การสร้าง “หลักชัย แกนเมือง” ตามตำราพิไชยสงคราม ในรัชกาลที่ 1

แผนผัง หลักมือง กรุงเทพ สร้างตาม ตำราพิชัยสงคราม
แสดงการตั้งทัพในลักษณะ นาคนาม แบบ ฤกษ์นาคร ที่สอดคล้องกับ การกำหนดที่ตั้งของพระราชวังต่างๆ รวมถึงตำแหน่งหลักเมืองที่ หัวนาค (ภาพจาก “ตำราพิไชยสงครามของกรมศิลปากร”)

การสร้าง “หลักชัย แกนเมือง” ตาม “ตำราพิไชยสงคราม” ในรัชกาลที่ 1

หลักเมืองกรุงรัตนโกสินทร์ คือสัญลักษณ์แห่งการตั้งเมืองใหม่ โดยมีนัยยะเพื่อให้เมืองมีความมั่นคง มีชัยและรุ่งเรืองสืบต่อไป การตั้งหลักเมืองของกรุงรัตนโกสินทร์ จึงเป็นการ “ตั้งเสาหลักของเมือง” ณ บริเวณที่มีชื่อเดิมว่า “บางกอก” “ธนบุรีศรีมหาสมุทร” และ “กรุงธนบุรี” ตามลำดับ โดยมีการตั้งหลักเมืองอย่างเป็นรูปธรรมในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์

การใช้ตำราพิไชยสงครามในการประกอบการย้ายเมืองหลวง และพิจารณาเพื่อหาพิกัดองค์ประกอบของศูนย์กลางเมือง และให้ตั้งเสาหลักของเมืองนี้ พระราชประสงค์ของรัชกาลที่ 1 ได้ให้มีการย้ายศูนย์กลางเมืองจากฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาไปฝั่งตะวันออก และโปรดให้มีการตั้งหลักเมืองใหม่ด้วยนั้น เป็นการตั้งหลักเมืองตาม ตำราพิไชยสงคราม

ทั้งนี้เนื่องจากรัชกาลที่ 1 ทรงปฏิบัติพระราชภารกิจด้านความมั่นคงมาตั้งแต่ครั้งกรุงเก่า และมีตำแหน่งเป็น “แม่ทัพ” เมื่อครั้งสมัยกรุงธนบุรี ทำให้ทรงเชี่ยวชาญการศึก และเข้าใจตำราพิไชยสงคราม การตั้งหลักเมืองของกรุงรัตนโกสินทร์ จึงมีการอ้างอิงการตั้งทัพหรือแต่งทัพ ที่สอดคล้องกับภูมิประเทศและสภาพแวดล้อม โดยพิจารณาลักษณะของการตั้งทัพตามตำราของนามทั้งแปด คือ

ครุฑนาม คือ สถานที่อันภูมิประเทศมีภูเขาจอมปลวก ต้นไม้ 1 ต้นสูงใหญ่
พยัคฆนาม คือ ตั้งทัพอยู่ริมทางแนวป่า
สิงหนาม จะต้องมีต้นไม้ใหญ่ 3 ต้นเรียงกัน มีภูเขาและจอมปลวกใหญ่มาก
สุนัขนาม คือ ตั้งกองทัพใกล้หมู่บ้านหรือหนทางโบราณเรียงรายไปตามทาง
นาคนาม กองทัพจะต้องตั้งอยู่ใกล้แม่น้ำ ห้วยน้ำไหล
มุสิกนาม คือ ดินมีโพรงปลวก อันเป็นรูคล้ายกับหนูอยู่
อัชนาม ตั้งอยู่กลางทุ่ง เหมือนฝูงเนื้ออยู่
คชนาม คือ ภูมิประเทศมีป่าไม้ มีหนามและหญ้า อันเป็นอาหารของช้าง

การตั้ง หลักชัย แกนเมือง หลักเมือง ตำราพิไชยสงคราม
แสดงการตั้งทัพในลักษณะ นาคนาม แบบ ฤกษ์นาคร ที่สอดคล้องกับ การกำหนดที่ตั้งของพระราชวังต่างๆ รวมถึงตำแหน่งหลักเมืองที่ หัวนาค ตาม ตำราพิไชยสงคราม (ภาพจาก “ตำราพิไชยสงครามของกรมศิลปากร”)

ด้วยรัชกาลที่ 1 เข้าพระราชหฤทัยชัยภูมิของ “บางกอก” ที่มีลักษณะตรงกับการตั้งทัพตามคติ “นาคนาม” กล่าวคือ เป็นบริเวณที่มีแม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่าน ดังนั้น ในการเลือกที่ตั้งศูนย์กลางของเมือง และการตั้ง “หลักเมือง” พระองค์จึงทรงเล็งเห็นประเด็นของ “ชัยภูมิ” เป็นลำดับแรก จากนั้นจึงดูฤกษ์ยาม วัน และเดือน ที่เหมาะสมตามคติ “โหราศาสตร์” ในการลงหลักเมืองตามมาเป็นลำดับ

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : เนื้อหานี้คัดบางส่วนจากบทความ “การสร้าง “หลักชัย แกนเมือง” เมื่อแรกสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์อินท์อโยธยา” โดย สวรรค์ ตั้งตรงสิทธิกุล ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับเมษายน 2558


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2560