“นริศ จรัสจรรยาวงศ์” จัดเต็มไม่มีกั๊ก! นำชมของรักของหวงสุดหายาก ยุค 2475

นริศ จรัสจรรยาวงศ์

“นริศ จรัสจรรยาวงศ์” จัดเต็มไม่มีกั๊ก! นำชมของรักของหวงสุดหายาก ยุค 2475

“ศิลปวัฒนธรรม” นำทัพจับมือ สำนักพิมพ์มติชน, MIC และเส้นทางเศรษฐี จัดงาน สโมสรศิลปวัฒนธรรม สเปเชียล “๒๔ มิถุนาฯ วันมหาศรีสวัสดิ์” ที่มติชนอคาเดมี ขนกิจกรรมสุดน่าสนใจมาไว้ในงาน ทั้งเวทีทอล์ก เปิดกรุของหายาก เทศกาลหนังสือการเมือง วอล์กกิ้งทริป และปาร์ตี้ย้อนยุค

Advertisement

วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2566 ช่วงบ่ายคล้อยในกิจกรรมสโมสรศิลปวัฒนธรรม สเปเชียล “๒๔ มิถุนาฯ วันมหาศรีสวัสดิ์” คุณนริศ จรัสจรรยาวงศ์ นักวิชาการอิสระ และนักสะสมของเก่ายุค 2475 ตัวยง พานำชม “อันซีน” ของสะสมหาชมยากยุคคณะราษฎร นิทรรศการของเก่าที่เหล่านักวิชาการหลายท่านนำของสะสมมีค่ามาจัดแสดงไว้มากมาย 

คุณนริศเริ่มต้นนำชมของเก่า โดยไล่เรียงประวัติศาสตร์ไทยตั้งแต่ กบฏ ร.ศ.130, การปฏิวัติ 2475, กบฏบวรเดช, งานฉลองรัฐธรรมนูญ, งานวันชาติ, การรัฐประหาร 2490, กบฏวังหลวง 2492 และเหตุการณ์กบฏแมนฮัตตัน 2494 

หลังจากนั้นคุณนริศก็ได้นำชม ประติมากรรมหลวงพิบูลสงคราม วัย 41 ปี สมัยวัยเยาว์, เหรียญตราต่าง ๆ ในยุคคณะราษฎร และโปสเตอร์การเลือกตั้งโดยตรงครั้งแรกปี 2480

พร้อมทั้งนำเสนอหนังสือที่ระลึก การสร้างอนุสาวรีย์ของ 3 ผู้นำคณะราษฎร คือ พระยาพหลหยุหเสนา ผู้รวมศูนย์จิตใจของคณะราษฎร, จอมพล ป. พิบูลสงคราม พละกำลังของคณะราษฎร และปรีดี พนมยงค์ มันสมองของคณะราษฎร 

รวมถึงเน้นย้ำถึงจุดเปลี่ยนสำคัญของคณะราษฎร จากหนังสืออนุสรณ์งานศพของพระยาพหลฯ การพบกันครั้งสุดท้ายระหว่างจอมพล ป. พิบูลสงคราม และปรีดี พนมยงค์

ของเก่าหมวดศาสนาก็น่าสนใจไม่น้อย เพราะมีทั้งคัมภีร์พระไตรปิฎกฉบับแปลภาษาไทยครั้งแรก ซึ่งใช้เวลาเแปลตั้งแต่ปี 2483 และเสร็จเมื่อปี 2500 คราว “25 พุทธศตวรรษ” และแสดงภาพครูบาศรีวิชัยกับตาลปัตรคณะราษฎรที่คุณนริศรักษาไว้อย่างดี 

ไหนจะพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ปี 2484 ซึ่งเป็นการนำกฎหมายทางโลกมาใช้กับคณะสงฆ์เพื่อแก้ไขความขัดแย้งระหว่างพุทธไทย 2 นิกาย และหนังสือที่ระลึกวัดประชาธิปไตย หรือวัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน ที่คณะราษฎรสร้างวัดให้พระสงฆ์ทั้งสองนิกายอยู่ร่วมกัน

อีกทั้งยังนำเสนอสื่อสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ ในยุคคณะราษฎร ทั้งหนังสือที่ระลึกการตั้งอนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสิน ที่นายทองอยู่ พุฒพัฒน์ ส.ส. คนแรกของธนบุรี เสนอให้สร้างขึ้น และหนังสือวันแม่ที่เกิดขึ้นครั้งแรกในสมัยจอมพล ป. เพราะการสร้างพลเมืองที่แข็งแรงต้องมาจากแม่ที่แข็งแรง

นอกจากนำชมของสะสมของตนเองแล้ว นริศ จรัสจรรยาวงศ์ ยังพาชมของสะสมอื่น ๆ ในนิทรรศการอีกด้วย ทั้งตำราอาหารและโภชชนการ, แบบแปลนวงเวียนสระแก้ว ลพบุรี (อนสาวรีย์รัฐบุรุษ) และรูปภาพของจรูญ สิงหเสนี สมาชิกคณะราษฎรที่มีอายุยืนยาวมาถึงปี 2531

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 24 มิถุนายน 2566