ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกุมภาพันธ์ 2565 |
---|---|
ผู้เขียน | รศ.ดร. ประภัสสร์ ชูวิเชียร |
เผยแพร่ |
“ผังเมือง” กรุงรัตนโกสินทร์ แรกเริ่มเป็นแบบไหน เกี่ยวอะไรกับ สถานีรถไฟกรุงเทพ หรือ “หัวลำโพง” ?
การพัฒนาบ้านเมืองในสมัยรัชกาลที่ 5 (พ.ศ. 2411-2453) คือก้าวกระโดดครั้งใหญ่ของสังคมสยามที่ต้องไหลเคลื่อนตามกระแสโลกให้ทัน การสื่อสารเดินทางที่มีความรวดเร็วเป็นเครื่องมือต่อรองอย่างหนึ่งกับมหาอำนาจภายนอกโดยใช้วิทยาการใหม่ ๆ ที่เข้ามาพร้อมกับชาวต่างชาติ โดยเฉพาะชาติตะวันตก
กิจการรถไฟที่เกิดขึ้นในยุคนั้นก็เป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งที่ชนชั้นนำสยามเลือกใช้สำหรับการนำพาเอารัฐชาติไปสู่ความเจริญ เพื่อรอดพ้นจากอาณานิคม และดึงดูดทรัพยากรจากส่วนภูมิภาคเข้ามายังพระนคร ขณะเดียวกันก็ได้กระจายเอาอำนาจการปกครองจากศูนย์กลางออกไปยังหัวเมืองห่างไกล ด้วยการสร้างจุดเริ่มต้นของทางรถไฟสยามบริเวณฝั่งพระนคร (ทางรถไฟสายเหนือและอีสานอยู่ฝั่งพระนคร ส่วนสายใต้แรกเริ่มอยู่ฝั่งธนบุรี) เพื่อความสะดวกในการขนถ่ายผู้คนและสินค้าสู่วงจรธุรกิจได้อย่างรวดเร็ว
“ผังเมือง” กรุงรัตนโกสินทร์ สมัยแรกสร้าง
ชุมชนสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาทางใต้ของกรุงศรีอยุธยาหรือบางกอก ในเวลาต่อมาสถาปนาเป็น กรุงธนบุรี โดยมีศูนย์กลางอยู่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำบริเวณป้อมวิไชยประสิทธิ์ และเมื่อถึง พ.ศ. 2325 รัชกาลที่ 1 ทรงย้ายศูนย์กลางทั้งหมดมารวมไว้ยังฝั่งตะวันออกเพียงจุดเดียว แล้วสร้างกำแพงเมืองใหม่ล้อมรอบเป็น กรุงรัตนโกสินทร์
“ผังเมือง” ของพระนครยุคแรก จึงจำกัดอยู่เพียงเฉพาะในตัวเมือง (และชุมชนทางฝั่งธนบุรีแต่เดิม) โดยมีพระบรมมหาราชวังที่ติดชิดแม่น้ำเป็นหลัก ส่วนทางซีกตะวันออกไปนั้นคือส่วนของเมืองที่สร้างขึ้นใหม่ เช่น บริเวณใจกลางเมืองแถบวัดสุทัศนเทพวราราม โบสถ์พราหมณ์ มีถนนตัดเป็นตารางวางตามแนวรีและแนวขวาง และคลองคูเล็ก ๆ ที่ใช้สัญจรในเมือง เช่น คลองหลอดทั้ง 2 สายที่เชื่อมคูเมืองเดิมกับคูเมืองใหม่เข้าด้วยกัน
พอพ้นกำแพงพระนครออกไปแล้วเป็นที่ราบลุ่มต่ำและทุ่งกว้างไกลทางตะวันออก ทางตอนใต้นอกพระนครตามลำน้ำเจ้าพระยาไปเป็นชุมชนชาวจีน ซึ่งถูกโยกย้ายจากบริเวณเดิมไปตั้งกันที่ย่านสำเพ็ง ต่อเนื่องด้วยตลาดน้อยแถบวัดปทุมคงคาราม ถือเป็นจุดที่ตัวเมืองเบาบางลง
ในสมัยรัชกาลที่ 4 ประชากรคงเพิ่มขึ้นมาก ทำให้ตัวเมืองขยายออกไปทางเหนือ ตะวันออก และ ตะวันออกเฉียงใต้ตามแนวแม่น้ำ จึงได้มีการกำหนดขอบเขตพระนครกันใหม่ โดยขุดคลองผดุงกรุงเกษมเป็นแนวคูเมืองชั้นนอกโอบล้อมพระนครเดิมไกลออกไป ชานเมืองสมัยแรกเริ่มได้กลายมาเป็นที่พื้นที่เมือง และในสมัยนี้ตัวเมืองได้มาบรรจบกับทุ่งกว้างทางตะวันออกอันมีชื่อเรียก เช่น ทุ่งพญาไท ทุ่งวัวลำพอง มีแนวคลองที่ขุดในสมัยรัชกาลที่ 3 – รัชกาลที่ 4 ตัดตรงออกไปจากพระนคร เช่น คลองมหานาค คลองถนนตรง ซึ่งปรากฏชุมชนเล็ก ๆ ขึ้นตามแนวคลองนี้
