ผู้เขียน | สมปอง ดวงไสว |
---|---|
เผยแพร่ |
มิตร ชัยบัญชา ใครๆ ก็รู้จัก และรู้จักยิ่งด้วยว่า มิตร ชัยบัญชา หรือ พิเชษฐ์ พุ่มเหม เป็นคนจังหวัดเพชรบุรี มาอยู่กับแม่ที่นางเลิ้ง เป็นทหารอากาศที่ดอนเมือง แล้วจะเกี่ยวข้องกับบางลำพูตอนไหน เช่นเดียวกัน รังสรรค์ ตันติวงศ์ น้อยคนนักจะจำได้ว่า ท่านผู้นี้ปั้นมิตร ชัยบัญชา เป็นคนลพบุรี ตอนสร้างหนังชาติเสือก็ยังอยู่ลพบุรี ปัจจุบันอยู่ตลาดพลู แล้วจะเกี่ยวข้องบางลำพู ตรงไหน
รังสรรค์ ตันติวงศ์ กับมิตร ชัยบัญชา สองคนพบกันครั้งแรกที่ใด เรื่องมันผ่านมานานถึง 65 ปีมาแล้ว
มิตร ชัยบัญชา
มิตร ชัยบัญชา เกิดที่หมู่บ้านไสค้าน อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี เมื่อวันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2477 เป็นลูกชายของตำรวจชั้นประทวน ชื่อ ชม ระวีแสง กับแม่นางยี หรือสงวน ระวีแสง จากเพชรบุรีเข้ามาอยู่กรุงเทพกับแม่ที่นางเลิ้ง เยื้องๆ กับวัดแค เรียนหนังสือที่โรงเรียนไทยประสาทวิทยา จบชั้นมัธยมแล้วจึงเข้าเรียนต่อที่โรงเรียนจ่าอากาศ ดอนเมือง จบแล้ว ได้เป็นครูฝึกที่กรมอากาศโยธินเปลี่ยนชื่อเป็น พิเชษฐ์ พุ่มเหม
มิตร ชัยบัญชาเข้าสู่วงการบันเทิง ในปลาย พ.ศ. 2499 โดยมีผู้แนะนำให้ไปพบกับ ก. แก้วประเสริฐ ต่อมา ก. แก้วประเสริฐ ได้พาไปพบกับ สุรัฐ พุกกะเวส จากนั้นสุรัฐก็พาไปพบกับ ประทีป โกมลภิส และผู้สร้างหนัง “ชาติเสือ” คือ รังสรรค์ ตันติวงศ์
มีเรื่องเล่าว่า ชื่อในการแสดงของมิตรนั้น ประทีป ผู้เขียนบทและผู้กำกับเป็นผู้ตั้งชื่อให้ มาจากความที่มิตรมีเพื่อนมาก รักเพื่อน เมื่อเป็นทหารอากาศก็ภูมิใจในเครื่องแบบ และผู้บังคับบัญชามอบหมายให้เป็นผู้เชิญธงชัยเฉลิมพลของหน่วย ประทีปคิดชื่อให้ดาราหน้าใหม่ มิตร ชัยบัญชา จึงโลดแล่นบนแผ่นฟิล์มแต่นั้นมา
มิตร ชัยบัญชามีเวลาในการแสดงหนัง 13 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2500-2513 แต่ผลงานของเขามีมากกว่า 300 เรื่อง และเป็นหนัง 16 ม.ม. ถึง 266 เรื่อง
มิตร ชัยบัญชาชอบบทของ โรม ฤทธิไกร ในอินทรีแดง ได้แสดงอยู่ห้าภาค จวบจนภาคที่หกสุดท้ายที่แสดง อินทรีทอง และจากไปขณะการถ่ายทำโหนตัวจากบันไดเฮลิปคอปเตอร์ ได้ร่วงลงที่หาดดงตาล พัทยาใต้ จังหวัดชลบุรี เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2513 ขณะมีอายุได้เพียง 36ปี
นักสู้ สู่ นักสร้าง “รังสรรค์ ตันติวงศ์”
นักสู้ นักสร้าง คือ รังสรรค์ ตันติวงศ์ หนึ่งในตำนานหนังไทยและวงการถ่ายภาพของประเทศไทย เป็นชาวลพบุรี เกิดเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2465
