หลุมขุดสำรวจวัดปราสาท นนทบุรี พบฐานเดิมซุ้มประตูอุโบสถอยู่ลึกเมตรกว่า

วัดปราสาท นนทบุรี ขุดค้น โบราณคดี
ภาพการขุดสำรวจรากฐานเดิมของซุ้มประตูอุโบสถวัดปราสาท นนทบุรี (ภาพจากเพจ วัดปราสาท จังหวัดนนทบุรี)

เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2566 เพจ วัดปราสาท จังหวัดนนทบุรี ได้เผยแพร่ภาพการขุดสำรวจรากฐานเดิมของซุ้มประตูอุโบสถและสำรวจฐานเดิมของตัวอุโบสถวัดปราสาท นนทบุรี โดยเจ้าหน้าที่กองโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ 2 สุพรรณบุรี กรมศิลปากร

การขุดสำรวจได้พบรากฐานเดิมสมัยอยุธยาอยู่ลึกลงไปเมตรกว่า จากระดับฐานอุโบสถวัดปราสาทในปัจจุบัน

ภาพการขุดสำรวจรากฐานเดิมของซุ้มประตูอุโบสถวัดปราสาท นนทบุรี (ภาพจากเพจวัดปราสาท จังหวัดนนทบุรี)

ตั้งข้อสังเกตเบื้องต้นของระดับรากฐานซุ้มประตูอุโบสถเดิมสมัยอยุธยาที่อยู่ลึกมากนั้น อาจมาจากพื้นที่ของวัดปราสาทมีการเปลี่ยนแปลงตลอดของพื้นที่ที่อยู่ไม่ไกลจากแม่น้ำลำคลอง น้ำท่วมอาจเป็นปัจจัยที่ทำให้ฐานซุ้มประตูและฐานอุโบสถวัดปราสาทต้องมีการขยับสูงขึ้นจากการบูรณะในสมัยหลัง

การขุดสำรวจรากฐานเดิมของซุ้มประตูอุโบสถวัดปราสาท ที่กำลังดำเนินการนี้เพื่อจะนำมาประกอบกับการบูรณะอุโบสถให้มีความแข็งแรงต่อไปในอนาคต

ส่วนประวัติวัดปราสาท สำนักศิลปากรที่ 2 สุพรรณบุรี ได้ให้ข้อมูลไว้ว่า วัดปราสาท ตำบลบางกร่าง อำเภอเมืองนนทบุรี เป็นโบราณสถานที่สร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลาย

ด้านหน้าและด้านหลังพระอุโบสถมีมุขยื่นออกมา ส่วนฐานมุขที่ยื่นออกมานี้จะย่อมุม 3 มุม ทำให้ฐานอาคารโดยรวมอยู่ในผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าย่อมุมไม้สิบสอง ฐานของอุโบสถเป็นฐานบัวลูกแก้วอกไก่อ่อนโค้งแบบท้องเรือสำเภา รับกับหลังคาเครื่องไม้ที่อ่อนโค้งเช่นเดียวกัน ทำให้พระอุโบสถหลังนี้มีด้านหน้าและด้านท้ายเชิดขึ้น ดูมีความอ่อนช้อยงดงาม

หน้าบันด้านทิศตะวันออกประดับเครื่องไม้จำหลักรูปพระนารายณ์ทรงครุฑ ส่วนหน้าบันด้านทิศตะวันตกจำหลักไม้เป็นลายกระหนกก้านขด ผนังพระอุโบสถด้านข้างทึบไม่มีช่องหน้าต่างและมีประตูทางเข้าด้านหน้าเพียงด้านเดียว

ภายในอุโบสถ บนผนังเขียนภาพจิตรกรรมด้วยสีฝุ่นผสมกาว เป็นงานเขียนสมัยอยุธยาตอนกลาง-ปลาย ถือเป็นภาพจิตรกรรมที่มีอายุเก่ามากที่สุดแห่งหนึ่งในจังหวัดนนทบุรี ภายในประดิษฐานพระประธานเป็นพระพุทธรูปปูนปั้นลงรักปิดทององค์ใหญ่ที่มีลักษณะของศิลปะอู่ทอง

อุโบสถ วัดปราสาท นนทบุรี กำลังดำเนินการบูรณะ
อุโบสถวัดปราสาท นนทบุรี กำลังดำเนินการบูรณะ (ภาพจากเพจวัดปราสาท จังหวัดนนทบุรี)

วัดปราสาทมีสถานะเป็นโบราณสถานที่ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนโดยกรมศิลปากร ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 79 ตอนที่ 100 หน้า 2387 วันที่ 13 พฤศจิกายน 2505 โดยกำหนดพื้นที่ประกาศขึ้นทะเบียนขนาด 2 งาน 30 ตารางวา

ปัจจุบันวัดปราสาท จังหวัดนนทบุรี กำลังดำเนินการบูรณะอุโบสถ และซุ้มประตูทรงปราสาท โดยสำนักศิลปากรที่ 2 สุพรรณบุรี กรมศิลปากร ดำเนินการการบูรณะ สามารถสอบถามร่วมบูรณะอุโบสถได้ที่เพจ วัดปราสาท จังหวัดนนทบุรี

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 28 เมษายน 2566