ลางอวสานราชวงศ์โมกุล กับข้อมูลที่หาไม่ได้จากไหน ในเวที ‘BookClub: เมื่อบัลลังก์โมกุลล่ม’

สุภัตรา ภูมิประภาส ผู้แปล The Last Mughal เมื่อบัลลังก์ล่ม เดลีร้าง พูดคุยกับ สมฤทธิ์ ลือชัย ใน BookClub: เมื่อบัลลังก์โมกุลล่ม เล่าเหตุล่มสลายของ ราชวงศ์โมกุล
สุภัตรา ภูมิประภาส (ซ้าย) ผู้แปล The Last Mughal เมื่อบัลลังก์ล่ม เดลีร้าง และ สมฤทธิ์ ลือชัย (ขวา) ใน BookClub: เมื่อบัลลังก์โมกุลล่ม

ล้วงลึกเรื่องราว เผยความซับซ้อนในเหตุการณ์ล่มสลายของ “ราชวงศ์โมกุล” แห่งอินเดีย ท่ามกลางบรรยากาศสุดเพลิดเพลิน ร่มรื่น ในเวทีเสวนา ‘BookClub: เมื่อบัลลังก์โมกุลล่ม’ โดย สุภัตรา ภูมิประภาส ผู้แปลหนังสือขายดีสุดล้ำค่าเล่มล่าสุดอย่าง ‘The Last Mughal เมื่อบัลลังก์ล่ม เดลีร้าง’ และ สมฤทธิ์ ลือชัย นักประวัติศาสตร์ชื่อดัง ผู้เชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรมอุษาคเนย์

กิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของงาน Knowledge Book Fair 2024 เทศกาลอ่านเต็มอิ่ม ปี 2 ณ มิวเซียมสยาม (Museum Siam) วันศุกร์ที่ 16 กุมภาพันธ์ 2567

อาจารย์สมฤทธิ์ เริ่มด้วยการหยอกล้อคุณสุภัตรา และเล่าถึงความ “พิเศษ” ของหนังสือว่า “ท่านที่เป็นแฟนคลับคุณแหม่ม (คุณสุภัตรา) จะรู้ว่าเขาชอบอะไรที่เป็น ‘The Last’ ชอบแปลกษัตริย์ล่มบ้าง จักรวรรดิล่มบ้าง เล่าความล่มจมของคนอื่น ผมก็พบว่าน่าสนใจ เพราะไม่รู้ว่าเขาล่มยังไง” 

“ ‘Vincent Smith’ นักประวัติศาสตร์อินเดีย กล่าวถึงเหตุการณ์ประวัติศาสตร์อินเดียในช่วงก่อนราชวงศ์โมกุลล่มสลายนั้นล้วนเป็นประวัติศาสตร์ด้านเดียว ถ้าเป็นอินเดียเขียน ก็จะเห็นการเล่าประวัติศาสตร์ชาตินิยมแบบอินเดีย คืออังกฤษชั่วอย่างเดียว ถ้าเป็นของอังกฤษเขียน อินเดียก็จะชั่วอย่างเดียว ไม่ใช่ประวัติศาสตร์รอบด้าน อันนี้นักประวัติศาสตร์คนสำคัญของอินเดียพูดเลยนะครับ และหนังสือเล่มนี้ (The Last Mughal) ได้แก้จุดอ่อนที่ Vincent Smith ทุกข์ ทำให้ผมพบว่า ‘โอ้ คุณแหม่มแปลได้น่าสนใจมาก’ ”

คุณสุภัตรา นิยาม The Last Mughal เมื่อบัลลังก์ล่ม เดลีร้าง ว่า “หนังสือเล่มนี้ เป็นเรื่องราวที่ผู้อ่านไม่มีวันได้อ่านจากหนังสือเล่มอื่น” แล้วอธิบายว่า เพราะข้อมูลช่วงที่บัลลังก์โมกุลล่ม ช่วงที่อังกฤษเข้ามายึด มักเป็นข้อมูลด้านเดียว แต่ William Dalrymple เป็นคนที่อินกับประวัติศาสตร์อินเดียมาก เขารื้อเอกสารภาษาเปอร์เซีย ภาษาอูรดู จากหอจดหมายเหตุแห่งชาติอินเดียที่ไม่เคยมีใครหยิบมาใช้เลย เพราะว่าไม่มีการแปล

เอกสารเหล่านี้ มีทั้งบันทึกการก่อกบฏ บันทึกสายลับช่วงที่เหตุการณ์กบฏกำลังลุกลาม บางฉบับเป็นเอกสารที่ต้องถอดรหัส รวมถึงใบร้องทุกข์ของชาวเมือง ซึ่งผู้เขียนตั้งทีมแปลและถอดรหัสเพื่อไขความลับภายในเอกสารมาประกอบในหนังสือเล่มนี้

“ดิฉันกล้าบอกเลยว่า เรื่องราวประมาณ 70% เป็นเรื่องราวที่ไม่เคยปรากฏในหนังสือเล่มใด ไม่มีแน่ ๆ ค่ะ” คุณสุภัตราบอก 