นักสู้ คือได้สู้ดำเนินธุรกิจของครอบครัวและชีวิตของตนจนประสบความสำเร็จ นักสร้าง เป็นผู้อำนวยการสร้างหนังไทย ทัศไนยภาพยนตร์ ได้สร้างดาราหน้าใหม่ให้เกิดขึ้นประดับวงการ
ใน พ.ศ. 2500 ดาราดังของยุค คือ ลือชัย นฤนาท และ อมรา อัศวนนท์ รังสรรค์คิดว่า ดาราดังยากที่คิวจะว่างและค่าตัวสูง จึงไม่เหมาะกับผู้อำนวยการสร้างหน้าใหม่ คิดว่าสร้างดาราหน้าใหม่ดีกว่า
“ชาติเสือ”
พ.ศ. 2501 ทัศไนยภาพยนตร์สร้าง “ชาติเสือ นิยายบู๊ ของ อรวรรณ ได้นำพา มิตร ชัยบัญชา มาสู่โลกภาพยนตร์ไทยเป็นครั้งแรก จากใบปิดโปสเตอร์หนังชาติเสือ ระบุว่า “มิตร ชัยบัญชา แสดงคู่กับหกนางเอกขวัญใจของคุณ มี เรวดี ศรีวิไล ประภาศรี สาทรกิจ น้ำเงิน บุญหนัก นัยนา ถนอมทรัพย์ อุษณีอิศรานันท์ และนพมาศ สิริโสภณ ประชันบทบาทกับมิตร ชัยบัญชา” ต้องเอาหกนางเอกมาจูงใจให้คนดูมากกว่าพระเอก
ทัศไนยภาพยนตร์ รังสรรค์ ตันติวงศ์ อำนวยการสร้าง ประทีป โกมลภิส สร้างบท กำกับการแสดง ประมวญ จรัสตระกูล ถ่ายภาพ ฟิล์มหนัง ชาติเสือ ทั้งเรื่องไม่มีเหลือ เหลือเพียงไตเติ้ล ชาติเสือเท่านั้น หาดูได้จากยูทูบที่ “ลุงมนัส ตามรอยหนังไทยจากฟิล์มภาพยนตร์” เสนอไว้ หนังไม่อยู่แต่เพลงชาติเสือยังอยู่
เพลงชาติเสือ
เพลงชาติเสือ เสนีย์ อุษณีย์สาณฑ์ ขับร้อง
“ชาติเสือเชื้อชาตรี ชีพพลีบนหน้าที่เมื่อใครรังแก ชาติชายตายดีกว่าแพ้ ฝีมือใครแน่ สู้กันแค่ตาย
ชาติเสือยืนจังก้า ประจัญหน้า คนเหมือนกัน สำคัญที่ใจ ราชสีห์จะแน่แค่ไหน รี่เข้าใส่ ไม่คร้ามทรชน
เมื่อชีวิตยังอยู่ สิบนิ้วจะสู้เพื่อกู้ศักดิ์ตน เสือเมื่อเสียรู้คน เจ็บแล้วไม่บ่น ทนเลียแผลตัวเอง
ชาติเสือ ต้องไว้ลาย ชาติชายต้องไว้ชื่อ ให้ลือระเบ็ง สู้ตายเมื่อถูกข่มเหง มิเกรงศัตรูทิศใด
ไว้ชื่อ ชาติเสือ เชื้อชาย ไว้ชื่อ ชาติเสือ เชื้อชาย” (จากเพลงดังหนังมิตร)
มีคำโปรยจากใบปิดหนังชาติเสือว่า “ภาพยนตร์บู๊ดุเดือดจากนิยายของ อรวรรณ หรือ เลียว ศรีเสวก ผู้ปั้น ไวย ศักดา ให้เป็นชายชาตรี อกสามศอก ที่ต่อสู้อย่างยิบตา เมื่อรู้ว่า ลาดยาวเต็มไปด้วยอิทธิพลเถื่อนเสียแล้ว”
“ชาติเสือ” ภาพยนตร์ 16 มม. ออกฉายเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2501 ที่ เฉลิมกรุง เฉลิมบุรี พร้อมกัน เฉลิมกรุงพากย์สดโดย มล.รุจิรา มารศรี และปรีชา บุณยเกียรติ ส่วนเฉลิมบุรี สมพงษ์ วงษ์รักไทย พิมพ์พร และทัศนัย ร่วมกันพากย์ “ชาติเสือ” ทำรายได้ดี ทำให้ทัศไนยภาพยนตร์มีแรงทำเรื่องที่ 2 ต่อ คือ “จ้าวนักเลง”
“จ้าวนักเลง”
