8 ตุลาคม 2513 : มิตร ชัยบัญชา พระเอกขวัญใจมหาชน อำลาโลก

มิตร ชัยบัญชา พระเอกมหาชนตลอดกาล

8 ตุลาคม พ.ศ. 2513 มิตร ชัยบัญชา พระเอกขวัญใจมหาชน อำลาโลก ท่ามกลางความเสียใจของคนไทยทั้งประเทศ

มิตร ชัยบัญชา (28 มกราคม 2477 – 8 ตุลาคม 2513) เกิดที่อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี มีชื่อจริง “บุญทิ้ง ระวีแสง” ภายหลังเปลี่ยนเป็น “พิเชษฐ์ พุ่มเหม” มิตรอยากเป็นนักบินจึงเข้าเรียนที่โรงเรียนจ่าอากาศโคราช ภายหลังได้รับราชการเป็นครูฝึกที่กองพันต่อสู้อากาศยาน กรมอากาศโยธิน กองทัพอากาศดอนเมือง

ด้วยรูปร่างหน้าตา และบุคลิกภาพที่ดีของมิตร จึงมีผู้ชักชวนเข้าวงการภาพยนตร์ แต่ก็ยังไม่มีผลงาน จนได้พบกับทีมงานผู้สร้างภาพยนตร์เรื่อง “ชาติเสือ” (พ.ศ. 2501) ที่กำหนดตัวพระเอกไว้แล้วเป็น ชนะ ศรีอุบล แต่ประทีป โกมลภิส ซึ่งเป็นผู้กำกับต้องการดาราหน้าใหม่ เมื่อได้พบกับเขา ทั้งผู้สร้าง, ผู้กำกับ ต่างพอใจ และสรุปให้เขาเป็นพระเอก

มิตร ชัยบัญชา
มิตร ชัยบัญชา (ภาพจาก www.thaifilm.com)

ชื่อ “มิตร ชัยบัญชา” ประทีป โกมลภิส ตั้งให้ใช้ในวงการแสดง ให้จากการตอบคำถามของมิตรที่เขาถามว่า

ข้อ 1. ในชีวิตสิ่งใดสำคัญที่สุด? มิตรตอบว่า “เพื่อนครับ” ประทีปบอกว่า “เพื่อน คือ มิตร เมื่อรักเพื่อนก็เก็บเพื่อนไว้กับตัว งั้นดีให้ใช้ชื่อใหม่ว่า ‘มิตร’ ก็แล้วกัน”

ข้อ 2 ในชีวิตเกิดมาภูมิใจสิ่งใดมากที่สุด? มิตรซึ่งเป็นจ่าทหารอากาศตอบว่า “ได้อัญเชิญธงชัยเฉลิมพลในพิธีสวนสนามวันปิยมหาราชครับ” ประทีปก็ใช้คำว่า “ชัยบัญชา” มาเป็นนามสกุล (มิตรชอบนามสกุล “ชัยบัญชา” นี้มาก ภายหลังได้ขอจดทะเบียนตั้งเป็นนามสกุลจริงของตนเอง)

จากบทบาทการแสดงที่ประชาชนชื่นชอบ, วินัยในการทำงาน, ความมีอัธยาศัยและน้ำใจที่มีต่อเพื่อนร่วมงาน เขาจึงมีชื่อเสียงโด่งขึ้นเรื่อยๆ

พ.ศ. 2505 เขาได้แสดงร่วมกับ เพชรา เชาวราษฎร์ นางเอกหน้าใหม่เป็นครั้งแรกในเรื่อง “บันทึกรักของพิมพ์ฉวี” ซึ่งเป็นที่ชื่นชอบของประชาชน นับจากนั้นผู้สร้างภาพยนตร์ต่างให้ทั้งสองแสดงคู่กัน กลายเป็นตำนานคู่ขวัญของวงการภาพยนตร์ไทย “มิตร ชัยบัญชา-เพชรา เชาวราษฎร์” มีภาพยนตร์ประมาณ 170 เรื่อง ที่ทั้งสองเป็นพระ-นางคู่กัน

มิตร ชัยบัญชา กับ เพชรา เชาวราษฎร์
มิตร-เพชรา คู่ขวัญในตำนาน (ภาพจาก www.wikipedia.org)

