ผู้เขียน | วิภา จิรภาไพศาล |
---|---|
เผยแพร่ |
ทุกวันนี้เราคุ้นเคยกับคำว่า “ดารา” ที่หมายถึงผู้มีอาชีพในศิลปะการแสดง เช่น ดาราภาพยนตร์, ดาราดังจากค่าย (ช่อง)…, ดาราสาว ฯลฯ หากก่อนหน้านั้น ในวงการภาพยนตร์ไม่ได้เรียกนักแสดงว่า “ดารา”
ขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธุ์) เขียนอธิบายเรื่องนี้ไว้ใน “80 ปี ในชีวิตข้าพเจ้า” ซึ่งเป็นบันทึกชีวประวัติส่วนตัวของท่าน ตอนหนึ่งว่า
“ขึ้นปี พ.ศ. 2478 ศรีกรุง [ภาพยนตร์เสียงศรีกรุง] อันมีคุณมานิต วสุวัต คุณหลวงกลการเจนจิต (เภา วสุวัต) คุณกระเศียร วสุวัต และคุณกระแส วสุวัต เป็นผู้ริเริ่มกิจการก็เปิดศักราชภาพยนตร์พูดขึ้น โดยสร้างโรงภาพยนตร์พูดสมัยใหม่แบบฮอลีวู๊ดขึ้นที่ทุ่งบางกะปิ เป็นสถานที่บริเวณใหญ่โตกว้างขวาง…
ภายในโรงถ่ายสร้างฉากใหญ่ๆ ได้พร้อมกัน 5 ฉาก ชั้นล่างส่วนหนึ่งเป็นห้องประชุม มีเครื่องฉายหนังสำหรับฉายหนังทดลองและหนังธรรมดาอื่นๆ ได้ มีเปียโน มีห้องแต่งตัวอีกห้องหนึ่งพร้อมทั้งห้องน้ำ ชั้นบนส่วนหนึ่งเป็นห้องอัดเสียงลงฟิล์มกรุกระจกพร้อมด้วยเครื่องอุปกรณ์ต่างๆ มีห้องตั้งเครื่องอัดเสียงเพลงลงแม่พิมพ์ขี้ผึ้ง สำหรับทำแผ่นเสียง อัดเสียงร้องเพลงของผู้แสดงพร้อมกันไปได้ในเวลาถ่ายภาพเลยทีเดียว…”
นับเป็นโรงถ่ายภาพยนตร์แบบฮอลีวู๊ดสมัยใหม่ แห่งแรก และครั้งแรกของไทย
นอกจากศรีกรุงจะสร้างโรงถ่ายมาตรฐานอย่าง “ฮอลีวู๊ด” แบบเป๊ะๆ ตั้งแต่รูปแบบอาคาร, เครื่องมือและอุปกรณ์แล้ว ศรีกรุงยังนำ “ระเบียบการทำงาน” ทั้งทางทฤษฎีและปฏิบัติซึ่งมีตำราสั่งมาจากฮอลีวู๊ดด้วย
“ดารา” ในมาตรฐานของ “เสียงศรีกรุง” เป็นอย่างไร?
สำหรับส่วนที่เกี่ยวกับ “นักแสดง” นั้น มีหลักเกณฑ์การยกย่องให้เกียรติเป็นพิเศษ คือ จัดเป็นชั้นที่เรียกว่า “Star” หรือ “ดารา” โดยผู้ที่ได้รับเกียรตินี้มีสิทธิหลายอย่าง เช่น มีห้องแต่งตัวต่างหาก, มีสิทธิเลือกเรื่องที่บริษัทจะให้เล่น, มีสิทธิเลือกผู้กำกับได้, มีสิทธิเลือกผู้ถ่ายได้, มีสิทธิที่จะไปแสดงให้บริษัทอื่นที่ขอมาเป็นทางการ โดยมีข้อตกลงกันในแต่ละกรณี ฯลฯ
ถามว่านักแสดงที่ได้รับเกียรติเป็น “ดารา” หรือ “Star” ของศรีกรุงก็เช่น “มานี สุมนนัฏ” นักแสดงหญิง ขณะที่นักแสดงชายก็มี “จำรัส สุวคนธ์” ซึ่งนอกจากฝีมือการแสดงแล้ว ทั้งสองยังมีความสามารถในการร้องเพลง ด้วยน้ำเสียง และมีลีลาที่ดี เรียกว่าจะเป็นดารา หรือ Star นั้นต้องมีความสามารถรอบตัวทีเดียว
Star หรือ ดารา ที่ศรีกรุงใช้ จึงไม่ใช่นักแสดงทั่วไป ที่พอเข้ามาเล่นหนังก็จะเป็นกันได้ทุกคน
อ่านเพิ่มเติม :
หมายเหตุ : บทความนี้เขียนเก็บความจาก ขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธุ์) 80 ปีในชีวิตข้าพเจ้า. อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ ขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธุ์) ณ เมรุวัดกษัตริยาราม วันพฤหัสบดีที่ 9 ตุลาคม 2523.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 1 มีนาคม 2566