เผยหมดเปลือก “โฉมฉาย – บูรพา” ร่วมเล่าถึงเบื้องหลังความบันเทิงไทยครั้งอดีต

บรรเลงรมย์ ความบันเทิง

เผยหมดเปลือก “โฉมฉาย – บูรพา” ร่วมเล่าถึงเบื้องหลัง “ความบันเทิง” ในไทยครั้งอดีต

วันเสาร์ที่ 24 มิถุนายน 2566 ที่มติชนอคาเดมี เครือมติชน นำโดย ศิลปวัฒนธรรม, สำนักพิมพ์มติชน, ศูนย์ข้อมูลมติชน (MIC) และเส้นทางเศรษฐี ร่วมจัดงาน สโมสรศิลปวัฒนธรรม สเปเชียล “๒๔ มิถุนาฯ วันมหาศรีสวัสดิ์” ระดมนักวิชาการเบอร์ต้น ๆ ของเประเทศมาขึ้นเวทีทอล์ก นิทรรศการ “เปิดกรุ” จัดแสดงของหายากยุค 2475

เวลา 16.00 – 17.00 น. การพูดคุยสุดพิเศษในประเด็นเรื่อง “ความบันเทิงหลัง 2475” โดย คุณโฉมฉาย อรุณฉาน สุดยอดนักร้องแห่งยุค 70 ในตำนาน และคุณบูรพา อารัมภีร อดีตนายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยและคอลัมนิสต์นิตยสารศิลปวัฒนธรรม มาร่วมสร้างบรรยายความเบิกบานหรรษาและการแสดงดนตรี “บรรเลงรมย์” ขับขานบทเพลงสร้างความเพลิดเพลิน

คุณบูรพา เล่าถึงการเดินทางของ “ความบันเทิง” หลัง 2475 เป็นต้นมามีหลายช่วงหลายยุค ตั้งแต่ยุคละครร้อง ยุคเครื่องสายฝรั่ง ยุคการเข้ามาของภาพยนตร์ ตั้งแต่ภาพยนตร์เสียงในฟิล์ม และยกตัวอย่างเรื่อง “โรสิตา” รวมถึงการเล่าถึงนักแสดงระดับตำนานอย่าง สุพรรณ บูรณะพิมพ์ ที่นับว่าเป็นราชินีแห่งการละครไทยยุคหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง

คุณบูรพา เป็นหนึ่งในคนที่มีประสบการณ์ความใกล้ชิดกับวงการละคร ในฐานะที่เป็นบุตรชายของท่านครูสง่า อารัมภีร ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง จึงมีโอกาสคลุกคลีกับงานด้านการแสดง โดยเฉพาะความสัมพันธ์กับหม่อมถนัดศรี หรือหม่อมราชวงศ์ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ เล่าว่า “อย่างคุณชายถนัดศรี ก็คุ้นเคยกับท่าน ตอนคุณชายถนัดศรีได้ศิลปินแห่งชาติ พี่ช้าง (ขรรค์ชัย บุนปาน) ก็จัดฉลองให้ที่อาคารมติชน”

บรรเลงรมย์ ความบันเทิง บูรพา อารัมภีร

คุณโฉมฉาย เสริมว่า “ชื่มชมอาหม่อม (คุณชายถนัดศรี) ท่านเป็นมากกว่าศิลปิน ร้องเพลงเก่ง ทำกับข้าวเก่ง มีเกร็ดความรู้ต่าง ๆ มากมายมาใส่ บางทีเราร้องเพลงกับท่านก็ได้ความรู้ขณะร้องเพลง เพราะท่านแทรกไว้ว่าความหมายมีนู้นนี่นั่น ซึ่งบางทีเราคาดไม่ถึง มันครอบจักรวาล…”

คุณบูรพา บอกว่าก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง ราว พ.ศ. 2474 วงการบันเทิงไทยมีการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ เพราะมีการก่อตั้งกองโฆษณาการ ช่วงนั้นเองเกิดผลงานเพลงของครูเพลงคนสำคัญอย่าง “ครูพลางกูร” และ “ขุนวิจิตรมาตรา” ซึ่งคุณโฉมฉาย ให้เกร็ดความรู้เพิ่มเติมว่า “บางทีท่าน (ผู้ฟัง) จะจำสับสน ‘ขุนวิจิตรมาตรา’ กับ ‘หลวงวิจิตรวาทการ’ เป็นคนละท่าน หลวงวิจิตรวาทการแต่ง ‘ต้นตระกูลไทย’ ” ทั้งเล่าเรื่องราวประทับใจระหว่างตัวคุณโฉมฉายเองกับของทายาทของขุนหลวงวิจิตรฯ ให้ฟังด้วย

