พาชม โปสเตอร์หาเสียงจากการเลือกตั้งครั้งแรก พ.ศ. 2480

โปสเตอร์หาเสียง

พาชม “โปสเตอร์หาเสียง” จากการเลือกตั้งครั้งแรก พ.ศ. 2480

ในสโมสรศิลปวัฒนธรรม สเปเชียล “๒๔ มิถุนาฯ วันมหาศรีสวัสดิ์” วันที่ 24 มิถุนายน 2566 ช่วง 15.30 น. นริศ จรัสจรรยาวงศ์ นำชม “อันซีน” ของสะสมหาชมยากยุคคณะราษฎร โดยของชิ้นหนึ่งที่นริศภูมิใจอย่างยิ่งที่ยกมานำเสนอคือ “โปสเตอร์หาเสียงเลือกตั้งโดยตรงครั้งแรก” ปี 2480 ของ นายกิมเส็ง สินธุเสก ส.ส.จังหวัดราชบุรี ภายใต้สโลแกน “สมัครใหม่ เพื่อให้งานเก่าที่คั่งค้างสำเร็จ และงานใหม่ก้าวหน้าต่อไป”

เดิมการเลือกตั้งครั้งแรกของประเทศไทยเกิดขึ้นในวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2476 โดยมีการเลือกส.ส. เข้าสภาในการเลือกตั้งครั้งนี้ 78 คน จาก 156 ที่นั่ง ส่วนที่เหลือเป็น ส.ส. แบบแต่งตั้ง โดยในการเลือกตั้งครั้งนั้นเป็นการเลือกแบบมีผู้แทน กล่าวคือ ประชาชนเลือกผู้แทนตำบล แล้วผู้แทนตำบลจะไปเลือกส.ส. อีกทีหนึ่ง

ขณะที่การเลือกตั้งแบบไม่มีผู้แทนตำบล เป็นการเลือกตั้งทางตรงครั้งแรก ที่ประชาชนเลือก ส.ส.ได้ด้วยตัวเอง เกิดขึ้นในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2480 มีการเลือก ส.ส.รวมทั้งหมด 91 คน ที่เหลือเป็น ส.ส.แบบแต่งตั้ง หลังเลือกตั้งเสร็จสิ้น สยามจึงได้นายกคนใหม่ คือ พระยาพหลพลพยุหาเสนา

โปสเตอร์หาเสียง ออกแบบอย่างเรียบง่ายโดยวางหน้าผู้สมัครไว้ตรงกลาง ส่วนบนเป็นคำกลอน แถบคาดข้างล่างรูปในหน้าคือสโลแกน ใช้ภาพประกอบเพิ่มเติมเป็นวาดแนวทิวทัศน์ สภาพความเป็นอยู่ของชาวสยาม ขณะที่ส่วนข้างล่างจะเป็นวิธีการเลือกตั้ง ซึ่งอธิบายไว้อย่างละเอียด สะท้อนให้เห็นว่า การเลือกตั้งในช่วงเวลานั้นยังถือเป็นเรื่องใหม่สำหรับราษฎรอยู่ จุดที่น่าสนใจจุดหนึ่งอยู่ที่ขั้นตอนการเลือกตั้ง ซึ่งผู้ลงคะแนนต้องชูกระดาษของตนให้ดูว่าเลือกใครไป ซึ่งถือเป็นเรื่องที่แปลกประหลาดอย่างมากหากมองด้วยสายตาของคนปัจจุบัน

นอกจากนี้ จุดที่น่าสนใจอีกข้อคือส่วนที่เขียนเกี่ยวกับวันที่เลือกตั้ง ภายในโปสเตอร์เขียนว่า “เดือน ๑๒ ขึ้น ๔ ค่ำ ปีฉลู” เพราะเหตุใดในโปสเตอร์เลือกตั้งจึงใช้วันที่แบบจันทรคติ ในส่วนนี้นริศได้ระบุว่า “ไม่มีเหตุผลพิเศษ ยากแก่การคาดเดา” ทำให้คาดได้ว่า การใช้วันที่แบบจันทรคติอาจจะเป็นเทคนิคบางประการที่ผู้ลงสมัครต้องการจะใช้เอง

สำหรับราคาของโปสเตอร์ชิ้นนี้ เมื่อสอบถามแล้ว นริศได้ให้คำตอบว่า “เจอคำถามนี้บ่อยครับ หลายพันนะครับ” ถือได้ว่าเป็นของสะสมอันทรงคุณค่าที่มีราคาสูงพอประมาณเลยทีเดียว

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 24 มิถุนายน 2566