การเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำลพบุรี ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์

ลพบุรี แม่น้ำลพบุรี ผังเมือง หมู่ตึกพระคลังศุภรัตน์ พระนารายณ์ราชนิเวศน์
หมู่ตึกพระคลังศุภรัตน์ ในพระนารายณ์ราชนิเวศน์ (ภาพโดย Heinrich Damm, via Wikimedia Commons)

“คลองบางพุทรา” ที่เชื่อมต่อกับ แม่น้ำเจ้าพระยา ที่สิงห์บุรี กลายมาเป็น “แม่น้ำลพบุรี” การเปลี่ยนแปลงในสมัย สมเด็จพระนารายณ์

ในสมัยอยุธยาตอนปลาย คือราวรัชกาล สมเด็จพระนารายณ์ มีการฟื้นฟูเมืองละโว้ให้เป็นเมืองประทับร้อนในนามของเมืองลพบุรี ได้เกิดการขยายตัวของการสร้างถิ่นฐานบ้านเมืองขึ้นตาม 2 ฝั่งแม่น้ำลพบุรีและตามแพรกน้ำและหนองบึงแต่เขตอำเภอวุ้งลงมายังเขตอำเภอมหาราช จังหวัดพระนครศรีอยุธยา อันเป็นท้องทุ่งกว้างที่อยู่ระหว่างแม่น้ำใหญ่ คือแม่น้ำเจ้าพระยาซีกตะวันตก และแม่น้ำลพบุรีทางซักตะวันออก มีการขุดคลองลัดและคลองเชื่อมระหว่างแม่น้ำและลำน้ำที่เป็นแพรกเพื่อการคมนาคมและการขยายตัวของแหล่งชุมชนที่อยู่อาศัย

เกิดการตั้งชื่อหมู่บ้านนามเมือง และสถานที่ทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์มากมาย โดยเฉพาะบรรดาชื่อบ้าน ชื่อสถานที่ ภูเขา และลำน้ำที่เป็นตำนานมาจากวรรณคดีเรื่องรามเกียรติ์ เช่น เมืองละโว้ กลายเป็นเมืองลพบุรี เมืองปรันตปะ กลายเป็นเมืองขีดขิน ทะเลชุบศร ทุ่งพรหมมาสตร์ เขาสมอคอน เขาสรรพยา เป็นต้น

แผนผัง เมือง ลพบุรี สมัย สมเด็จพระนารายณ์
แผนผังเมืองลพบุรีที่วิศวกรฝรั่งเศสเขียนขึ้นในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

เมืองลพบุรีคือเมืองสำคัญในการแปรพระราชฐานจากกรุงศรีอยุธยาของ สมเด็จพระนารายณ์ โดยใช้แม่น้ำลพบุรีเป็นเส้นทางคมนาคมระหว่างกัน ซึ่งก็รวมทั้งการเดินทางติดต่อไปยังบ้านเมืองในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาทางเหนือจนถึงนครสวรรค์ โดยการขุดคลองบางพุทรา จากเมืองลพบุรี ผ่านที่ราบลุ่มน้ำท่วมไปบรรจบกับแม่น้ำเจ้าพระยาในเขตจังหวัดสิงห์บุรี ที่มีเมืองสำคัญ ๆ เช่น พรหมบุรี สิงห์บุรี และอินทร์บุรี

การขุดคลองบางพุทรานี้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางน้ำในลุ่มแม่น้ำลพบุรีตอนบนในเขตอำเภอท่าวุ้งไปถึงอำเภอบ้านหมี่ อำเภอโคกสำโรง และอำเภอตาคลี ที่แต่ก่อนมีลำน้ำบางขามไหลผ่านมายังเมืองลพบุรี ก่อนที่จะกลายเป็น แม่น้ำลพบุรี ไหลลงไปยังอำเภอบ้านแพรก อำเภอมหาราช เข้าสู่อยุธยา

นั่นคือคลองบางพุทราที่เชื่อมต่อกับแม่น้ำเจ้าพระยาที่สิงห์บุรีได้กลายมาเป็น แม่น้ำลพบุรี เพราะได้รับกระแสน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาและบรรดามวลน้ำที่มาจากหลาย ๆ แห่งในท้องทุ่งมารวมเป็นลำน้ำใหญ่

คลองบางพุทราที่กลายมาเป็นแม่น้ำนี้ นอกจากเป็นเส้นทางคมนาคมระหว่างเมืองลพบุรีกับเมืองทางเหนือน้ำในเขตนครสวรรค์แล้ว ยังได้กลายเป็นเส้นทางระบายน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยามายังที่ราบลุ่มแม่น้ำลพบุรีทางตะวันออก ก่อนที่จะไหลลงไปยังเมืองพระนครศรีอยุธยา

ในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งมีการสร้างถนนหนทางบกแล้ว ลำน้ำลพบุรี (คลองบางพุทรา) ก็ยังคงเป็นเส้นทางคมนาคมที่มีการใช้เรือเมล์ขึ้นล่องขนส่งคนและสินค้าระหว่างอยุธยา ลพบุรี สิงห์บุรี และชัยนาท ในวรรณคดีเรื่องขุนช้างขุนแผนที่คงแต่งเรื่องราวรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้กล่าวถึงการนำตัวขุนแผนจากเมืองสังคโลก (สวรรคโลก) จากแม่น้ำยมมายังนครสวรรค์ แล้วล่องตามแม่น้ำเจ้าพระยามายังเมืองสิงห์บุรีแยกเข้าลำน้ำลพบุรี (คลองบางพุทรา) เพื่อเดินทางลงไปรับโทษที่พระนครศรีอยุธยา

เรื่องนี้ทำให้ต้องคิดค้นต่อไปถึงเส้นทางคมนาคมจากลำน้ำลพบุรีไปติดต่อกับบ้านเมืองทางเหนือก่อนที่จะมีการขุดคลองบางพุทรา และการใช้ลำน้ำบางขามหรือลำน้ำลพบุรีดั้งเดิมว่ามีการติดต่อกันอย่างใด ในสมัยใด และยุคไหน

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาจาก ‘การเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำลพบุรี ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์’ ในหนังสือ “สร้างบ้านแปงเมือง” เขียนโดย ศรีศักร วัลลิโภดม (มติชน, 2560) [จัดย่อหน้าใหม่และเน้นคำเพิ่มเติมโดยกองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม]


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 มกราคม 2566