อาจารย์สมฤทธิ์เล่าประสบการณ์จากการอ่านว่า ประเด็นใหญ่ของหนังสือเล่มนี้เกิดขึ้นในช่วงเปลี่ยนผ่าน เล่าว่า ราชวงศ์โมกุล มาถึงจุดล่มสลาย เพราะมีกบฏที่ชื่อว่า “กบฏซีปอย” ยึดอินเดีย แล้วสังหารคนอังกฤษ อังกฤษจึงเกณฑ์กำลังแขกซิกข์กับปาทานเข้ามาทำลายกองทัพซีปอย ซึ่งก็เป็นทหารของตนเองนั่นแหละ แต่เป็นคนพื้นเมือง พออังกฤษชนะ ผลจึงจบที่การจับจักรพรรดิองค์สุดท้าย บะห์ดูร์ ชาห์ ซาฟาร์ ที่ 2 แล้วเนรเทศมาอยู่ย่างกุ้ง จนสิ้นพระชนม์แบบอนาถา ซึ่งหนังสือเปิดฉากด้วยวันสิ้นพระชนม์ของจักรพรรดิพระองค์นี้เลย

อีกฉากหนึ่ง 28 ปีต่อมา อังกฤษก็มายึดพม่า แล้วมาจับกษัตริย์พม่าไปไว้ที่รัตนคีรี จนกระทั่งสิ้นพระชนม์ที่อินเดีย แล้วถ้าอ่านประวัติศาสตร์ของลังกา อังกฤษก็จับกษัตริย์ลังกาองค์สุดท้าย จนไปสิ้นพระชนม์ที่ทมิฬนาฑู คืออังกฤษไม่ฆ่า แต่ใช้วิธีเนรเทศ

“ภาพเหตุการณ์ที่เราได้จึงมาจากหลากมุม จากภาษาอูรดู ภาษาเปอร์เซีย และแน่นอนอังกฤษก็ต้องบันทึกไว้ เวลาเราอ่านบางวันจะเหมือนเราตามกองทัพอังกฤษไป บางวันจะเหมือนตามกองทัพกบฏ แล้วเล่าไม่ยั้งเลยว่าใครฆ่าใคร ฆ่ากันยังไง คนอินเดียสังหารคนอังกฤษยังไง คนอังกฤษสังหารคนอินเดียยังไง เขาให้เห็นหมด” อาจารย์สมฤทธิ์กล่าว

นี่จึงเป็นเหตุผลที่นักประวัติศาสตร์อินเดียแท้ ๆ อย่าง Vincent Smith ชื่นชมหนังสือเล่มนี้ว่าเป็นประวัติศาตร์ที่ไม่ใช่การเล่าเรื่องเพียง “ด้านเดียว”

คุณสุภัตรา ร่วมขยายความว่า “ข้อมูลในราชสำนักจะมีบันทึก ซึ่งเขาก็ได้บันทึกประจำวันของช่วงเวลานั้น ที่บันทึกชีวิตประจำวันของจักรพรรดิ ของนางสนม คือบันทึกแบบรู้ไปหมด รู้ว่าสนมคนนี้ไปท้องกับนักดนตรี ท้องกับทหารที่มาเฝ้ายาม มีบันทึกหมด” ก่อนอาจารย์สมฤทธิ์จะแทรกว่า “อันนี้แหละ ถูกจริตคนไทย” ว่าง่าย ๆ คือ หนังสือเล่มนี้มีหมด ทั้งรัก โลภ โกรธ หลง

ทั้งสองท่านยังร่วมพูดคุยถึงบั้นปลายชีวิตของของจักรพรรดิ บะห์ดูร์ ชาห์ ซาฟาร์ ที่ 2 เมื่อพระองค์ถูกเนรเทศไปยังย่างกุ้ง ซึ่งน่าสนใจอย่างยิ่ง เพราะนี่คือชีวิตของมนุษย์คนหนึ่งที่พลิกผันจากสูงสุดสู่สามัญ รวมทั้งเน้นย้ำว่าการล่มสลายของราชวงศ์โมกุลหลังจากเหตุการณ์กบฏซีปอย โดยเฉพาะเรื่องราวการชะโลมน้ำมันหมูน้ำมันวัวใส่ลูกปืนอันโด่งดังนั้น เป็นเพียงฟางเส้นเดียวจากฟางกองใหญ่เท่านั้น เพราะอังกฤษกับอินเดียเต็มไปด้วยข้อพิพาทมากมายอยู่เป็นทุนเดิมแล้ว

นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายประเด็นที่ทั้งสองท่านพูดถึง เช่น สงครามกบฏซีปอยมีสงครามศาสนาซ้อนอยู่ในนั้น ความร้าวฉานระหว่างคนอังกฤษกับคนอินเดีย ส่วนหนึ่งคืออังกฤษเองก็ยกตนเหนือกว่าชาวอินเดียทั้งหมด จนถือได้ว่านี่คือวรรณะอีกวรรณะหนึ่ง รวมถึงสงครามสื่อหรือการใช้หนังสือพิมพ์โหมข่าวโจมตีฝ่ายตรงข้ามในช่วงสงคราม ซึ่งแน่นอนว่าเราสามารถติดตามเรื่องราวทั้งหมดได้เต็ม ๆ ในหนังสือ The Last Mughal เมื่อบัลลังก์ล่ม เดลีร้าง

พบกับกิจกรรมดี ๆ แบบนี้ได้อีกมากมาย ในงาน Knowledge Book Fair 2024 เทศกาลอ่านเต็มอิ่ม ปี 2 มหกรรมองค์ความรู้ระดับประเทศ ระหว่างวันที่ 16 – 18 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 12.00-21.00 น. ที่ มิวเซียมสยาม ดูกิจกรรมตลอด 3 วันได้ที่https://bit.ly/3Otw1Qh

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2567