พ.ศ. 2502 สร้าง จ้าวนักเลง หนังสี 16 มม. จากบทประพันธ์ของ เศก ดุสิต มิตร ชัยบัญชาคู่กับอมรา อัศวนนท์ เรวดี ศรีวิไล ใบปิด โปรยว่า “อินทรีแดง ปรากฏกายอย่างสง่า ด้วยความแกร่งกล้า ที่เหนือกว่า พร้อมให้คุณพิศูจน์ ในความดีและเรียบร้อยทุกด้าน” และใบปิดในอีกด้าน “ทัศไนยภาพยนตร์ขอฝากผลงานให้คุณพิศูจน์ด้วยความเชื่อมั่นอีกครั้ง ด้วยความหวังว่า คุณจะศรัทธาเรายิ่งขึ้น โดยการนำ มิตร ชัยบัญชา อมรา อัศวนนท์ เรวดี ศรีวิไล ทัศไนยภาพยนตร์ ไม่มีการโฆษณาใดใด จะยิ่งใหญ่ไปกว่า ให้คุณพิศูจน์ผลงานของเราที่กล้าประกันว่า ไม่สุกเอาเผากิน”
สาเหตุที่สร้าง จ้าวนักเลง เพราะมิตร ชัยบัญชา ได้ไปอ่าน นิยาย จ้าวนักเลง ที่บ้านของรังสรรค์ ตันติวงศ์ แล้วชอบ โรม ฤทธิไกร ถึงกับบอกว่า ชอบอยากแสดงเป็นอินทรีแดง รังสรรค์ ตันติวงศ์ จึงไปหา เศก ดุสิต เพื่อขอซื้อบทประพันธ์มาทำหนัง เมื่อเศก ดุสิตพบมิตร ชัยบัญชา ดารานำ ถึงกับบอกว่า คุณคือ อินทรีแดงของผม ในที่สุดตัดสินใจสร้างจ้าวนักเลง ผู้ร่วมงานเรื่องนี้ ประกอบด้วย รังสรรค์ ตันติวงศ์ อำนวยการสร้าง ประทีป โกมลภิส สร้างบทและกำกับ และถ่ายภาพโดย ไพรัช สังวริบุตร
ดาราแสดง ต่างจาก ชาติเสือไปบ้าง มีปัญจะ ศุทธิรินทร์ เชาว์ แคล่วคล่อง ศิรินทิพย์ ศิริวรรณ ฯลฯ ออกฉายพร้อมกันทั้ง เฉลิมกรุง และ เฉลิมบุรี เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2502
“แสงสูรย์”
ใน พ.ศ. 2503 รังสรรค์ ตันติวงศ์ สร้าง แสงสูรย์ จากใบปิด “แสงสูรย์ บทประพันธ์ ของ จินตะหรา ผลงานอันเยี่ยมยอดที่สุด ประจำปี 2503 ดารานำแสดง มิตร ชัยบัญชา อมรา อัศวนนท์ และขอแนะนำ ภาวนา ชนะจิต” ซึ่งเป็นนางเอกใหม่ ทีมงานสร้างแสงสูรย์ รังสรรค์ ตันติวงศ์ อำนวยการสร้าง ประทีป โกมลภิส สร้างบท และกำกับ ถ่ายภาพ โดย ไพรัช สังวริบุตร ดารานำคือมิตร ชัยบัญชา อมรา อัศวนนท์ ภาวนา ชนะจิต เข้าฉายที่ เฉลิมบุรี เมื่อ 22 กรกฎาคม 2503 ประวัติศาสตร์บันทึกใบปิดแสงสูรย์ วาดโดย เปี๊ยก โป๊สเตอร์
แสงสูรย์ ภาวนา ชนะจิตได้ ตุ๊กตาทอง ดาราประกอบหญิง และไพรัช สังวริบุตร ตุ๊กตาทอง การถ่ายภาพ
รังสรรค์ ตันติวงศ์ สร้าง แสงสูรย์ เป็นเรื่องสุดท้าย แล้วก็ไม่ได้สร้างหนังอีกเลย
รังสรรค์ ตันติวงศ์ ได้ทำธุรกิจร้านอาหาร พร้อมกับเข้าสู่วงการถ่ายภาพ จนได้เป็นนายกสมาคมถ่ายภาพสยามคัลเลอร์สไลด์ (2529-2538) เป็นนายกสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ (2538-2543) เป็นประธานสมาพันธ์สมาคมการถ่ายภาพแห่งประเทศไทยคนแรก (2544)
มิตรกับรังสรรค์ พบกันที่ไหน?
