ตีแผ่ผลงาน “ซัลมาน รัชดี” บุคคลผู้มีปากกาเป็นอาวุธ 4 เรื่อง 4 สไตล์ สะท้อนสังคม มีอะไรบ้าง?

มิ่ง ปัญหา ปูเป้ พูดเรื่อง ซัลมาน รัชดี

“ซัลมาน รัชดี” (Salman Rushdie) เป็นนักเขียนชาวสหราชอาณาจักร-อเมริกัน เชื้อสายอินเดีย ที่หากว่าใครอยู่ในแวดวง วรรณกรรม คงจะรู้จักกันดี เพราะเขามีผลงานมากมายที่หลายคนรู้จักและสะท้อนปัญหาสังคมได้อย่างดีเยี่ยม เช่น Midnight’s Children (1981), The Ground Beneath Her Feet (1999)

และที่ไม่พูดถึงไม่ได้เลยคือ “The Satanic Verses หรือโองการปีศาจ” (1988) หนังสืออมตะ โด่งดังกระฉ่อนทั่วโลก ที่มีการตั้งคำถามถึงรัฐอิสลามแบบเผ็ดร้อน ทว่านวนิยายเล่มนี้ไม่เพียงแค่วิพากษ์สังคมตะวันตกและสร้างชื่อเสียงให้เขา 

แต่กลับทำให้ชีวิตของ “ซัลมาน รัชดี” ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เนื่องจากนวนิยายเล่มนี้ถูกต่อต้านจากชาวมุสลิมจำนวนมาก จนโดนหมายหัว และเมื่อปี 2022 เขาถูกลอบสังหารด้วยการใช้มีดแทงบนเวที แม้จะรอดชีวิต แต่ข่าวนี้ก็เรียกได้ว่าเป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์สั่นสะเทือนวงการวรรณกรรม

ความสำคัญของงาน วรรณกรรม ของซัลมาน รัชดี ที่มีต่อสังคม ทำให้ “สำนักพิมพ์มติชน” ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร จัดกิจกรรม “Book Club: ซัลมาน รัชดี บุรุษผู้ใช้ปากกาเป็นอาวุธ” ในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2567 ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมของงาน “Knowledge Book Fair 2024 เทศกาลอ่านเต็มอิ่ม” ณ มิวเซียมสยาม 

เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวนักเขียนคนดังกล่าว พร้อมบอกเล่าผลงานของเขาว่าดีแค่ไหน ทำไมต้องอ่าน ผ่าน 4 ผลงาน 4 สไตล์ ให้คนที่รู้อยู่แล้วรู้ลึกทุกเรื่องราวมากยิ่งขึ้น ส่วนคนที่ยังไม่เคยรู้มาก่อน ก็จะได้มารู้จักที่นี่! 

ครั้งนี้ได้ มิ่ง ปัญหา อาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาและวรรณคดีอังกฤษ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มาเป็นวิทยากร โดยมี “ปูเป้” เพจสมาคมป้ายยาหนังสือ เป็นผู้ดำเนินรายการ ท่ามกลางบรรยากาศอันร่มรื่นใต้ร่มไม้ของมิวเซียมสยาม

งานวันนี้ไม่ได้มีเพียงเรื่องราวแสนสนุกของนักเขียนผู้นี้เท่านั้น แต่ยังมีกิจกรรมพิเศษจิบชายามบ่าย จากเพจ “ห้องชาของมุ้ง” ช่วยรังสรรค์ชา 4 รสชาติ ที่เหมาะกับผลงาน 4 เล่มของ “ซัลมาน รัชดี” ให้ทุกคนจิบแบบชิล ๆ ฟังเรื่องราวไป ผ่อนคลายไปอีกด้วย

📌 “ซัลมาน รัชดี” คือใคร?

มิ่ง ปัญหา ได้แนะนำแบบสั้น ๆ ว่า ซัลมาน รัชดีเป็นคนอินเดีย แต่ย้ายไปอยู่ที่อังกฤษ เนื่องจากการไล่ล่า หลังจากปล่อยหนังสือ Satanic Verses หรือโองการปีศาจ ในปี 1988 ซึ่งเป็นหนังสือวิพากษ์วิจารณ์รัฐอิสลาม จนเขาโดนหมายหัวจากรัฐอิสลาม มีการตั้งค่าหัว โดนต่อต้านจากชุมชนมุสลิมในอังกฤษ ถึงขั้นเผาหนังสือ 

จนในที่สุดเขาต้องเปลี่ยนชื่อตัวเองเป็น “ฌอแซ็ฟ อันตอน” (Joseph Anton) โดย อาจารย์ประจำสาขาภาษาและวรรณคดีอังกฤษ ได้กล่าวไว้ว่า “รัชดีเลยเปลี่ยนชื่อ เป็น ฌอแซ็ฟ อันตอน ซึ่งมาจากชื่อนักเขียนดังของโลก 2 คน คือ ฌอแซ็ฟ คอนราด (Joseph Conrad) และ อันตอน เชคอฟ (Anton Chekhov) แล้วก็เอามาผสมกันเป็น ฌอแซ็ฟ อันตอน”

