“บูเช็กเทียน” สละราชสมบัติให้พระโอรส จุดสิ้นสุดราชวงศ์โจวที่ปกครองยาวนานถึง 14 ปี

จักรพรรดินีบูเช็กเทียน จักรพรรดินี องค์เดียว ใน ประวัติศาสตร์จีน

จักรพรรดินีบูเช็กเทียน เป็นอีกหนึ่งสตรีที่ไต่เต้าจนก้าวขึ้นสู่บัลลังก์อำนาจของจีน และกลายเป็นบุคคลใน ประวัติศาสตร์จีน ซึ่งถูกคนรุ่นหลังพูดถึงและหยิบยกมาศึกษาจนถึงวันนี้

หากเล่าเส้นทางโดยคร่าว อาจต้องย้อนกลับไปที่เหตุการณ์ภายหลังจากการสวรรคตของ พระเจ้าถังเกาจง ใน ค.ศ. 683 อู่เม่ยเหนียง อดีตนางสนมชั้นปลายแถวของพระเจ้าถังไท่จงจักรพรรดิองค์ก่อน และเป็นพระมเหสีเอกของพระเจ้าถังเกาจง กลายเป็นผู้ดูแลราชสำนัก โดยปลด พระเจ้าจงจง (หลีเสี่ยน) ลงจากตำแหน่ง แล้วแต่งตั้ง พระเจ้าลุ่ยจง (หลี่ตั้ง) ขึ้นเป็นจักรพรรดิที่อยู่เพียงแค่ในตำหนัก ไม่อาจที่จะเข้าร่วมกิจการของรัฐ มีเพียงพระนางที่เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระสวามีที่จากไปในฐานะอู่ไทเฮา (พระมารดาขององค์จักรพรรดิ)

กระทั่งในอีก 7 ปีต่อมา อู่ไทเฮาขึ้นครองราชสมบัติเป็น จักรพรรดินีอู่เจอเทียน (บูเช็กเทียน) พร้อมกับสถาปนาราชวงศ์ขึ้นใหม่จากเดิมคือ ราชวงศ์ถัง เป็น ราชวงศ์โจว ในวันที่ 9 เดือน 9 นับเป็นการขึ้นสู่อำนาจสูงสุดอย่างเป็นทางการของจักรพรรดินีพระองค์แรกและองค์เดียวแห่ง “ประวัติศาสตร์จีน” ถือเป็นจุดเริ่มต้นการปกครองแผ่นดินโดยราชวงศ์โจว

การขึ้นสู่อำนาจของพระนางในฐานะองค์จักรพรรดินี ในแง่หนึ่งพระนางได้ทำนุบำรุงพุทธศาสนาและให้ความสำคัญมากกว่าลัทธิเต๋า ให้ความสำคัญในราชกิจโดยการคัดเลือกผู้ที่มีความสามารถเข้ารับราชการมากกว่าการรับบุตรหลานในตระกูลขุนนางเก่า ส่งผลให้เศรษฐกิจการเมืองในรัชสมัยของพระนางนับว่าพัฒนาไปมาก

ทรงเปิดโอกาสให้ผู้คนได้แสดงความคิดเห็นหรือพูดกันอย่างกว้างขวาง พร้อมกับรับฟังในความคิดเห็นเหล่านั้น ให้ความสำคัญในการพัฒนาการเกษตร ทั้งยังสืบสานนโยบายจากรัชกาลก่อน โดยการลดความเข้มงวดการเกณฑ์แรงงาน การเก็บภาษี รวมทั้งการดำเนินนโยบายผ่อนปรนให้กับราษฎร ทำให้แผ่นดินในรัชสมัยของพระนางมีความก้าวหน้าและเข้มแข็ง

แต่เบื้องหลังความเจริญรุ่งเรืองก็มีมุมมืด เป็นที่รู้กันว่า จักรพรรดินีบูเช็กเทียน ใช้อำนาจกระทำการอันสยดสยอง ขุนนางที่ขึ้นชื่อเรื่องความโหดเหี้ยมเข่นฆ่าผู้คนที่ไม่มีความผิดเป็นจำนวนมาก

