อ่านวรรณกรรมเพื่ออ่านลึกถึงจิตใจ กับกิจกรรมอ่านออกเสียง “ออร์ฮาน ปามุก”

อ่านออกเสียง ออร์ฮาน ปามุก
กิจกรรมอ่านออกเสียง ออร์ฮาน ปามุก

หนึ่งในกิจกรรมที่น่าสนใจใน “Knowledge Book Fair 2024 เทศกาลอ่านเต็มอิ่ม” จัดโดยสำนักพิมพ์มติชนและพันธมิตร ที่มิวเซียมสยาม ในยามเย็นวันเสาร์ที่ 17 กุมภาพันธ์ 2567 ก็คือ BookClub: อ่านออกเสียง “ออร์ฮาน ปามุก” 

ชวนผู้อ่านและผู้ที่ยังไม่อ่าน ที่อาจจะถอดใจเพราะความหนาของหนังสือ เดินทางเข้าสู่โลกวรรณกรรมของ ออร์ฮาน ปามุก นักเขียนชาวตุรกีคนแรกที่ได้รับรางวัลโนเบล ผลงานของปามุกมีหลายเล่ม เช่น พิพิธภัณฑ์แห่งความไร้เดียงสา (The Museum of Innocence), หิมะ (Snow), My Name is red ฯลฯ เล่าเรื่องราวแตกต่างหลากหลายกันไป

แล้วเล่มไหนของปามุก เป็นเล่มโปรดของใคร?

คำถามดังกล่าว เป็นที่มาของกิจกรรมอ่านออกเสียง ที่ชวนผู้สนใจมาร่วมวงแลกเปลี่ยนพูดคุยท่ามกลางความร่มรื่นของร่มไม้และสนามหญ้าสีเขียวยามเย็น นำสนทนาโดย วรงค์ หลูไพบูลย์ บรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์บทจร และ สมชาย แซ่จิว ผู้เชี่ยวชาญวัฒนธรรมจีน โดยมีผู้ร่วมกิจกรรมทั้ง รศ. ดร. ไชยันต์ รัชชกูล, รศ. ดร. ยุกติ มุกดาวิจิตร, ฆัสรา ขมะวรรณ มุกดาวิจิตร, สมฤทธิ์ ลือชัย ฯลฯ 

อาจารย์ไชยันต์ ที่อ่านงานของปามุกจำนวนมาก เล่าช่วงหนึ่งว่า เมื่ออ่าน “Istanbul Memories and the City” ชื่ออาจเป็นเรื่องของอิสตันบูล แต่มีส่วนขยายที่ว่า “Memories of a City” ที่ทำให้เห็นชีวิตวัยเด็กของปามุก และทำให้ตนเชื่อมโยงมาถึงวัยเด็กของตนเอง ก่อนจะกล่าวทิ้งทายว่า

“เมื่อเราอ่านวรรณกรรม เป็นการเชื่อมโยงมาที่ตัวเรา เรากำลังอ่านตัวเรา อ่านเพื่อรักษาบาดแผลจิตใจของเรา”

ด้าน สมชาย นักอ่านตัวยง ผู้ยลโฉมพิพิธภัณฑ์แห่งความไร้เดียงสาถึงถิ่นตุรกี เมื่อปี 2015 เล่าว่า ขณะนั้นแม้จะยังไม่ได้อ่านหนังสือ แต่จากที่สำรวจพิพิธภัณฑ์ทำให้เห็นคร่าวๆ ว่า สัมพันธ์และสนับสนุนซึ่งกัน เช่น พิพิธภัณฑ์มี 83 ห้อง ขณะที่หนังสือก็มี 83 บท โดยพิพิธภัณฑ์ทำให้เห็นว่า เมืองอิสตันบูลกำลังถูกทำร้ายจากคนรักที่หมดรักกัน

สมชายยังกล่าวถึง “The Innocence of Objects” ของปามุก ที่ตอนหนึ่งกล่าวว่า พิพิธภัณฑ์ไม่ควรสะท้อนภาพของรัฐ แต่ควรสะท้อนภาพของปัจเจกชน

บทสนทนาในวงดำเนินไปเรื่อยๆ กระทั่งได้เวลาอำลา แต่คุณค่าในงานวรรณกรรมของปามุกนั้นยังคงหนักแน่น และสร้างความประทับใจให้ทุกคนเสมอ 

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 2567