📌 “Midnight’s Children” ทารกเที่ยงคืน ตีแผ่ประวัติศาสตร์เอเชียผ่านชีวิตประจำวันของครอบครัว

นวนิยายเรื่องแรกที่ทั้ง 2 คน แนะนำขึ้นมาคือ “Midnight’s Children” ทารกเที่ยงคืน ซึ่ง อ. มิ่ง ได้พูดถึงหนังสือเล่มนี้ว่า เป็นเล่มที่มหัศจรรย์มาก เพราะได้รับรางวัล “The Booker Prizes” รางวัลสาย วรรณกรรม ถึง 3 ครั้ง ได้แก่ ปี 1981, 1993, 2008

ก่อนที่จะพูดถึงนิยายเล่มนี้ต่อไปว่า เป็นหนังสือที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์เอเชีย โดยเป็นเรื่องราวของอินเดียหลังจากได้รับเอกราช ซึ่งถ่ายทอดออกมาจากความธรรมดาของครอบครัว ครอบครัวหนึ่ง ที่ต้องพบกับเหตุการณ์ต่าง ๆ ซึ่งสามารถล้อไปกับเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ในยุคนั้นได้ เช่น วัฒนธรรมที่อังกฤษทิ้งไว้นั้นเหมาะสมกับชาวอินเดียจริงหรือไม่? อย่างในหนังสือจะมีเหตุการณ์ที่ตัวละครต้องไปอยู่ในบ้านของชาวอังกฤษ มีการใช้กระดาษชำระ แต่คนอินเดียที่เข้าไปอยู่รู้สึกอึดอัดและไม่เหมาะสมกับตัวเอง

ด้านปูเป้ก็เสริมถึงหนังสือเล่มนี้ว่า เป็นหนังสือที่บอกเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงและมีการเสียดสีสังคม 

📌 “นิทานพันหนึ่งราตรี” นิยายระหว่างความฝันและความจริง

ปูเป้เล่าว่า “เล่มนี้เป็นเล่ม 2 ปี 8 เดือน 28 คืน หรือพันหนึ่งราตรี ถ้าใครที่เคยอ่านพันหนึ่งราตรี อาหรับราตรีมาก่อน เรื่องนี้ก็จะล้อไปกับเนื้อหาในนั้น แต่จะสื่อออกมาในอีกแนวหนึ่ง มีการเปรียบเทียบเปรียบเปรยกับนิยายและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในเล่มนี้”

ต่อมา อ. ประจำสาขาภาษาและวรรณคดีอังกฤษได้พูดถึงหนังสือเล่มนี้ต่อว่า หนังสือเล่มนี้มีความพิเศษอย่างหนึ่งที่เอานิยายดัง ๆ มาล้อผ่านงานนี้ มีการเอามิติของความฝัน มายา มาผสมปนเป ซึ่งเล่มนี้เป็นเล่มที่ชาวตะวันตกชอบมาก 

แต่หนังสือเล่มนี้ก็มีจุดที่ต้องระวังในการอ่าน คือ การแปลของแต่ละชาติอาจจะมีความแตกต่างกัน บางคน บางนักแปลอาจจะคิดว่าสามารถตัดตอนตรงนี้ได้ อาจจะต้องเช็กกับทางต้นฉบับอีกทีหนึ่ง

📌 “THE GOLDEN HOUSE บ้านโกลเดน” สะท้อนการเหยียดเชื้อชาติและการเมืองโลก

เล่มนี้ เจ้าของสมาคมป้ายยาหนังสือบอกว่า เรื่องนี้เกิดขึ้นในอเมริกา ยุคที่ “บารัค โอบามา” ซึ่งเป็นคนผิวดำ กำลังขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา ซึ่งจะมีตัวละคร 4 คนปรากฏขึ้นมา เป็นการเล่าเรื่องราวผ่านตัวละครเหล่านี้

โดยเล่มนี้ อ. ประจำสาขาภาษาและวรรณคดีอังกฤษได้กล่าวไว้สั้น ๆ ว่า ที่น่าสนใจคือ “ความจริงจังเรื่องการเมืองของรัชดี ทุก ๆ ครั้งที่เราอ่านงานเขา ถึงแม้ว่าเขาจะจัดฉากเรื่องให้อยู่ 500 ปีที่แล้ว เขาก็ยังพูดคุยกับเราในเรื่องการเมืองปัจจุบัน หรือสมัยก่อนที่ส่งผลมาจนถึงปัจจุบัน การเหยียดสีผิว การลี้ภัย…

เวลาเราอ่านงานอย่างบ้านโกลเดน ค่อนข้างชัดเจนว่าเป็นยุครัชดีที่มาอยู่สหรัฐอเมริกาแล้ว” 