อย่างเช่น ในช่วงปี 686-691 โจวซิ่งและไหลจวิ้นเฉิน ขุนนางในรัชสมัยของพระนาง ได้สร้างหลักฐานเท็จโดยการทรมานผู้คนที่ถูกจับให้ยอมรับในข้อหาความผิดที่ทั้งคู่สร้างขึ้น ซึ่งสร้างความไม่พอใจและโกรธแค้นให้กับประชาชนเป็นอย่างยิ่ง กระทั่งเกิดเหตุการณ์ที่มีคนกล่าวหาว่าโจวซิ่งร่วมสังหารองค์รัชทายาท

พระนางจึงให้ไหลจวิ้นเฉินไปทำการสอบสวน ทำให้โจวซิ่นพบกับจุดจบที่เพื่อนขุนนางด้วยกันหยิบยื่นให้ ภายหลังเสียชีวิต ไหลจวิ้นเฉินทะเยอทะยานในอำนาจสูงขึ้น คิดวิธีกำจัดเชื้อพระวงศ์แม้แต่พระธิดาของพระนางโดยการใส่ร้ายป้ายสี อู่เฉิงซื่อ พระนัดดาของพระนางผู้ที่เคยร่วมมือกับขุนนางโฉดผู้นี้ แต่รู้ทันแผนการจึงได้จับตัวไหลจวิ้นเฉิน

ด้วยข้อร้องเรียนจากขุนนางชั้นผู้ใหญ่ที่ขอให้ประหารชีวิต ทำให้พระนางจำต้องรับสั่งให้ประหาร โดยในวันประหาร ศพของขุนนางโฉดถูกย่ำยีจนป่นปี้แทบไม่มีชิ้นดีจากประชาชนที่โกรธแค้น

การปกครองที่เด็ดขาดในการกำจัดพวกที่ตั้งตัวเป็นปฏิปักษ์ต่อราชสำนัก แลกมาด้วยการนองเลือด แต่นำมาซึ่งความอยู่เย็นเป็นสุขของพสกนิกร ความเจริญรุ่งเรืองของแผ่นดินต้าโจวสิ้นสุดลงในฤดูใบไม้ผลิปี 705 จักรพรรดินีบูเช็กเทียน ในวัย 82 พรรษา ทรงพระประชวรหนัก เหล่าขุนนาง เสนาบดีในราชสำนักหลายคนนำโดย จางเจี่ยนจื่อ อัครเสนาบดี อาศัยจังหวะนี้ก่อรัฐประหารพระนาง โดยบังคับให้พระนางสละราชสมบัติมอบให้เจ้าชายหลีเสี่ยนกลับขึ้นมาครองราชย์

พระนางจึงมีราชโองการสละราชบัลลังก์ให้ เจ้าชายหลีเสี่ยน ในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ เดือนต่อมาเจ้าชายหลีเสี่ยนที่มีสถานะเป็นองค์จักรพรรดิ ได้กลับมาใช้ชื่อราชวงศ์เดิมของพระองค์ ซึ่งเป็นการฟื้นฟูราชวงศ์ถังขึ้นมาใหม่ และเป็นการสิ้นสุดของราชวงศ์โจวของพระนางที่ปกครองแผ่นดินยาวนานถึง 14 ปี

ในวันที่ 16 ธันวาคม ค.ศ. 705 จักรพรรดินีบูเช็กเทียน ได้สวรรคตอย่างสงบ พระศพถูกฝังเคียงคู่กับพระเจ้าถังเกาจง พร้อมกับป้ายหินที่ไร้อักษรใดๆ

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

หลี่เฉวียน . เขมณัฏฐ์ ทรัพย์เกษมชัย, แปล. ประวัติศาสตร์จีนฉบับย่อ. กรุงเทพฯ : มติชน, 2556

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ประเทศจีน. Higher Education Press, 2550


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2562