ปัญหาค้างคาใจมาตลอด ผู้อำนวยการสร้าง รังสรรค์ ตันติวงศ์ พบมิตร ชัยบัญชา ครั้งแรกที่ไหน จนกระทั่งวันที่ 3 ธันวาคม 2563 มีโอกาสไปบ้าน รังสรรค์ ตันติวงศ์ เพื่อนร่วมทีมมีประทีป สุวรรณวงษ์ สงคราม โพธิ์วิไล สามคนสนทนา ตอนหนึ่งได้คุยกันถึงเรื่องมิตร ชัยบัญชาด้วย รังสรรค์ บอกว่า “ผมไม่น่าจะพามิตร เข้ามาแสดงหนังเลย เพราะทำให้ชีวิตของเขาสั้น ต้องจากไปตั้งแต่อายุยังน้อย น่าเสียดาย ถ้าเขาไม่มาเป็นดาราก็จะยังไม่ตาย”
ถึงตอนนี้มีโอกาสถามคำถามที่ค้างใจมานานแล้ว ตอนนั้นได้พบมิตร ชัยบัญชาครั้งแรกที่ไหนครับ ผมถาม
“ตอนจะสร้างหนังชาติเสือ ผมยังอยู่ลพบุรี มากรุงเทพทีไรก็ต้องมาพักโรงแรม ผมพบกับมิตรที่โรงแรม พอเห็นรูปร่างดี หน้าตาหล่อ สมเป็นพระเอกก็รับ รุ่งขึ้นก็ไปถ่ายหนังชาติเสือที่โคกสำโรงกันเลย”
โรงแรมที่พัก ชื่ออะไรอยู่ที่ไหนครับ “ตอนนั้นใจกลางพระนครมีโรงแรมดังอยู่2โรง คือ รอยัลรัตนโกสินทร์ กับ เวียงใต้ ครูคิดว่าที่ไหนล่ะ” นั่นซิครับ ที่ไหนครับ ผมลุ้นอยู่ในใจ (โรงแรมรัตนโกสินทร์ สร้างในสมัยจอมพลป.พิบูลสงคราม เปิดใช้ 24 มิถุนายน 2486 ส่วนโรงแรมเวียงใต้ เป็นของคุณอุดมกับเนติบัณฑิตสตรีคนแรกของไทย คุณหญิงแร่มพรหมโมบล บุณยประสพ เปิดในปี พ.ศ. 2496)
“รัตนโกสินทร์หรือรอยัล เป็นโรงแรมหรู เราคนต่างจังหวัดต้องประหยัด เวียงใต้ เพิ่งเปิดใหม่ พักสบาย จึงไปพักโรงแรมเวียงใต้ บางลำพูซิครู”
อ่านเพิ่มเติม:
- 8 ตุลาคม 2513 : มิตร ชัยบัญชา พระเอกขวัญใจมหาชน อำลาโลก
- ศาลาเฉลิมกรุง โรงภาพยนตร์สมัยใหม่แห่งแรกของไทย ฉายหนัง “มิตร ชัยบัญชา” คนแห่ดูแน่นโรง
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 16 พฤศจิกายน 2565