แรกมี “การวางผังเมือง” แบบสากลเกิดขึ้นในประเทศไทย

ภาพมุมสูงแสดงผังเมืองบางส่วนของกรุงเทพฯ (ภาพจาก ห้องสมุดภาพมติชน)

พ.ศ. 2471 กระทรวงยุติธรรมขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต จากรัชกาลที่ 7 ก่อสร้างโรงเรียนสอนกฎหมายบริเวณศาลหลักเมือง ทรงมีพระราชวินิจฉัยว่า ตำแหน่งที่ตั้งของโรงเรียนนั้นน่าจะมีความเกี่ยวข้องและมีผลกระทบต่อพระนครในภาพรวม จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งคณะกรรมการ และจัดทำโครงการแผนผังพระนคร พ.ศ. 2471 เพื่อศึกษาเรื่องดังกล่าว

นับถือเป็นจุดเริ่มต้นของการวางผังเมืองแบบสากลเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของประเทศไทย

คณะกรรมการดังกล่าวประกอบด้วย 1. พระยาสุรินทราชา อธิบดีกรมนคราทร (เป็นประธาน) 2. หม่อมเจ้าอิทธิเทพสรรค์ กฤดากร ผู้อำนวยการศิลปากรสถานราชบัณฑิตสภา 3. พระยาสารศาสตร์ศิริลักษณ์ ผู้บัญชาการกรมรถไฟหลวง 4. นายแพทย์ เย.อาร์. เรดฟิลด์ จเรสาธารณสุข กรมสาธารณสุข 5. นาย วี.โบนา ผู้แทนนายช่างนคราทร กรมนคราทร 6. นายชาลส์ เบเกแลง นายช่างสถาปนิก กรมสาธารณสุข 7. หลวงสาโรจน์รัตนนิมมานก์ นายช่างสถาปนิก กระทรวงธรรมการ

คณะกรรมการชุดนี้ถือเป็น “คณะกรรมการผังเมืองชุดแรกของสยาม”

คณะกรรมการมีการประชุมหารือกันอย่างต่อเนื่องถึง 3 ครั้ง ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2471 หลังการประชุมครั้งที่ 3 พระยาสุรินทราชา ประธานกรรมการ ยับยั้งการประชุมเพื่อจัดทำแผนผังพระนคร เพราะประสบปัญหาสำคัญหลายประการ เช่น ขาดแคลนข้อมูลจำเป็นในการวางผังเมือง, ขาดแคลนเทคนิคในการคาดการณ์ทางด้านต่างๆ ในอนาคต, ขาดแคลนบุคลากรที่มีความรู้ในการวางผังเมือง

จึงได้ทำหนังสือระบุถึงปัญหาดังกล่าว รวมทั้งเรื่องการก่อสร้างโรงเรียนกฎหมายกราบทูลขอพระราชพระราชวินิจฉัยว่าควรจะดำเนินการอย่างไรต่อไป รัชกาลที่ 7 ทรงมีพระราชวินิจฉัยให้สร้างโรงเรียนกฎหมายไปก่อน แต่สามารถรื้อถอนได้หากในอนาคตกีดขวางต่อการวางผังเมือง

หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 การผังเมืองมีการขยายไปในส่วนภูมิภาค เช่น การพัฒนาเมืองลพบุรีให้เป็นเมืองทางหารทหาร, การวางผังเมืองในระดับเทศบาลที่ยะลา โดยการดำเนินการผังเมืองในยุคนี้มีอาศัยการตรากฎหมายเฉพาะกรณี เช่น พระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างอาคารดำเนินการตามแผนผังเมือง ณ บริเวณถนนราชดำเนินจังหวัดพระนคร พ.ศ. 2482, พระราชกำหนดจัดสร้างนครหลวง พ.ศ. 2485

พ.ศ. 2495 จึงมีการประกาศใช้ “พระราชบัญญัติการผังเมืองและผังชนบท พ.ศ. 2495” ที่เป็น “กฎหมายผังเมืองฉบับแรกของไทย” ที่จัดทำขึ้นโดยอาศัยต้นแบบจาก Town and Country Act ของประเทศอังกฤษ ทว่ากฎหมายผังเมืองฉบับแรกของประเทศนี้ ในทางปฏิบัติมีการใช้งานจริงเพียงครั้งเดียว คือเมื่อเกิดเพลิงไหม้ จังหวัดสุรินทร์ พ.ศ. 2497