น่าสังเกตว่าสมัยต้นรัชกาลที่ 5 มีแผนสร้าง “วังใหม่” ให้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้าวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร แสดงถึงแนวคิดที่จะขยายเมืองออกไปทางตะวันออกตั้งแต่ระยะนั้นด้วย ข้อมูลเหล่านี้เห็นได้จากแผนที่กรุงเทพฯ ที่จัดทำขึ้นในช่วงราวทศวรรษ 2430 (กลางสมัยรัชกาลที่ 5) ซึ่งแสดงอาณาเขตของตัวเมืองที่ขยายออกไปเต็มที่อยู่บริเวณ สถานีรถไฟกรุงเทพ หรือชานทุ่งวัวลำพองนี้ด้วย
สรุปได้ว่า ผังเมืองกรุงรัตนโกสินทร์ในช่วงราว 100 ปีแรกนั้น เกิดจากใจกลางบริเวณบางกอกหรือกรุงธนบุรีเดิม ก่อนจะค่อย ๆ ขยายตัวไปทางตะวันออกและทางเหนือ โดยในยุคนั้นจุดเชื่อมตัวระหว่างชานเมืองและในเมืองคือแนวคูเมืองและลำคลองต่าง ๆ
การสถาปนากิจการรถไฟและการสร้างสถานีกรุงเทพ
นับเอา พ.ศ. 2439 เป็นปีที่ราชสำนักกรุงเทพฯ ได้ริเริ่มกิจการรถไฟอย่างเป็นทางการ เพื่อพัฒนาบ้านเมืองและเชื่อมโยงเอาเครือข่ายจากพื้นที่ต่าง ๆ ของราชอาณาจักรเข้าสู่ศูนย์กลาง
เมื่อครั้งแรกเริ่มนั้น รถไฟสายแรกของสยามคือสายกรุงเทพฯ-นครราชสีมา กำหนดให้มีแนวขึ้นไปยังทิศเหนือ โดยได้วางจุดเริ่มต้นของทางรถไฟไว้ริมคลองผดุงกรุงเกษมฝั่งนอกทางทิศตะวันออกของพระนคร ที่ขยายตัวไปในสมัยรัชกาลที่ 4
แต่เดิม ตัวสถานีกรุงเทพได้ตั้งอยู่ ณ จุดที่มีพิธีเปิดการก่อสร้างทางรถไฟหลวงริมคลองผดุงกรุงเกษมบริเวณใกล้วัดเทพศิรินทร์ ตรงกับตึกบัญชาการการรถไฟฯ ในปัจจุบัน
หมายความว่า ตัวสถานีหันหน้าลงสู่คลองอันเป็นทางคมนาคมหลักในสมัยนั้น รับกับแนวเส้นตรงออกมาจากพระนครทางทิศตะวันตก แต่เมื่อราว พ.ศ. 2449 การรถไฟหลวงเห็นว่า สถานที่เดิมคับแคบและไม่สะดวกในการเชื่อมต่อคมนาคม จึงมีโครงการย้ายไปตั้งสถานีลงมาจากเดิมประมาณ 500 เมตร ใกล้จุดตั้งต้นของทางรถไฟสายปากน้ำ ที่เลียบคลองถนนตรงมายังคลองผดุงกรุงเกษม คือ สถานีหัวลำโพง
การก่อสร้างสถานีใหม่เริ่มขึ้นใน พ.ศ. 2453 สถานีกรุงเทพสร้างแล้วเสร็จเปิดใช้งานในวันที่ 25 มิถุนายน 2459 โดยออกแบบให้มีด้านหน้าสถานีวางยาวขนานกับคลองผดุงกรุงเกษมโดยเน้นให้ทางเข้าด้านหน้าอวดโครงสร้างสถาปัตยกรรมขนาดใหญ่ออกสู่ลานโล่งดังที่ยังเห็นในปัจจุบัน
ที่ตั้งของสถานีกรุงเทพนี้ มีองค์ประกอบสำคัญ ได้แก่
