มี “มัมมี่เก่าๆ” มาขาย…

พ่อค้ามัมมีนั่งหลับ ภาพถ่ายโดย Félix Bonfils เมื่อปี 1875 (ภาพจาก Wikimedia Commons)

ทันทีที่ได้เห็นภาพนี้ ผู้เขียนก็นึกขึ้นเล่นๆ ว่านี่คงเป็นประโยคใช้เรียกลูกค้า ของพ่อค้าเร่ริมถนนในอียิปต์ ที่เอา “มัมมี่” หลายตัวมาขายแบกะดิน ราวกับเป็นข้าวของเครื่องใช้ปกติอย่างหนึ่ง ซึ่งหากมองจากมุมของคนยุคปัจจุบัน เราคงเห็นว่าภาพนี้เป็นเรื่องที่ไม่เหมาะไม่ควร เพราะคนยุคหลังตระหนักรู้และให้ความสำคัญของมัมมี่ ตอนนี้มันจึงได้กลายมาเป็นสมบัติล้ำค่าทั้งมูลค่าทางเศรษฐศาสตร์ และทางประวัติศาสตร์

ต่างจากคนสมัยก่อนที่มองต่างกันไป มัมมี่ไม่ได้มีค่าอะไรสำหรับพวกเขามากไปกว่าวัตถุชิ้นหนึ่งที่จะนำมาใช้หาประโยชน์ ซึ่งก็โทษพวกเขาไม่ได้เพราะขณะนั้นพวกเขายัง “ไม่รู้” และไม่เห็นความสำคัญของมัน ด้วยสมัยก่อนมัมมี่มีอยู่เกลื่อนกลาด แม้ว่าชาวอียิปต์จะเลิกประเพณีทำมัมมี่ไปนานหลายปี แต่มันก็ยังมีให้พบอยู่บ่อยๆ เห็นได้จากปากคำของคนที่คลุกคลีอยู่กับมัมมี่

“การทำมัมมี่ไม่ได้มีเฉพาะกับฟาโรห์ และชนชั้นสูงเท่านั้น มันเป็นสิ่งที่ทำกันเป็นปกติในอียิปต์เป็นร้อยๆ ปี”  เรจีน ชูลซ์ (Regine Schulz) ภัณฑารักษ์งานศิลปะโบราณประจำ Walters Art Museum ในบัลติมอร์กล่าว “ป้าของเราเคยใช้ชีวิตในอียิปต์หลายปีในช่วงทศวรรษที่ 1950-1960 ซึ่งพายุทะเลทรายหลายๆ ครั้งก็จะเผยซากมัมมี่เล็กๆ ให้เห็นเป็นประจำ บางทีก็เป็นซากที่ถูกห่อชิ้นเล็กๆ บางทีก็เป็นกระดูกชิ้นเล็กชิ้นน้อย”

ชูลซ์เล่าถึงการซื้อขายมัมมี่ในอดีตว่า “ตอนนั้น มัมมี่เป็นแค่วัตถุ มันไม่ได้ถูกมองว่าเป็นมนุษย์…ไม่มีอะไรที่ผิดกฎหมายด้วย”

พ่อค้ามัมมีนั่งหลับ ภาพถ่ายโดย Félix Bonfils เมื่อปี 1875 (ภาพจาก Wikimedia Commons)

ส่วนสาเหตุที่คนต้องการได้มัมมี่มาครอบครองระหว่างในอดีตกับปัจจุบันก็ต่างกัน ยุคปัจจุบันมัมมี่คงเป็นที่ต้องการสำหรับนักสะสมที่คลั่งโบราณวัตถุจากอียิปต์ หรือบรรดาพิพิธภัณฑ์ต่างๆ แต่ในอดีตนอกจากจะเป็นของเล่นคนรวย หรือวัตถุเพื่อการศึกษาแล้ว มัมมี่ยังถูกใช้เป็นยาด้วย

“ผงมัมมี่เป็นอะไรที่คุณสามารถหาซื้อได้จากร้านขายยาจนถึงราวปี 1920 เพราะคนเชื่อกันว่ามันเป็นยาอย่างหนึ่ง” ชูลซ์ กล่าว

เหตุที่คนเชื่อเช่นนั้นก็ด้วยเคยเข้าใจกันมานานว่า คนอียิปต์โบราณใช้บิทูเมน (bitumen-น้ำมันดิน) ในการทำมัมมี่ (มีแต่น้อยไม่แพร่หลาย) และตอนนั้นคนก็คิดว่าบิทูเมนมีสรรพคุณทางยา เลยมีการเอามัมมี่อียิปต์มาบดทำเป็นยา ครั้งนึงจึงเคยมีคนเอาศพของอาชญากรร้าย หรือคนที่ฆ่าตัวตายมาทำมัมมี่เพื่อเอามาใช้ทำยาด้วย โดยอาจจะลืมไปว่า สรรพคุณทางยาที่พวกเขาคาดหวังมาจากบิทูเมน ไม่ใช่ตัวมัมมี่เอง

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

Choi, Charles. “NY Mummy Smugglers Reveal Vast Antiquities Black Market” (26 Jul. 2011). Live Science. <http://www.livescience.com/15234-ny-mummy-smugglers-reveal-vast-antiquities-black-market.html> Web. 20 Feb. 2017.

“Mummy” (13 Apr. 2016). Encyclopedia Britannica. <https://global.britannica.com/topic/mummy> Web. 20 Feb. 2017.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 20 กุมภาพันธ์ 2560