พ.ศ. 2500 รัฐบาลไทยทำสัญญากับบริษัทลิชฟิลด์ (Litchfield Whiting Bowne & Associates) ในการดำนินโครงการ “ผังนครหลวง 2533” (Greater Bangkok Plan 2533) ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการจัดทำผังพระนครเป็นเวลา 30 ปี (พ.ศ. 2503-2533) โดยมีการจัดทำโครงการก่อสร้างต่างๆ ระหว่าง พ.ศ. 2501-2506 เช่น การพัฒนาโครงสร้างถนนและส่วนต่อขยายในพื้นที่กรุงเทพฯ, โครงการก่อสร้างทางหลวงเส้นทางกรุงเทพฯ-สระบุรี, การย้ายโรงฆ่าสัตว์ โรงฟอกหนัง และอุตสาหกรรมหนักภายในชุมชนเมือง ฯลฯ  แต่โครงการผังนครหลวง 2533 ก็ต้องทำในกรอบของพระราชบัญญัติการผังเมืองและผังชนบท พ.ศ. 2495  ซึ่งเป็นกฎหมายบังคับในเวลานั้น ที่ไม่มีความยืดหยุ่น

พ.ศ. 2502 กระทรวงมหาดไทยตั้งคณะกรรมชำระพระราชบัญญัติการผังเมืองและผังชนบท พ.ศ. 2495  เพื่อปรับปรุงกฎหมายผังเมือง และมีการยกร่างกฎหมายจนเรียบร้อย เป็นร่างพระราชบัญญัติการผังเมืองใน พ.ศ. 2509 รัฐบาลได้เสนอร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวต่อสภานิติบัญญัติใน พ.ศ. 2510 แต่เนื่องด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับที่ใช้อยู่ในขณะนั้นมิได้มีบทบัญญัติให้เวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อประโยชน์แก่การผังเมืองได้ จึงขอถอนร่างพระราชบัญญัติคืนไปดำเนินการแก้ไข ก่อนเสนอใหม่เพื่อขอเห็นชอบของสภานิติบัญญัติแห่งชาติและตราเป็น “พระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2518”

การดำเนินการตามพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2518 ด้วยการประกาศกฎกระทรวงบังคับใช้ “ผังเมืองรวม” กฎหมายผังเมืองก่อให้เกิดรูปธรรมในงานผังเมืองมากขึ้น มีการประกาศใช้ผังเมืองรวมที่ระยองเป็นที่แรก ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 5 พ.ศ. 2526 จากนั้นจึงมีผังเมืองรวมเกิดขึ้นตามมาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการจัดทำ “ผังเมืองเฉพาะ” ตามกฏหมายดังกล่าว คือผังเมืองเฉพาะชุมชนเมืองใหม่แหลมฉบัง และผังเมืองเฉพาะชุมชนเมืองใหม่มาบตาพุด

ต่อมาเมื่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 และพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 กรมโยธาธิการและผังเมืองจึงถ่ายโอนภารกิจดำเนินการและจัดทำผังเมือรวมเองให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

 


ข้อมูลจาก :

พนิต ภู่จินดา, เปี่ยมสุข สนิท. แผนผังพระนคร 2471 , สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, พิมพ์ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2563

ปานปั้น รองหานาม.  “วิวัฒนาการการผังเมืองของไทย” ใน, วารสารหน้าจั่ว ฉบับที่ 12 ปี 2558, คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

ธงชัย โรจนกนันท์. “วิเคราะห์และวิพากษ์พระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2518” ใน, วารสารรามคำแหง ฉบับนิติศาสตร์ (ปีที่4 ฉบับที่ 1), คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

นพนันท์ ตาปนานนท์. “การผังเมืองของประเทศไทย : ปัญหาและการแก้ไข” ใน, เว็บไซต์สมาคมสถาปนิกผังเมืองไทย


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 7 กรกฎาคม 2564