1. เป็นชานพระนครในสมัยนั้นประกอบด้วยทุ่งโล่งที่เรียกกันว่า “ทุ่งวัวลำพอง” (ซึ่งสันนิษฐานกันว่าเป็นต้นชื่อเรียกสถานีกรุงเทพว่า “หัวลำโพง”) ไม่มีชุมชนหนาแน่นกีดขวางโครงสร้างขนาดใหญ่ บ้างก็กล่าวว่าชื่อ “หัวลำโพง” เป็นชื่อเรียกดั้งเดิม เพราะตัวอาหารสถานีแลดูคล้ายดอกลำโพงขนาดใหญ่ แต่ชาวต่างชาติเรียกเพี้ยนไปในภายหลังเป็น “วัวลำพอง” ซึ่งเรื่องเกี่ยวกับภูมินามของย่านสถานีกรุงเทพนี้ควรจะได้ศึกษากันต่อไป
2. เส้นทางคมนาคมเชื่อต่อกับภายในพระนครคือ คลองผดุงกรุงเกษม คลองมหานาค และออกยังแม่น้ำเจ้าพระยาได้ทางตอนใต้ อีกทั้งยังมีคลองถนนตรง (คือแนวถนนพระราม 4 ในปัจจุบัน) ที่สามารถเดินทางไปยังปากน้ำอันเป็นเมืองท่าสู่ต่างประเทศได้โดยง่าย และตามแนวคลองถนนตรงนี้ได้สัมปทานเดินรถไฟสายปากน้ำอยู่ ทำให้เป็นจุดเชื่อมต่อการเดินทางที่สำคัญระหว่างในเมืองกับนอกเมือง
3. บริเวณที่ตั้งของสถานีกรุงเทพเป็นจุดสิ้นสุดของชุมชนหนาแน่นที่ยาวจากชานพระนครสมัยแรกเริ่มตามแม่น้ำเจ้าพระยา นั่นคือสำเพ็งและตลาดน้อย หากพิจารณาจากหลักฐานที่เป็นแผนที่ในช่วงทศวรรษ 2430 แล้วจะพบว่า มีแนวถนนที่ตัดแยกจากถนนเจริญกรุง ซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 ตัดเลียบมายังบริเวณที่ตั้งสถานีกรุงเทพ ซึ่งทำให้เป็นการเปิดการคมนาคมทางถนนสมัยใหม่เชื่อมต่อกับทางรถไฟนอกเหนือจากลำคลองด้วย (ปัจจุบันคือส่วนต้นของถนนพระราม 4 ตั้งแต่แยกหมอมี)
การสร้างสถานีรถไฟบริเวณนี้ คือการเลือกทำเลใกล้ย่านธุรกิจที่เติบโตอย่างมากของพระนครในสมัยนั้น ซึ่งมีผลต่อความรวดเร็วและสะดวกในการเดินทางขนถ่ายผู้คนและสินค้า
จึงเห็นได้ว่า ที่ตั้งของสถานีกรุงเทพได้รับการออกแบบให้อยู่ในบริเวณชิดติดขอบชานเมืองกรุงเทพฯ ในสมัยนั้น โดยมีการเชื่อมต่อเข้าสู่พระนครกับการคมนาคมอื่น ๆ เช่นทางแม่น้ำลำคลองแลถนนที่เริ่มมีขึ้นได้อย่างสะดวกสบาย
ที่สำคัญคือ สถานีรถไฟกรุงเทพ ได้กลายเป็นจุดศูนย์รวมนานาทรัพยากรจากภูมิภาคต่าง ๆ ทางใกล้และไกล ขณะเดียวกันก็กระจายอำนาจการปกครองของสยามจากเมืองหลวงออกไปยังหัวเมืองต่าง ๆ และกิจการรถไฟนี้มีส่วนผลักดันให้เกิดความเจริญทั้งในพระนครและนอกพระนครอย่างรวดเร็ว นับตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 – รัชกาลที่ 6 เป็นต้นมา
อ่านเพิ่มเติม :
- การสร้าง “หลักชัย แกนเมือง” ตามตำราพิไชยสงคราม ในรัชกาลที่ 1
- แรกมี “การวางผังเมือง” แบบสากลเกิดขึ้นในประเทศไทย
หมายเหตุ : คัดเนื้อหาจาก “สถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) กับผังเมืองกรุงรัตนโกสินทร์และมิวเซียมที่มีชีวิตของมหานครกรุงเทพ” เขียนโดย รศ.ดร. ประภัสสร์ ชูวิเชียร ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับกุมภาพันธ์ 2565 [จัดย่อหน้าใหม่และเน้นคำเพิ่มเติมโดยกองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม]
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 19 มกราคม 2566