ผู้เขียน | Disapong Netlomwong |
---|---|
เผยแพร่ |
สีไว้ทุกข์ สำหรับการไว้ทุกข์ในสมัยก่อนนั้นมีอยู่หลายอย่างต่างชนิด คือ
1. สีดำ สำหรับผู้ใหญ่หรือผู้ที่มีอายุแก่กว่าผู้ตาย
2. สีขาว สำหรับผู้เยาว์หรือผู้ที่มีอายุอ่อนกว่าผู้ตาย
3. สีม่วงแก่ หรือ น้ำเงินแก่ สำหรับผู้ที่มิได้เป็นญาติเกี่ยวดองกับผู้ตายแต่ประการใด
ฉะนั้นในงานศพคนหนึ่งๆ หรือในงานเผาศพก็ตาม เราจะได้ความรู้ว่า ใครเป็นอะไรกับใครเป็นอันมาก เพราะผู้ที่แต่งตัวตัวไปในงานนั้นๆ จะต้องรู้เรื่องราวเกี่ยวข้องกับตัวเองโดยถูกต้องจึงจะแต่งสีให้ถูกได้ ถ้าผู้ใดแต่งสีและอธิบายไม่ได้ ก็มักจะถูกดูหมิ่นว่าเป็นผู้ไม่มีความรู้ แม้เรื่องเลือดเนื้อของตัวเอง
ของทุกอย่างมีดีก็ต้องมีเสีย แต่ก่อนก็ดีที่ได้รู้จักกันว่าใครเป็นใคร แต่ก็ลำบากในการแต่งกายเป็นอันมาก ถ้าจะต้องไปพร้อมกัน 2 ศพในวันเดียวกัน ก็จะต้องกลับบ้านเพื่อไปผลัดสีให้ถูกต้องอีก
ฉะนั้นในการที่มาเลิกสีอื่นหมด ใช้สีดำอย่างเดียวเช่นทุกวันนี้ก็สะดวกดี แต่ก็ขาดความรู้จักกัน เด็กสมัยนี้จึงมักจะตอบเรื่องพืชพันธุ์ของตัวเองไม่ได้ แม้เพียงปู่ก็ไม่รู้เสียแล้วว่าเป็นใคร และได้ทำอะไรเหนื่อยยากมาเพียงใดบ้าง แต่ถ้าจะพูดกันถึงเพียงความสะดวกแล้ว การแต่งตัว สีดำ เพียงสีเดียวก็ดีแล้ว
ที่มา : หนังสือ สารคดี ของ ม.จ.หญิง พูนพิศมัย ดิศกุล
เพิ่มเติม : ภาพนี้น่าจะถ่ายระหว่าง วันที่ 8 – 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2448 ที่ฝ่ายในล่วงหน้าไปที่พระราชวังบางปะอินก่อน และก่อนที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจันทราสรัทวาร กรมขุนพิจิตรเจษฎ์จันทร์ จะทรงประชวร ซึ่งต่อมาได้สิ้นพระชนม์ ในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2448 เพราะภายหลังพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริที่จะทรงชุดขาวไว้ทุกข์ จึงเปลี่ยนมาแต่งขาวทั้งหมด
อ่านเพิ่มเติม :
- เปิดวิธีซักรีดผ้าของชาววัง และเคล็ดลับ “หอมติดกระดาน”
- ที่มาเสื้อ “ราชแพทเทิร์น” ก่อนเพี้ยนตามสำเนียงไทยเป็น “ราชปะแตน”
- ประวัติ “เครื่องแต่งกาย ” เปลือยอกถึงเสื้อลูกไม้ และที่มาสมัย ร.3 “สวมเสื้อเข้ามาก็ไม่โปรด”
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 27 พฤษภาคม 2562