ในด้านวงการเพลง คุณบูรพา บอกเล่าเกร็ดความรู้และบรรยากาศของวงการเพลงในยุคเก่าว่า เมื่อก่อนเพลงโฆษณาและเพลงภาพยนตร์เป็นเพลงเดียวกัน อาจเรียกได้ว่าเป็นการแสดงดนตรียุค “รถราง” เล่าเรื่องของ “ครูแก้ว” ผู้แต่งเพลง “คิดเอาไว้ในใจ” และร้องเพลงต่าง ๆ ของครูแก้วให้ฟัง เล่าถึงเพลงประกวดในยุคที่ประเทศไทยได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพเอเชียนเกมส์ เพลงจากวงของ “ครูนาค” รวมถึงบทบาทในการสร้างนักดนตรีของกองดุริยางค์ทหารอากาศ หนึ่งในหนั้นคือ สุรพล สมบัติเจริญ ทั้งบอกว่า ยุคเดียวกันนั้นสังคมไทยเกิดดาราเยอะมาก

สำหรับ ความบันเทิง ในยุคที่โทรทัศนน์เริ่มแพร่หลายในสังคมไทย คุณโฉมฉาย เล่าถึงประสบการณ์สมัยออกรายการของช่องสี่บางขุนพรหม ซึ่งคุณบูรพา บอกว่า “สมัยก่อนทีวีจะดูด้วยกัน บ้านใดจะมีบ้านนึงแล้วรอบ ๆ บ้านมานั่งดูด้วยกัน บ้านไหนมี (ทีวี) เรียกว่ามีตังค์…เมื่อก่อนไม่มีแบ่งเรื่องลูกกรุง-ลูกทุ่งด้วย มาแบ่งยุคช่องสี่” ทั้งนักแต่ง นักร้อง นักสร้างภาพยนตร์ นักประพันธ์ จะอยู่ด้วยกัน และเล่าถึง สุเทพ วงคำแหง ตำนานศิลปินนักร้องอีกคนของไทยว่ามีเสียงไพเราะในระดับที่ถูกให้ฉายาว่า “เสียงขยี้แตรในฟองเบียร์”

คุณโฉมฉาย ยังเล่าถึงชีวิตวงการบันเทิงในอดีต เรื่องของ “บันไดดารา” และความสัมพันธ์กับเพื่อน ๆ ที่ร่วมกันเดินทางสายประกวดมาด้วยกัน รวมทั้งแนวดนตรีที่หลายท่านอาจจะแยกไม่ออกคือเพลงผสมของกรมประชาสัมพันธ์ที่เรียกว่า “ดนตรีสังคีตสัมพันธ์” ซึ่งใช้ดนตรีทำนองไทยเดิมบรรเลงสัมพันธ์กันไป และ “ดนตรีสังคีตประยุกต์” ของครูสมาน กาญจนะผลิน

คุณบูรพา สรุปพัฒนาการและความเปลี่ยนแปลงของความบันเทิงไทยว่า “ความบรรเทิงแต่ละยุคต้องเกี่ยวเนื่องกับศิลปิน เกี่ยวเนื่องกับเพลง ละคร ภาพยนตร์ที่เกิดขึ้น” อย่างในอดีตมักมีค่านิยมนำดาราจีนมาเล่นภาพยนตร์ไทย ขณะเดียวกันคนไทยก็ไปเล่นในหนังจีน แต่ทุกวันนี้ค่านิยมดังกล่าวไม่ค่อยพบเห็นแล้ว

บรรเลงรมย์ ความบันเทิง โฉมฉาย อรุณฉาน

คุณโฉมฉาย ยังให้แนวคิดเกี่ยวกับนักร้องศิลปินสมัยใหม่ที่มีเทคโนโลยีช่วยมากมายว่าด้วยว่า “สมัยนี้ดี นักร้องไม่ต้องเหนื่อยมาก… แต่ข้อจำกัดคือการฝึกฝนเราจะไม่แกร่ง เพราะเราใช้เทคโนโลยีช่วย ถ้ากล้ามเนื้อเราไม่ได้ปรับใช้คำร้อง กล้ามเนื้อไม่จำ พอไม่จำ จะร้องอีกทีมันไม่ได้ ลืม…เพราะไม่ได้ทำซ้ำ ๆ บ่อย ๆ”

คุณบูรพา ส่งท้ายว่า “ยุคนี้เทคโนโลยีช่วยเยอะ นักร้องบางคนขึ้นคอนเสิร์ตแทบจะใช้ลิปซิงค์ตัวเองแล้ว…”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์เมื่อ 24 มิถุนายน 2566