังหารเสียชีวิต ซายาซานบวชเป็นพระ และเป็นหมอยาแผนโบราณ เขาเดินทางไปรักษาโรคทั่วประเทศพม่า จึงได้รับการเคารพเรียกว่า ซายา หรือ อาจารย์

Advertisement

ปี 2467 ซายาซานเข้าร่วมกับขบวนการชาตินิยมสมัยใหม่กลุ่มของ GCBA (General Council of Burmese Association) และได้รับเลือกเป็นประธานกรรมการพิเศษของ GCBA ให้ทําการสํารวจสภาพชาวนา และนโยบายการเก็บภาษีอากรของอังกฤษ ทําให้ได้เห็นปัญหาความยากลําบากของชาวนาในชนบทมากขึ้น

ปี 2472 ซายาซานจึงเริ่มชักชวนชาวนาให้ต่อต้านอังกฤษใน 2 ประเด็นใหญ่ ไม่ยอมเสียภาษีรายหัว และการปฏิเสธกฎหมายการป่าไม้ของอังกฤษ

ก่อนที่จะกล่าวถึงการต่อต้านอังกฤษ เราไปดูสถานการณ์ ณ เวลานั้นก่อน

สภาพของเหตุการณ์ขณะนั้น มีส่วนสนับสนุนขบวนการลุกฮือของชาวนาได้ดียิ่งขึ้น เนื่องจากเป็นระยะเวลาที่เศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก พม่าซึ่งเป็นประเทศผู้ส่งออกข้าวอันดับ 1 ของโลก เมื่อต้องเผชิญกับราคาผลผลิตทางการเกษตรที่ลดลง ทางออกของประชาชนและชาวนาส่วนใหญ่ก็คือ “เงินกู้” ขณะที่นายทุนก็ไม่ยอมปล่อยกู้ เพราะกลัวว่าจะไม่ได้เงินคืน ทางออกของชาวนาจึงถูกปิดตาย

ขณะนั้นอังกฤษออกกฎหมาย 2 เรื่องสำคัญ ที่มีผลกระทบกับชาวพม่าเป็นอย่างมาก

หนึ่งคือ การเก็บภาษีแบบใหม่ ที่เก็บภาษีรายบุคคล และก็เรียกเก็บเป็น “เงิน” จากเดิมที่การเสียภาษีสามารถจ่ายด้วย เงิน, ส่วยสินค้า, การเกณฑ์แรงงาน อีกหนึ่งคือ กฎหมายเกี่ยวกับป่าไม้ โดยห้ามตัดไม้ใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต ชาวชนบทที่พึ่งไม้ไผ่และไม้ต่าง ๆ สำหรับทําฟืนหรือปลูกสิ่งก่อสร้าง ล้วนได้รับผลกระทบอย่างมาก

กฎหมายที่ไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของชนบทพม่า เป็นตัวเร่งให้ชาวนาร่วมมือกับซายาซาน

การต่อต้านอังกฤษ

ซายาซาน ตั้งชื่อขบวนการต่อสู้กับอังกฤษของตนว่า “สมาคมครุฑ” (Galon Athins) โดยถือว่าสมาคมครุฑของตนกําลังสู้กับนาค ซึ่งหมายถึงอังกฤษ จากนั้นก็เริ่มจู่โจมตีสถานีป่าไม้, สถานีตํารวจ, ผู้ใหญ่บ้านที่ร่วมมือกับอังกฤษ, ชาวอินเดียที่ปล่อยเงินกู้ ฯลฯ การประท้วงลุกลามไปอย่างรวดเร็ว ซายาซานประกาศตั้งตนเป็นกษัตริย์สร้างพระราชวังใหม่ ใช้เครื่องสูงแบบกษัตริย์ ตั้งภริยาของตนเป็นมเหสี แจกจ่ายเครื่องรางของขลังให้ชาวนาที่รวมเป็นกองทัพสู้อังกฤษ (คล้ายกบฏผู้มีบุญในภาคอีสานของไทยในสมัยรัชกาลที่ 5)

รูปแบบของกบฏซายาซาน ที่มีการใช้สัญลักษณ์เก่า ๆ ของกษัตริย์โบราณ, มีเรื่องของความเชื่อและเครื่องรางของขลังที่ไม่สามารถต่อกรกับอาวุธทันสมัยของอังกฤษได้ คล้ายกับกบฏผู้มีบุญ (บ้างเรียกกบฏผีบุญ) แสดงให้เห็นถึงความเชื่อในแบบเก่าที่เคยมีมาในพม่าเป็นเวลาหลายร้อยปี เป็นรูปของขบวนการกบฏชาวนาที่ปรากฏในเอเชีย หรือแม้แต่ในยุโรปสมัยกลาง คือการอิงกับความเชื่อทางศาสนาและสถาบันเก่า ซึ่งวิธีการนี้เรียกร้องความสนับสนุนจากชนบทได้เป็นอย่างดี

ซายาซาน ผู้นำกบฏชาวนาต่อต้านอังกฤษ ปี 2473 ถูกจับเข้าคุกที่เมืองทวารวดี (ภาพจาก “พม่าขบวนการนักศึกษากับประวัติศาสตร์อันระทึกใจ”)

การต่อต้านอังกฤษของซายาซานเป็นไปอย่างกว้างขวาง รุนแรงขยายไปเกือบทั่วประเทศพม่า จากตอนล่างของประเทศไปสู่ตอนบน ก่อนเข้าไปถึงรัฐฉาน การประท้วงครอบคลุมพื้นที่ถึง 12 จังหวัด จากทั้งหมด 20 จังหวัด

อังกฤษใช้ทหารอินเดียและทหารกะเหรี่ยงถึง 12,000 คน และอาวุธทันสมัยปราบอยู่ 2 ปี จึงราบคาบ ปรากฏว่ามีผู้ที่ถูกจับฐานกบฏถึง 9,000 คน, ผู้บาดเจ็บล้มตาย 3,000 คน และผู้ที่ถูกพิพากษาประหารชีวิตด้วยการแขวนคอมีถึง 350 คน ซึ่งรวมถึงซายาซาน

ซายาซานผู้นำกบฏถูกจับส่งขึ้นศาลพิพากษา และถูกตัดสินประหารชีวิตด้วยการแขวนคอ ประวัติศาสตร์พม่ากล่าวไว้ว่าเขาปฏิเสธที่จะอุทธรณ์คดี และเผชิญการแขวนคออย่างทระนง พร้อมทั้งกล่าวคําสุดท้ายทิ้งไว้ว่า

“เกิดชาติหน้าครั้งใดขอให้ข้าพิชิตอังกฤษตลอดไป”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. พม่าขบวนการนักศึกษากับประวัติศาสตร์อันระทึกใจ, มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, มิถุนายน 2533.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 30 กรกฎาคม 2563