พลิกปม “เกาะ” ในคลองมหานาค หน้าวัดสระเกศ กว่าร้อยปีก่อน แต่ปัจจุบันไม่มีแล้ว?

ภาพจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ รหัส ภ. 002 หวญ 39-20 อยู่ในชุดภาพถ่ายจากภูเขาทอง วัดสระเกศ ไม่มีรายละเอียด และไม่ทราบชื่อช่างภาพ

แลเห็นคลองสายหนึ่งไม่กว้างไม่ใหญ่นัก กลางคลองด้านขวามีเกาะเล็กๆ เกาะหนึ่ง บนเกาะมีต้นไม้ 3-4 ต้น กับศาลา 1-2 หลัง ด้านเหนือคลองมีโรงโถงเป็นบ้านเรือนหมู่หนึ่ง นอกนั้นเป็นต้นไม้โดยรอบ

ด้านใต้คลอง แลเห็นหลังคาศาลาทางมุมซ้ายล่างถัดไปทางขวาเป็นหมู่ไม้และพื้นที่ว่าง มีต้นไม้เล็กๆ ขึ้นบ้างเล็กน้อย ขวาสุดมีสระน้ำเล็กๆ สระหนึ่ง เข้าใจว่ามีทางน้ำเชื่อมต่อกับคลองใหญ่ได้

วัดสระเกศเป็นวัดโบราณ มีมาก่อนสมัย ร.1 ครั้นถึง พ.ศ. 2326 (บางแห่งว่า 2328) ร.1 ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ขุดคลองขึ้นใหม่อีกสองสาย คือ คลองรอบกรุงทางทิศตะวันตก ใช้เป็นแนวป้องกันเมืองกับคลองมหานาคทางทิศเหนือ แยกจากคลองรอบกรุงตรงป้อมมหากาฬ (เชิงสะพานผ่านฟ้าลีลาศในปัจจุบัน) พงศาวดารว่าให้เป็น “ที่สำหรับประชาชนชาวพระนครจะได้ลงเรือไปประชุมเล่นเพลงและสักการะในเทศกาลฤดูน้ำเหมือนอย่างครั้งกรุงศรีอยุธยาเก่า”

ผู้เขียนสนใจคลองมหานาคมานาน ทั้งยังมีข้อสงสัยอีกสองข้อว่า ปลายคลองมหานาคอยู่ที่ไหน กับเกาะต่างๆ ที่หนังสือเก่าว่าอยู่ในคลองมหานาค อยู่ตรงไหน หายไปเสียตั้งแต่ปีไหน

เฉพาะเรื่องปลายคลองมหานาคนั้น สรุปว่าน่าจะอยู่แถววัดพระยายัง ต่อกับคลองบางกะปิ

เรื่องคลองมหานาคเคยมีเกาะ ทราบจากหนังสือเล่มไหน? ขอให้ท่านไปหยิบหนังสือจดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวีมาดู ดูข้อ 188 กรมหลวงฯ ทรงกล่าวไว้ว่า ร.1 มี “พระโองการให้ขุดคลองรอบเกาะ ให้บ่ายเรือพระที่นั่งได้ เรียกว่าคลองมหานาค” จากนั้น ร.5 ทรงขยายความเพิ่มเติมอีกเล็กน้อย สรุปว่า เกาะเป็นอย่างไรไม่ทราบ ทรงสงสัยว่าจะเป็นอย่างชั้นหลัง

“คือมีเกาะในระหว่างโรงเรือกับวัดด้านหนึ่ง เกาะด้านตะวันออกที่เรียกว่าเกาะยายชีด้านหนึ่ง…”

นี่แสดงว่าในคลองมหานาคเคยมีเกาะอยู่ 2-3 เกาะซึ่งออกจะเป็นเรื่องน่าทึ่งอยู่

โรงโถงที่เห็นในภาพนี้ก็ไม่ใช่อะไรที่ไหน หากคือโรงเรือหรืออู่เรือของหลวงนั่นเอง

ต่อไปสงสัยว่าเกาะในภาพ อยู่ต้นคลองมหานาคแน่หรือ ต้องพิสูจน์อีก โชคดีที่นึกถึงภาพถ่ายจากภูเขาทองที่หันกล้องไปทางป้อมมหากาฬ หรือทางวัดปรินายกด้านทิศเหนือได้ ภาพนี้เคยเห็นนำมาตีพิมพ์กันบ่อยๆ เทียบแล้วพบว่าทางขวาของภาพมีโรงโถงหลังหนึ่งปลูกอยู่สามารถเอาภาพอื่นมาต่อได้ แสดงว่าเป็นโรงโถงหรือโรงเรือกลุ่มเดียวกันแน่นอน เป็นอันหมดข้อสงสัย

ต่อไปเอาสไลด์ภาพถ่ายเก่าปีภูเขาทองขึ้นไปหาตำแหน่งปัจจุบัน เพราะเกาะและโรงเรือหายไปหมดแล้ว ได้ขึ้นไปเมื่อวันจันทร์ที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2541 พบว่าตำแหน่งปัจจุบันของโรงเรือหลังหนึ่งอยู่เชิงสะพานมหาดไทยอุทิศ โรงเรือหลังต่อๆ ไปกลายเป็นตึกแถว

เกาะเล็กในภาพ อยู่ช่วงตรงข้ามตึกการบินไทย ส่วนเกาะยายชีซึ่งควรอยู่ถัดไปทางขวามืออีก ไม่ปรากฏในภาพถ่าย ถ้ายังอยู่ก็ควรอยู่แถวๆ สะพานนริศดำรัส

ต่อไปต้องหาคำตอบว่าเกาะหายไปตั้งแต่ปีไหน ผู้เขียนเคยได้หนังสือนิราศบรมบรรพตมาเล่มหนึ่ง แต่งโดยพระพินิจหัดถการ (ชื่น เข้าใจว่านามสกุล สาริกบุตร) พิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2467 หนังสือพูดถึงเกาะไว้หน่อยหนึ่งว่า

     “มีเกาะอยู่กลางน้ำถึงสามเกาะ

ดูก็เหมาะความสนุกเปนสุขขา

ยังมิได้จัดทำปรำปรา

เดี๋ยวนี้มาจัดระเบียบจึงเรียบดี”

นี่แปลว่าเกาะกลางคลองมหานาคเคยมีถึง 3 เกาะ และมีอยู่จนถึงสมัย ร.5-6 จึงค่อยๆ สูญหายไป โดยยังหาปีแน่นอนไม่ได้เหมือนเกาะหน้าวัดอรุณฯ

ส่วนโรงเรือนั้นต้องถูกรื้อก่อนสร้างสะพานมหาดไทยอุทิศแทน สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเสด็จไปเปิดสะพานมหาดไทยอุทิศเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2457 การรื้อโรงเรือก็ต้องมีก่อนหน้านั้น หรือบางทีจะรื้อตั้งแต่สมัย ร.5 ก็ได้

สุดท้ายจะหาอายุภาพ สรุปว่าถ่ายก่อน พ.ศ. 2433 ที่มีการสร้างคุกมหาไชย เท่ากับถ่ายเมื่อ 100 กว่าปีมาแล้ว

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 8 มีนาคม 2560