จีนสำรวจสุสานหลวง ราชวงศ์โจว เก็บหลักฐานเตรียมไว้ใช้ หากได้วัตถุมีค่าที่โดนปล้นคืน

ภาพถ่าย แหล่งโบราณคดีสุสานหลวงของราชวงศ์โจวตะวันออก ในหมู่บ้านจินชุน นครลั่วหยาง มณฑลเหอหนานทางตอนกลางของจีน ภาพถ่ายไม่ปรากฏวันที่ จากสถาบันวิจัยโบราณวัตถุทางวัฒนธรรมและโบราณคดีนครลั่วหยาง ไฟล์ภาพจากบริการข่าวสารภาษาไทย/สำนักข่าวซินหัว

วันที่ 27 มกราคมที่ผ่านมา (ตามเวลาท้องถิ่นในจีน) สถาบันวิจัยโบราณวัตถุทางวัฒนธรรมและโบราณคดีนครลั่วหยาง มณฑลเหอหนานทางตอนกลางของจีน ยืนยืนว่าได้เริ่มสำรวจ สุสานหลวง ของราชวงศ์โจวตะวันออก (770-256 ปีก่อนคริสต์ศักราช) ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ราว 1 ตารางกิโลเมตร ในหมู่บ้านจินชุนแล้ว

การสำรวจทางโบราณคดีสุสานหลวง ดำเนินการโดยสถาบันวิจัยฯ สถาบันสังคมศาสตร์แห่งชาติจีน (CASS) มหาวิทยาลัยเซี่ยงไฮ้ และหน่วยงานท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องอื่นๆ โดยแบ่งการสำรวจเป็น 3 ระยะ และกินเวลานาน 5 ปี

Advertisement

เหยียนฮุย เจ้าหน้าที่สถาบันวิจัยฯ กล่าวว่า เจ้าหน้าที่จะสำรวจ สุสานหลวง อย่างละเอียด และใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสำรวจทางธรณีฟิสิกส์สมัยใหม่เพื่อตรวจสอบพื้นที่สุสาน แต่จะไม่มีการสำรวจหลุมศพของจักรพรรดิ

ก่อนหน้านี้มีรายงานว่าค้นพบหลุมศพของขุนนางจากยุคราชวงศ์โจวตะวันออกหลายหลุม ทว่ายังไม่เคยมีการค้นพบหลุมศพขององค์จักรพรรดิยุคดังกล่าวที่อยู่ในสภาพสมบูรณ์

คณะนักโบราณคดีเชื่อว่า การสำรวจครั้งนี้มีนัยสำคัญต่อการตามรอยโบราณวัตถุที่หายสาบสูญจากสุสานดังกล่าว โดยโบราณวัตถุหลายพันชิ้น เช่น วัตถุที่ทำจากทอง เงิน สัมฤทธิ์ และหยก ถูกกลุ่มโจรปล้นสุสานขโมยไปจากจินชุนระหว่างปี 1928-1932 และถูกพบเจอในหลายสิบเมืองของประเทศต่างๆ กว่าสิบแห่ง

จ้าวเสี่ยวจวิน ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยฯ กล่าวว่าการสำรวจดังกล่าวสามารถมอบหลักฐานที่น่าเชื่อถือ สำหรับการส่งคืนโบราณวัตถุที่หายสาบสูญจากหมู่บ้านจินชุนได้

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : เนื้อหานี้คัดจากบทความในบริการข่าวสารภาษาไทยของสำนักข่าวซินหัว (นักโบราณคดีเริ่มสำรวจ ‘สุสานหลวงราชวงศ์โจว’ ในลั่วหยาง) เผยแพร่เมื่อ 29 มกราคม 2565


เผยแพร่ในเว็บไซต์ศิลปวัฒนธรรมครั้งแรกเมื่อ 31 มกราคม 2565