เขาเริ่มลงทุนในธุรกิจภาพยนตร์ในปี 2506 ก่อตั้ง “ชัยบัญชาภาพยนตร์” สำหรับสร้างภาพยนตร์ ต่อมาในปี 2510 หลังจากประสบความสำเร็จอย่างสูงแล้ว มีชื่อเสียงและหลักฐานมั่นคง จึงคิดช่วยให้เพื่อนๆ ตั้งตัวได้ โดยตั้ง “สหชัยภาพยนตร์” ขึ้น ให้เพื่อนสลับกันเป็นผู้อำนวยการสร้าง มีมิตรเป็นพระเอกให้โดยไม่คิดค่าตัว หากมีปัญหาเรื่องเงินทุนก็จะให้ความช่วยเหลือ หรือร่วมทุนสร้างด้วย

พ.ศ. 2513 มิตร ชัยบัญชารวบรวมทรัพย์ทั้งที่ดิน, บ้าน ไปขายและจำนองธนาคาร รวบรวมเงินลงทุนซื้อที่ดินบริเวณเชิงสะพานผ่านฟ้า เนื้อที่ 514 ตารางวา ราคา 7 ล้าน เพื่อสร้างโรงภาพยนตร์มาตรฐาน มีทั้งร้านค้า และที่จอดรถ สำหรับฉายหนังไทยโดยเฉพาะ เพราะมิตรหวังช่วยเหลือผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ไทยจะได้ไม่ต้องรอโปรแกรมฉายต่อจากภาพยนตร์ต่างประเทศ

ในปีเดียวกันนั้นมิตรรับงานแสดงภาพยนตร์ไว้ประมาณ 50 เรื่อง และมีภาพยนตร์จีนกำลังภายในที่ฮ่องกง ที่รับไว้ตั้งแต่ปีก่อน เรื่อง “อัศวินดาบกายสิทธิ์” และเรื่อง “จอมดาบพิชัยยุทธ”

แต่แล้ววันหนึ่ง พระเอกขวัญใจมหาชนก็อำลาโลก!

โปสเตอร์ “อินทรีทอง” ภาพยนตร์เรื่องสุดท้ายของมิตร (www.wikipedia.org)

วันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2513 เขาประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตขณะถ่ายทำฉากโหนบันไดเชือกเฮลิคอปเตอร์ ในภาพยนตร์เรื่องอินทรีทอง” ท่ามกลางความอาลัยของมหาชน

ศพของดาราดังตั้งบำเพ็ญกุศลที่วัดแคนางเลิ้ง หลังจากครบ 100 วัน ส่วนพิธีพระราชทานเพลิงศพจัดเมื่อ 21 มกราคม พ.ศ. 2514 มีประชาชนหลั่งไหลไปร่วมงานกว่า 3 แสนคน จนกระทั่ง ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช กล่าวว่าเป็นงานศพของสามัญชนที่มีผู้ไปร่วมงานมากที่สุดในประวัติศาสตร์

จากเรื่อง “ชาติเสือ” ในปี 2501-13 เขาสร้างผลงานกว่า 200 เรื่อง หลายเรื่องประสบความสำเร็จอย่างมาก เช่น “เงิน เงิน เงิน” (พ.ศ. 2508) รับพระราชทานรางวัล “โล่ห์เกียรตินิยม” นักแสดงนำชาย ที่ทำรายได้สูงสุด, “มนต์รักลูกทุ่ง” ( พ.ศ. 2513) ทำรายได้มากกว่า 6 ล้านบาท และยืนโรงได้นานกว่า 6 เดือนในกรุงเทพฯ ทำรายได้ทั่วประเทศกว่า 13 ล้านบาท  ฯลฯ

มนต์รักลูกทุ่ง-หนึ่งในภาพยนตร์เรื่องดัง (ภาพจาก (www.wikipedia.org)

กรุง ศรีวิไล ถึงกับเคยกล่าวไว้ว่า

“ถ้าไม่มีวันนั้นเกิดขึ้น วันที่ 8 ตุลา พ.ศ. 2513 (วันที่มิตรเสียชีวิต) ก็จะไม่มี กรุง ศรีวิไล ไม่มี ไพโรจน์ ใจสิงห์ ไม่มี สรพงษ์ ชาตรี ไม่มี ยอดชาย เมฆสุวรรณ ไม่มี รพินทร์ ไพรวัลย์ ไม่มี ขวัญชัย สุริยา ไม่มี นาท ภูวนัย”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 8 ตุลาคม 2561