รัชดีได้ตีแผ่เนื้อหาออกมาได้อย่างน่าสนใจ เล่มนี้จะเน้นไปที่การเหยียดชาติพันธุ์ ความเท่าเทียม รวมไปถึงเรื่องราวของการเมืองโลก

📌กิช็อต บุรุษบ้าและมายาสมัย หนังสือที่รวบรวมความเป็น “ซัลมาน รัชดี” ตั้งแต่ต้นจนถึงปัจจุบัน

หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือของ “ซัลมาน รัชดี” ที่ตีพิมพ์แปลไทยออกมาล่าสุดภายใต้ “สำนักพิมพ์มติชน” โดยเล่มนี้ปูเป้บอกว่า “การอพยพจะมาเน้นที่หนังสือเล่มนี้…ครั้งแรกที่ได้ยินชื่อเรื่องนี้มีความงง ๆ ว่าทำไมต้องมีบุรุษบ้า แต่พอมาอ่านแล้ว เราก็เข้าใจเลยว่า…เล่มนี้อ่านยากมาก มีความลึก มีมายา มีประวัติศาสตร์ มีการอพยพ ปมต่าง ๆ  อยู่ในเล่มนี้ครบ…เล่มที่ 4 หรือกิช็อต จะมีความแตกต่างจาก 3 เล่มแรก แล้วก็มีความขยับรวมของ 3 เล่มเอาไว้ที่เล่มนี้”

ก่อนที่ อ. มิ่ง จะเสริมว่า “ประเด็นต่าง ๆ ของรัชดีทั้งหมด ที่เราเคยรู้จักเขามา อยู่ในเล่มนี้หมดเลย มีประเด็นผู้หญิง…มีประเด็นเรื่องผู้อพยพ ความเร่ร่อน”

ซึ่งเล่มนี้มีความน่าสนใจมาก ๆ เพราะชื่อ “บุรุษบ้า” เป็นชื่อที่ตรงกับสิ่งที่หนังสือเสนอออกมา และไม่ได้ไกลตัวจากคนเราเลยแม้แต่น้อย โดย อ. มิ่ง ได้พูดถึงเรื่องนี้ไว้อย่างน่าสนว่า 

“แล้วก็ความบ้านี้น่าสนใจมาก ๆ เวลาเราคิดว่า อันนี้บ้าหรือไม่ จะไปตามหาอะไรเพ้อเจ้อหรือไม่ แต่ทั้งหมดนี้คือเราเอง ในขณะที่เรารู้สึกเรื่องนี้งงไปหมด แต่ว่าวันหนึ่งเราอาจจะเล่นเฟซบุ๊ก ไล่ดู เจอเพื่อนลงรูปพัทยา ไปเที่ยวเกาะสักเกาะหนึ่ง แต่เราต้องเตรียมตื่นเช้าไปทำงาน…แต่เราก็พบความจริงว่าเพื่อนกลับจากเกาะนั้นได้ 2 เดือนแล้ว แต่ยังลงรูปอยู่

มันเหมือนกับว่า เขาเองก็อยากหลีกหนี คุณเองก็อิจฉา ไม่มีอะไรอยู่ในโลกความเป็นจริงเลย”

ทำให้เห็นได้ว่าเรื่องราวที่ปรากฏในหนังสือที่เหมือนแสดงถึงความงุนงงก็ปรากฏให้เราเห็นได้ในโลกความเป็นจริง

หลังจากเล่าเรื่องราวมาอย่างอิ่มหนำแล้ว ก็ถึงช่วงสุดท้ายของกิจกรรมนี้ โดยทั้ง 2 คนได้แนะนำถึงหนังสือของ “ซัลมาน รัชดี” ว่าควรจะอ่านเล่มไหนดี 

ปูเป้ได้แนะนำเกี่ยวกับผลงานดี ๆ ของ ซัลมาน รัชดี ไว้ว่า “แนะนำถ้าได้อ่าน ง่าย ๆ ก็ ในบ้านโกลเดนอ่านไม่ยาก แต่ถ้าต้องการความเข้มข้นของเนื้อหาก็อยากจะแนะนำ กิช็อต บุรุษบ้าและมายาสมัย”

ส่วน อ. มิ่ง ปัญหา ก็ได้พูดถึงเล่มล่าสุด ที่เพิ่งตีพิมพ์ออกมาโดยสำนักพิมพ์มติชนอย่าง “กิช็อต บุรุษบ้าและมายาสมัย” เช่นเดียวกัน โดยบอกว่าหนังสือเล่มนี้แสดงให้เห็นถึงปัญหาใหม่ ๆ ของสังคม ที่หลาย ๆ เล่มอาจไม่เคยพูดถึงมาก่อน เช่น สังคมออนไลน์ที่มักจะไม่หาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องราวที่เกิดขึ้นและตัดสินใจแค่เพียงสิ่งที่เห็น เป็นต้น

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2567